สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 19 มิถุนายน 2566
กรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศเมียนมา จนประชาชนรับรู้แรงสั่นไหวในหลายพื้นที่ เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้รับรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม หรือ Aftershock 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น. จากการตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ส่งผลกระทบจนประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เขต คือ เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง และคันนายาว // จ.นนทบุรี บริเวณอำเภอปากเกร็ด และอำเภอเมือง // จ.ปทุมธานี บริเวณเทศบาลนครรังสิต เนื่องจากกรุงเทพมหานครรองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกลจะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานีรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย
ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ 2561 – 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1 – 5.4 รวม 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง