• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมทรัพยากรธรณี ย้ำ กทม.มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มิถุนายน 2566

กรมทรัพยากรธรณี ย้ำ กรุงเทพมหานครมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า

นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมาตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ที่มีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี โดยรอยเลื่อนสะกายเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตมาแล้ว เช่น ปี 2473 ขนาด 7.3 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน จากการสรุปสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี ระหว่างปี 2516 – 2566 ซึ่งตามแนวรอยเลื่อนสะกายเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9 - 7.0 สำหรับกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา หากเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งระยะใกล้และระยะไกลชั้นดินเหนียวในพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 เท่า ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน (ดินเหนียวกรุงเทพ) สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า ทำให้อาคารสูงสั่นโยกและอาจจะเสียหายได้ และอาคารสูงที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงแผ่นดินไหว

ด้าน นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่านพื้นที่ 23 จังหวัด ปัจจุบันรอยเลื่อนที่พบมีการเคลื่อนที่ต่อเนื่องทำให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือ คือ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านเชียงใหม่และลำพูน // กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่านเชียงราย โดยพบแผ่นดินไหวขนาด 2- 4.5 (จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง แต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ สำหรับภาคใต้พบมีกลุ่มรอยเลื่อนสำคัญ คือ กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านพังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ที่ผ่านมาพบการเกิดแผ่นดินไหวมีขนาดไม่เกิน 4.5 เกิดขึ้นประมาณ 3 - 4 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีความถี่ในการเกิดน้อยกว่ากลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.