• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

คพ. ขอให้ประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆช่วงต้นฤดูฝน อาจเกิดการปนเปื้อนสารต่างๆจากการชะล้างของน้ำฝนบนผิวดิน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 พฤษภาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ขอให้ประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆช่วงต้นฤดูฝน อาจเกิดการปนเปื้อนสารต่างๆจากการชะล้างของน้ำฝนบนผิวดิน โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี

นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ประเทศไทย เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยช่วงต้นฤดูฝนจะมีการชะล้างสิ่งปนเปื้อนต่างๆลงสู่แหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำเสียที่ตกค้างอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย น้ำชะจากพื้นที่เกษตร น้ำฝนที่ชะกองวัสดุสารเคมีและวัตถุอันตรายต่างๆ อาจทำให้คุณภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเป็นกรด - ด่าง และความขุ่นของน้ำอย่างรวดเร็วหลังฝนตก ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝนพบแหล่งน้ำจะอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น หรืออยู่ในเกณฑ์แหล่งน้ำประเภทที่ 4 สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนการใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภค-บริโภคต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดจากการชะล้างสิ่งปนเปื้อนช่วงต้นฤดูฝนส่งผลให้น้ำมีความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้นเกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาจะมีปัญหาแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเหงือกจนทำให้ปลาตายได้ครั้งละมากๆในระยะเวลาอันสั้น หรืออาการน็อคน้ำ (Fish kill) โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังควรเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำ เช่น เตรียมเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน เมื่อฝนหยุดตกควรเปิดเครื่องตีน้ำและควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หรืองดให้อาหารในวันที่ฝนตก เพื่อลดปริมาณของเสียบริเวณกระชัง

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวย้ำว่า คพ. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำช่วงฤดูฝน ด้วยการจัดเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ใช้ในการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือนให้อยู่ในที่ปลอดภัยและพ้นน้ำ ดูแลบ่อเก็บกักน้ำเสียหรือบ่อบำบัดน้ำเสียและสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ไม่ให้เกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม หากพบปัญหาน้ำเสียหรือสารเคมีรั่วไหลประชาชนสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินมายังกรมควบคุมมลพิษผ่านทางสายด่วน 1650


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.