• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 ตุลาคม 2565

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2565 กำลังปานกลางยังแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศเย็นและเพดานอากาศต่ำลง การระบายฝุ่นละอองลดลง ส่งผลให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดฝุ่น pm.2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ขนส่ง การเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีกว่า 6,000 แห่ง แต่มีความเสี่ยงที่เกิดฝุ่นในพื้นที่ กทม. มี 260 โรงงาน การเผาในที่โล่งในโซนตะวันออกของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กทม. ได้เตรียม 3 มาตรการ เพื่อรับมือฝุ่น pm 2.5 คือ มาตรการติดตาม โดย กทม. ได้เปิดศูนย์บัญชาการฝุ่น PM2.5 ที่สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เพื่อติดตามรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทุกวัน รวมถึงการวางแผนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5

มาตรการกำจัดตั้งแต่ต้นตอคือ การกำจัดตั้งแต่ขนส่ง โรงงาน การเกษตร และมาตรการป้องกัน เช่น การเตรียมพร้อมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงการให้ความรู้เด็กในโรงเรียน โดยมีโครงการชักธงในโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ฝึกอ่านข้อมูลคุณภาพอากาศ ค่าฝุ่นและชักธงตามสภาพอากาศ เขียว เหลือง แดง ทำให้เด็กเกิดความตระหนักรู้และฝึกอ่านข้อมูลและเข้าใจถึงต้นตอ อาจนำไปเผยแพร่ถึงครอบครัวและระยะยาวได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 ตุลาคม 2565

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,563 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง 67 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 520 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เริ่มทยอยลดลง กรมชลประทานทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,602 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,960 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 54 ลบ.ม./วินาที ส่วนแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำอยู่ที่อัตรา 241 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ที่เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 496 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งตามศักยภาพของแม่น้ำแต่ละช่วง โดยกรมชลประทานจะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยโดยด่วนไม่ต้องรอน้ำลด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 ต.ค.65) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ถึงวันนี้ (22 ต.ค.65) ใน จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล เนื่องจากภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ และตราด ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่เกิดอุทกภัยใน 34 จังหวัด คือ พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี นครปฐม นครนายก สุพรรณบุรี สระบุรี ขอนแก่น หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต สงขลา ชุมพร และตรัง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 67,753 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83

ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วม เยียวยา และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอน้ำลด เบื้องต้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยเพื่อออกช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย เช่น การกำจัดวัชพืช ขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำในแหล่งน้ำ การเร่งระบายน้ำ การเปิดทางน้ำ การผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เมื่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจผลกระทบและความเสียหายในด้านต่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

ด้าน กรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เร่งสำรวจความเสียหายของที่อยู่อาศัย อาคารสิ่งปลูกสร้าง ยุ้งข้าว โรงเรือน และสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยทันที โดยจัดตั้งคณะทำงานสำรวจความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยเข้าสำรวจประมาณราคาความเสียหาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 ตุลาคม 2565

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) ว่า กรุงเทพฯ ขณะนี้มีภาวะฝุ่นที่เพิ่มขึ้นมา แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต ซึ่งมีมาตรการดำเนินการเน้น 3 เรื่องที่เป็นแหล่งฝุ่นคือ รถยนต์รถบรรทุก โรงงาน ที่มีกว่า 6,000 แห่ง และการเผาชีวมวล โดยจะดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น

นอกจากนี้ จะเปิดศูนย์บัญชาการฝุ่น PM2.5 ที่สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทุกวัน และมีมาตรการให้ความรู้เด็กในโรงเรียน โดยมีโครงการชักธงในโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ฝึกอ่านข้อมูลคุณภาพอากาศ ค่าฝุ่น และชักธงตามสภาพอากาศ เขียว เหลือง แดง ทำให้เด็กเกิดความตระหนักรู้ หัดอ่านข้อมูลและเข้าใจถึงต้นตอ อาจนำไปเผยแพร่ถึงครอบครัวและระยะยาวได้

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ยังไม่ถึงน่ากังวล เป็นแค่ในระยะเริ่มต้น ต่อไปจะต้องมีจุดวัดความร้อน (Hotspot) เพราะการเผาชีวมวลที่เกิดขึ้น หลายครั้งไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ แต่เกิดในจังหวัดหรือประเทศข้างเคียง แล้วลมพัดเข้ามา จะต้องมีระบบเตือนภัยและระบบพยากรณ์ที่แม่นยำ ซึ่งจะประสานศูนย์ฯเพื่อให้สามารถเตือนภัย หรือพยากรณ์ล่วงหน้าได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในภาคใต้ 8 จังหวัดต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมน้ำท่วมภาคกลางเริ่มดีขึ้นหลังระดับน้ำผ่านเขื่อนต่างๆลดลง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (20 ต.ค.65) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ถึงวันที่ 22 ตุลาคม บริเวณ จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับ มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันตอนกลาง ขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดย 24 ชั่วโมงมีฝนตกสูงสุดที่ จ.กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 67,930 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83 พร้อมติดตามการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อน “เนสารท” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนที่มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำและเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 20 - 21 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยตอนบนมีฝนเล็กน้อยบางแห่งเกิดขึ้นได้

ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ปรับลดการระบายน้ำต่อเนื่อง ภาพรวมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,761 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลลงมาสมทบก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มทยอยลดลง มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,833 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มลดลง ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,938 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

สำหรับแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำเช่นกัน ระบายน้ำอยู่ที่ 401 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 720 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนหน่วยงานเร่งซ่อมถนนคันคลอง ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ดหลังถูกน้ำกัดเซาะได้ซ่อมแซมปิดช่องถนนคันคลองที่ขาด บริเวณประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เสร็จเรียบร้อยแล้ว และสามารถใช้ถนนคันคลองดินทางสัญจรได้ตามปกติ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 ตุลาคม 2565

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (19 ตุลาคม 2565) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,814 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง 154 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 531 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เริ่มทยอยลดลง มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,947 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงเช่นกัน ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,938 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 143 ลบ.ม./วินาที

ด้านแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำเช่นกัน โดยระบายน้ำอยู่ที่อัตรา 401 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ ส่งผลให้ที่เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 720 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

กรมชลประทาน คาดการณ์ว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านต่ำกว่า 2,700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งตามศักยภาพของแม่น้ำแต่ละช่วง จากนั้นจะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 ตุลาคม 2565

ประเทศไทยและธนาคารโลก ร่วมกันเดินหน้าความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้น

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการหารือกับ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและคณะผู้แทนจากธนาคารโลก เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยขอขอบคุณธนาคารโลกที่สนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ทั้งด้านการเงินและเทคนิควิชาการ ด้านการจัดการขยะทะเล ด้านการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการขยะของเสีย ด้านการลดการปล่อยและกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ (REDD+) ซึ่งธนาคารโลกยังพร้อมสนับสนุนไทยต่อเนื่องผ่านโครงการสำคัญต่างๆ และการจัดทำกรอบแผนการดำเนินงานสำหรับประเทศไทย (CPF) จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆในทุกภาคส่วน เช่น การทำความตกลงกับสมาพันธรัฐสวิสเพื่อดำเนินงานภายใต้ Article 6.2 ของความตกลงปารีส เกี่ยวกับการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต // การเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต // การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในภาคขนส่ง // แนวคิดกองทุนสีเขียว // การพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน // อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และการใช้ BCG Model มาฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์โควิด- 19 ที่มีการเชื่อมโยงกับงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การลดการใช้พลาสติก การรีไซเคิล การแปลงของเสียเป็นพลังงาน โดยเห็นว่าการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดผลสำเร็จในอนาคต


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด ช่วงวันที่ 18 - 22 ตุลาคม ขณะที่ภาพรวมยังมีพื้นที่เกิดอุทกภัยอยู่ 34 จังหวัด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (17 ต.ค.65) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ จากฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วงวันที่ 18 - 22 ตุลาคม ในจังหวัดชุมพร บริเวณอำเภอหลังสวน ละแม สวี เมืองชุมพร และพะโต๊ะ // จังหวัดระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ // จังหวัดพังงา บริเวณอำเภอเมืองพังงา กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า ทับปุด และตะกั่วทุ่ง // จังหวัดภูเก็ต บริเวณอำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง // จังหวัดกระบี่ บริเวณอำเภออ่าวลึก // จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอพระแสง ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม ท่าชนะ บ้านนาสาร ไชยา พนม พุนพิน เกาะสมุย และเกาะพะงัน // จังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และปากพนัง และจังหวัดสตูล บริเวณอำเภอเมืองสตูล

ทั้งนี้ ยังคงมีพื้นที่เกิดอุทกภัยอยู่ในพื้นที่ 34 จังหวัด คือ ตาก พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สระบุรี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และภูเก็ต ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 67,753 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.