• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 กันยายน 2565

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรในโครงการพัฒนาเกลือทะเลครบวงจรและยกระดับมาตรฐานเกลือทะเลไทยให้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP

สำหรับการทำนาเกลือทะเลในปีนี้ มีเกษตรกรได้รับการรับรองแล้วถึง 11 ราย พื้นที่กว่า 800 ไร่ พร้อมยังร่วมผลักดันให้มีการควบคุมการนำเข้าเกลือทะเล โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้เกลือเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรและประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า ซึ่งเป็นการป้องกันเกลือล้นตลาดทำให้เกลือในประเทศราคาตกต่ำ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย และเตรียมดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเกลือทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล สร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกลือทะเลไทย

โดยหาแนวทางการส่งออกเกลือทะเลไปต่างประเทศเพื่อใช้งานด้านต่างๆ เช่น เกลือสำหรับละลายหิมะบนถนนหรือรันเวย์สนามบิน เป็นต้น พร้อมส่งเสริมการยกระดับนาเกลือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนของชุมชน จึงได้มีการส่งเสริมและพัฒนานาเกลือทะเลให้เป็นมรดกทางการเกษตรโลก โดยส่งบุคลากรเข้าอบรมออนไลน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบมรดกทางการเกษตรของโลก ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นแนวทางในการขึ้นทะเบียนระบบมรดกทางการเกษตรของโลกในประเทศไทยต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 กันยายน 2565

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ล่าสุดวานนี้ (20 กันยายน 2565) จากการได้รับรายงานมีการลักลอบนำเข้าซากสัตว์มาเก็บที่ห้องเย็นนครปฐม จึงได้สั่งการด่วนให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการการพิเศษพญาไท ร่วมกับกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการสอบสวนกลาง ได้ประสานกำลังร่วมตรวจสอบการลักลอบขนส่งเนื้อสุกรเถื่อนมาที่ห้องเย็นของจังหวัดนครปฐม จำนวน 2 แห่ง ผลการตรวจสอบคือห้องเย็นแห่งที่หนึ่ง พบว่าห้องเย็นดังกล่าวเป็นสถานที่ใช้ในการเก็บรักษาสินค้าบริษัท ไม่ได้เปิดให้บริการรับฝากแช่ สินค้า จึงได้ขอตรวจสอบเอกสารใบเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ ใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งซากสัตว์ ผลตรวจสอบ พบมีใบอนุญาตทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งซากสัตว์ และจากการตรวจสอบห้องเย็นพบสามชั้นสุกรแช่แข็ง จำนวน 500 กก. ไม่สามารถนำใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด มาแสดงได้ และได้ตรวจสอบห้องเย็นแห่งที่ 2 พบมีตู้คอนเทนเนอร์ทำความเย็น จำนวน 2 ตู้ ในตู้คอนเทนเนอร์พบมีซากสัตว์ น้ำหนักรวมจำนวน 804 กิโลกรัม พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ขอตรวจสอบเอกสารใบเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ ใบอนุญาตทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งซากสัตว์ ผลการตรวจสอบพบว่า ไม่สามารถนำใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด และใบอนุญาตทำการค้าหรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งซากสัตว์ มาแสดงให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ จึงได้ทำการอายัดสินค้าไว้ทั้งหมด

จากห้องเย็นทั้งสองแห่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ได้อายัดสามชั้นสุกรแช่แข็งไว้ทั้งสิ้นรวม 1,304 กิโลกรัม และได้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเอกสารมาแสดงภายใน 15 วัน หากไม่สามารถนำมาแสดงภายในกำหนด จะร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมายต่อไป โดยการกระทำผิดดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 กันยายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้ายุทธศาสตร์การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย 6 ด้าน เพื่อเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยสำเร็จ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงยุทธศาสตร์การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อเนื่อง เพื่อบรรลุสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emission) ในปี 2608 ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึง การเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ หากทุกประเทศทำได้ จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกช่วงสิ้นศตวรรษที่ 21 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ขณะที่แนวทางการผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจก 6 ด้านของกระทรวงทรัพย์ฯ ประกอบด้วย ด้านนโยบาย การบูรณาการด้านยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติสู่เป้าหมาย Net Zero // ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี // ด้านการลงทุน ร่วมกับ BOI สนับสนุนการลงทุนสีเขียวมากขึ้น // ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกในประเทศไทยวันพรุ่งนี้ (21 ก.ย. 65) เพื่อตอกประเทศไทยเป็น 1 ในผู้นำการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ // ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมการปลูกป่า และสุดท้าย ด้านกฎหมาย อยู่ระหว่างการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ....


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 กันยายน 2565

กรมชลประทาน เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฝนตกช่วงนี้ ยืนยัน เขื่อนขนาดใหญ่และกลางยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 23,500 ล้านลบ.ม

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เเจ้งเตือนช่วงนี้มีร่องมรสุมพลาดผ่านจากทางภาคเหนือตอนล่าง ผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งแนวร่องมรสุมจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งนั้น กรมชลประทาน ได้เตรียมแผนบริหารจัดงานตาม 13 มาตรการของ กอนช. และ 10 มาตรการ อาทิ การพร่องน้ำ การติดตามสถานการณ์น้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำปัจจุบันทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันกว่า 52,500 ล้านลบ.ม หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีก 23,500 ล้าน ลบ.ม ขณะที่ปริมาณเก็บกักน้ำที่เขื่อนทางภาคเหนือขณะนี้มีอยู่ร้อยละ 63 ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 9,400 ล้าน ลบ.ม ถือว่าหากมีมรสุมพาดผ่านเข้ามา สามารถรองรับน้ำฝนได้/ส่วนสถานการณ์น้ำท่าที่ ลำน้ำสายหลัก ทั้งปิง วัง ยม น่าน มีเเนวโน้มสูงขึ้นที่แม่น้ำวัง และแม่น้ำชี-มูล

ขณะที่ สถานการณ์น้ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท้ายเขื่อนกว่า 22 จังหวัด ที่สถานีวัดน้ำ P17 อ.สรรพยา จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มสูงขึ้น ที่มีอัตราการระบายน้ำที่593 ลบ.ม/วินาที ส่วนที่สถานีวัดน้ำ N67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ที่มีอัตราการระบายน้ำที่1,118 ลบ.ม/วินาที มีแนวโน้มลดลง และที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,021 ลบ.ม/วินาที ยืนยันกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้วันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ 1,989 ลบ.ม/วินาที จึงส่งผลให้พื้นที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ได้รับผลกระทบดังกล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า หากมีการเปิดการระบายน้ำเพิ่มเติม จะเเจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนท้ายเขื่อน และหากพื้นที่การเกษตร ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบมีน้ำท่วมขัง สามารถเเจ้งได้ที่กรมชลประทานใกล้บ้านหรือโทร 1460 จะเร่งให้การช่วยเหลือทันที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 กันยายน 2565

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการประชุมเรื่องทิศทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อระดมความเห็นการจัดการช้างป่าของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมหาทางป้องกันแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การอนุรักษ์และจัดการช้างป่าของประเทศให้มีประสิทธิภาพไปในทางทิศทางเดียวกัน โดยที่ผ่านมากรมอุทยานฯไม่ได้นิ่งนอนใจปัญหาดังกล่าว ทั้งการทุ่มเทสรรพกำลัง ผู้เชี่ยวชาญผู้มีความรู้เรื่องการจัดการสัตว์ป่ามาดูแล และแก้ปัญหาเรื่องนี้ในทุกมิติอย่างเต็มที่

ปัจจุบันช้างป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168 – 3,483 ตัว อยู่ในพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 31 แห่ง , อุทยานแห่งชาติ 38 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง โดยมีพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าประมาณ 52,000 ตารางกิโลเมตร ภาพรวมพบกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่าอาศัยอยู่มากคือ กลุ่มป่าตะวันตก , กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ , กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว , กลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าตะวันออก ซึ่งมีแนวโน้มประชากรช้างป่าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากอดีต แต่ถือเป็นเรื่องที่ดีที่พบประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ปัญหาหลักของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าคือ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัยและปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 29 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 20 แห่ง ซึ่งการจัดการช้างป่าจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้แบบสหวิทยาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้การอนุรักษ์ การจัดการ และการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้เรื่องลักษณโครงสร้างและพฤติกรรมของช้างป่า การจัดการแหล่งที่อยู่อาศัย การจัดการแหล่งอาหารสัตว์ป่า การป้องกันให้ถิ่นอาศัยและช้างป่าได้รับการคุ้มครองและมีความปลอดภัย ลักษณะสภาพชุมชนและพื้นที่โดยรอบ และการจัดการช้างป่าแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 กันยายน 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดลำปางว่า ปัจจุบันเขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำในอ่างกว่า 158 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของความจุอ่างรวมกัน ยังคงมีแนวโน้มปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯอย่างต่อเนื่อง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้ปรับการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวัง ในเกณฑ์ 100-150 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่เกณฑ์ควบคุม ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังท้ายเขื่อนกิ่วคอหมา ยังคงสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำวังได้รับผลกระทบ ก่อนที่ปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขื่อนกิ่วลมในลำดับต่อไป ซึ่งด้านเขื่อนกิ่วลม ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างกว่า 62 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากต้องรองรับน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมาและระดับน้ำเหนือเขื่อนกิ่วลมเริ่มลดลง จึงได้ปรับลดการระบายน้ำลงในอัตรา 260 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังท้ายเขื่อนกิ่วลม มีแนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกในพื้นที่คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือและลดผลกระทบ ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 กันยายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำท่าถั่วจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ลดผลกระทบแก่ประชาชนให้น้อยที่สุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำท่าถั่ว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไขยานุชิต อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ว่าได้สั่งการให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยระบายน้ำออกทางคลองแนวขวางทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งจากการลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์วันนี้ (16ก.ย.65) กรมชลประทาน ได้สูบระบายน้ำในคลองประเวศฯ ออกทางสถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ ลงสู่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ก่อนจะสูบระบายออกทางแม่น้ำบางปะกง ผ่านทางสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมขัง ในเขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำท่าถั่วเพิ่มเติมอีก 8 เครื่องรวมของเดิมเป็น 16 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว สามารถสูบน้ำออกจากคลองประเวศฯได้วันละประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร หากในระยะนี้ฝนไม่ตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์น้ำที่เขตลาดกระบังก็จะคลี่คลาย 2-3 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า จากกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนทั่วทุกภูมิภาคมีฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่ 17-21 กันยายนนี้ ยืนยัน กรมชลประทานมีความพร้อม โดยได้กำชับให้เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ เข้าช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงให้มีการพร่องน้ำ ตัดยอดน้ำ ที่จะไหลเข้าสู่ชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ทั้งในส่วนของบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่บางประกง มีนาข้าวที่อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิตกว่า 2,000 ไร่ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 กันยายน 2565

กรมทรัพยากรน้ำ จัดงาน "Thai Water Expo 2022 (THW)" ครั้งที่ 6 หวังดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่จากทั่วโลกมาผสมผสานใช้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวบนเวทีงาน "Thai Water Expo 2022 (THW)" ครั้งที่ 6 หรือ "งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำและน้ำเสียงานเดียวในประเทศไทย" ภายใต้แนวคิดการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสานด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปพร้อมกัน ว่า ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุหลักที่ทั่วโลกให้ความตื่นตัวอย่างมาก เพราะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ที่ประเทศไทยต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การพัฒนาและบำรุงรักษาระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ การนำเอาหลัก 3R มาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งงานน้ำครั้งนี้จะช่วยให้ไทยก้าวสู่ความพร้อมการสร้างสังคมสะอาดและเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลัก SGDs ของสหประชาชาติ ที่เน้นให้มีน้ำใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำ และสุขาภิบาลสำหรับทุกคน ทั้งนี้ น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญของโลก หากประชากรโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะลดลง จึงต้องเร่งบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีต่อห่วงโซ่อาหารในอนาคต

สำหรับงาน "Thai Water Expo 2022 (THW)" ได้นำนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการน้ำและน้ำเสียจากทั่วโลกมาจัดแสดง แล้วมีพาวิลเลียนของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ที่เป็นผู้นำด้านน้ำมาจัดแสดงด้วย สิ่งสำคัญได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการจัดการน้ำดีและน้ำเสีย มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการดูแลทรัพยากรน้ำให้ทันสมัย ประชาชนที่สนใจสามารถมาร่วมชมงานได้ถึงวันพรุ่งนี้ (16 ก.ย.65) ณ ฮอลล์ 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.