• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 10 เมษายน 2566

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยว่าต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ถึงแม้กรมควบคุมมลพิษมีมาตรการและแผนในระยะยาว รณรงค์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการใช้ดีเซล ซึ่งเป็นต้นต่อที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ก็ตาม

แต่ที่ผ่านมายังมีปัญหาการเผาในที่โล่งและพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งได้กำชับเจ้าหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดและใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการควบคุมดูแลการปล่อยควันพิษของโรงงานอุตสาหกรรมและดูแลบริเวณจุดก่อสร้าง

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละจังหวัดอาจขอความร่วมมือประชาชน ให้ work from home เพื่อลดการใช้ยานพาหนะ โดยเชื่อว่าประชาชนทุกคนต้องการอากาศที่สะอาด แต่การบังคับใช้กฎหมาย กับผู้กระทำความผิด ในการเผาหรือการลดการใช้ยานพาหนะ อาจเป็นแค่ปลายทางในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญที่สุดทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมาก เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 เมษายน 2566

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติ กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านมาได้มีการขยายผลทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.กักพืชฯ ในส่วนของการควบคุมพืชตระกูลกัญชา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตาม พ.ร.บ.กักพืชฯ ในส่วนของการควบคุมพืชสกุลกัญชา กำหนดให้ทุกส่วนของพืชสกุลกัญชาเป็นสิ่งต้องห้าม การนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านตรวจพืช ผู้นำเข้ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 และมีบทกำหนดโทษตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติกักพืชฯ กล่าวคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในปี 2565-2566 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตรวจจับการนำเข้าชิ้นส่วนของพืชสกุลกัญชาอย่างเข้มงวด ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมวิชาการเกษตรและฝ่ายศุลกากรที่ 1 ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ร่วมกันตรวจชิ้นส่วนกัญชาที่มีการนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแล้วกว่า 100 รายการ ด่านตรวจพืชนครพนม ร่วมกับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลุ่มแม่น้ำโขงและด่านศุลกากรนครพนม ตรวจจับชิ้นส่วนกัญชาและกัญชาอัดแท่งที่มีการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ได้จำนวน 282 กิโลกรัม

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังมีการประชุมวางแผนและดำเนินงานร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อย่างต่อเนื่องในการสนธิกำลังตรวจสอบผู้ประกอบการในพื้นที่ถนนข้าวสารและพื้นที่ถนนทองหล่อ และพื้นที่อื่นๆ สำรวจ ตรวจสอบ พร้อมยึดอายัด ผู้กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยทำการตรวจใบอนุญาตประกอบกิจการ/ร้านค้าต่างๆ และตรวจสอบไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศจากปฏิบัติการนี้พบการกระทำผิดหลายราย โดยผู้กระทำผิดแบ่งเป็น ร้านค้าปลีกหาบเร่ แผงลอย จำหน่ายหรือแปรรูปกัญชาพันลำ และจำหน่ายช่อดอกที่ไม่ได้รับอนุญาต ดำเนินการใช้ใบอนุญาตผิดสถานที่ที่ได้รับอนุญาต ที่ต้องยึด อายัด สั่งปิด และส่งตัวพร้อมของกลางให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน ขอย้ำว่าการนำเข้าช่อดอกและทุกส่วนพืชตระกูลกัญชา เป็นสิ่งต้องห้าม มีโทษทั้งจำและปรับ และขอให้ใช้เพื่อทางการแพทย์ เท่านั้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 เมษายน 2566

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พอใจการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และการใช้ระบบ E-Ticket ป้องกันการทุจริต พร้อมเตรียมพิจารณาจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดการพื้นที่และการจัดเก็บค่าบริการของอุทยานแห่งชาติทางทะเล บริเวณอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ หลังจากเปิดท่องเที่ยวอ่าวมาหยามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชพยายามจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่ เพื่อป้องกันความแออัดและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันรับนักท่องเที่ยวต่อรอบ 1 ชั่วโมง ประมาณ 375 คน รวม 11 รอบต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 4,100 คนต่อวัน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เพราะหากจำกัดมากกว่านี้จะเกิดปัญหาความแออัดขึ้นได้ ทั้งนี้ ช่วงวันหยุดยาวหรือหยุดนักขัตฤกษ์จะพิจารณาบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวใหม่เป็นพิเศษ เพราะมีความแออัดมากกว่าวันธรรมดา เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติทางทะเลฟื้นตัวกลับมาแล้วร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงพีคของการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป-อินเดีย และนักท่องเที่ยวชาวไทยร้อยละ 20

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงการใช้ระบบ E-Ticket มาบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตธารา-หมู่เกาะพีพี หลังเริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2566 ว่า ภาพรวมสามารถแก้ปัญหาการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งจะช่วยให้เงินรายได้ทั้งหมดเข้าอุทยานฯแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ให้เงินรายได้รั่วไหล โดยตั้งเป้าจะทำระบบ E-Ticket ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน 2 ปี นอกจากเป็นการแก้ปัญหาเรื่องทุจริตแล้ว ยังสามารถนำเงินรายได้มาพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรของอุทยานแห่งชาติด้วย แต่จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้วยเพื่อให้ระบบนี้สมบูรณ์ รวมถึงประชาชนต้องยอมรับในระบบดังกล่าวเช่นกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 เมษายน 2566

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยสภาพอากาศช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ว่า ได้ออกประกาศฉบับที่ 6 แจ้งเตือนผลกระทบของมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมบริเวณประเทศลาวและประเทศเวียดนามตอนบนที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ในวันนี้ (7 เม.ย. 66) ซึ่งจะแผ่ปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและภาคเหนือ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ปะทะกับอากาศร้อนถึงร้อนจัดในช่วงนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นจนถึงวันที่ 9 เมษายน โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง

สำหรับจังหวัดได้รับผลกระทบประกอบด้วยจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก ในวันนี้ (7 เม.ย.66) คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 32 จังหวัด ส่วนวันที่ 8 เมษายน ได้รับผลกระทบ 50 จังหวัด และวันที่ 9 เมษายน คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด พร้อมขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 เมษายน 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สำรวจคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีหลายพื้นที่สามารถนำไปเล่นน้ำสงกรานต์ได้ปลอดภัย

นายพรศักดิ์ ภู่อิ่ม รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ 61 แหล่งน้ำไหล และ 9 แหล่งน้ำนิ่ง คือ เวียงหนองหล่ม บึงราชนก บึงสีไฟ กว๊านพะเยา บึงบอระเพ็ด หนองหาร ทะเลน้อย ทะเลหลวง และทะเลสาบสงขลา โดยตรวจสอบคุณภาพน้ำช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ภาพรวมคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 4 จำนวน 3 แหล่งน้ำ // เกณฑ์ดีร้อยละ 52 จำนวน 35 แหล่งน้ำ // เกณฑ์พอใช้ร้อยละ 31 จำนวน 21 แหล่งน้ำ และเกณฑ์เสื่อมโทรมร้อยละ 13 จำนวน 9 แหล่งน้ำ พบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีและเกณฑ์คุณภาพน้ำตั้งแต่พอใช้ขึ้นไป มีความปลอดภัยเพียงพอจะนำมาเล่นสงกรานต์ได้ สำหรับแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณปลายน้ำ ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรม และการปศุสัตว์

ทั้งนี้ จากการประเมินผลคุณภาพน้ำช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม โดยพิจารณาจากจุดตรวจวัดที่มีค่าแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB) พบพื้นที่ของแหล่งน้ำที่ไม่ควรสัมผัสน้ำโดยตรงหรือไม่ควรใช้น้ำในการเล่นสงกรานต์ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกรุงเทพมหานคร และ อ.บางกรวย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี // แม่น้ำน่าน บริเวณ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร // แม่น้ำยม บริเวณ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย // แม่น้ำท่าจีน บริเวณ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร , อ.สามพราน จ.นครปฐม และ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี // แม่น้ำวัง บริเวณ อ.เมือง จ.ลำปาง // แม่น้ำลำปาว บริเวณ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ // แม่น้ำสงคราม บริเวณ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร // แม่น้ำแม่กลอง บริเวณ อ.เมือง อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี // แม่น้ำตาปี บริเวณ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี // แม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา // แม่น้ำปากพนัง บริเวณ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช // แม่น้ำลพบุรี บริเวณ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี // แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.เมือง จ.เพชรบุรี // แม่น้ำจันทบุรี บริเวณ อ.เมือง จ.จันทบุรี // แม่น้ำชุมพร บริเวณ อ.เมือง จ.ชุมพร // แม่น้ำระยอง บริเวณ อ.เมือง จ.ระยอง // แม่น้ำปัตตานี บริเวณ อ.เมือง จ.ปัตตานี // แม่น้ำพังราด บริเวณ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี // กว๊านพะเยา บริเวณ หน้าสถานีประมงน้ำจืด เมือง จ.พะเยา // แม่น้ำกวง บริเวณ อ.เมือง จ.ลำพูน // บึงราชนก บริเวณ อ.เมือง จ.พิจิตร และแม่น้ำปิง บริเวณ อ.เมือง จ.ตาก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 เมษายน 2566

ค่าฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ 17 จังหวัด กลับมาสูงขึ้นกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอีกครั้ง พบอยู่ในระดับสีแดง 20 พื้นที่ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในหลายพื้นที่

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (5 เม.ย.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหลังช่วง 2 วันที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เกินมาตรฐานในระดับสีแดง 20 พื้นที่ ใน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา และเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ค่าฝุ่นเฉลี่ยประมาณ 91 – 356 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบสูงสุดที่ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยยังพบการเผาในเขตป่าจำนวนมาก , ผลกระทบจุดความร้อน (Hotspot) จากประเทศเพื่อนบ้าน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงให้เฝ้าระวังอาการผิดปกติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเฝ้าระวังถึงวันที่ 12 เมษายน ซึ่งช่วงวันที่ 6 - 7 เมษายน ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะอากาศค่อนข้างปิด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น PM 2.5 ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เกินมาตรฐานในระดับสีแดง 3 พื้นที่ ใน จ. เลย , หนองคาย และบึงกาฬ อยู่ที่ 96 - 124 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับตัวสูงขึ้นจากสภาพอากาศปิดบางพื้นที่ เกินมาตรฐานในระดับสีแดง 1 พื้นที่ บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน อยู่ที่ 99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และระดับสีส้ม 25 พื้นที่ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 เมษายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (4 เม.ย.66) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งปีนี้ เช่น กองทัพบก ร่วมกับผู้นำชุมชน จัดกำลังพลจิตอาสาของหน่วยเข้าช่วยเหลือประชาชนในการแจกจ่ายน้ำช่วงภัยแล้ง 18,000 ลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ หมู่ 2 ต.ท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี พร้อมร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองปาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจิตอาสาในชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร “ฝายแม้ว” เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค-บริโภค และลดปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้งในพื้นที่ คลองไพร ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลดผลกระทบพื้นที่ประกาศภัยแล้ง บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน และเตรียมแผนรองรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมด้วย หลังมีพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 1 อำเภอ คือ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยเป็นการประกาศเขตภัยแล้งจังหวัดแรกในปีนี้

ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) , ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ประสบภัยแล้ง และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ ให้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนของทุกปีหลายพื้นที่อาจเกิดขาดแคลนน้ำได้ จึงขอให้ทุกพื้นที่เตรียมพร้อมทุกด้านทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รองรับภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่ม ทั้งน้ำอุปโภค-บริโภคและพื้นที่เกษตร รวมทั้ง ขอให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับประชาชนในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดน้ำต่อเนื่อง เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอช่วงหน้าแล้งนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 เมษายน 2566

วันที่ 3 เมษายน 2566 นายชัชวาล ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มอบหมายให้ นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุมศูนย์รวบรวมข้อมูลและสั่งการ (War Room) ระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง

จากการติดตามจุดความร้อน (Hotspot) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2566 รวมทั้งหมด 460 จุด และวันที่ 1-3 เมษายน 2566 รวม 363 จุด และค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 55 วัน เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 29 วัน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 26 วันทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในวันที่ 2-3 เมษายน 2566 พบว่าที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 4 สถานี มีค่าคุณภาพอากาศที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ระดับ "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ"


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.