• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 ธันวาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง พร้อมหยุดการระบายน้ำของเขื่อนบางลางถึงวันนี้ เพื่อลดผลกระทบการเกิดอุทกภัยให้ประชาชน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (19 ธ.ค.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาฝนตกหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส , ปัตตานี และสงขลา ทำให้ต้องหยุดการระบายน้ำของเขื่อนบางลางถึงวันนี้ (19 ธ.ค.65) เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบกับประชาชน บริเวณท้านเขื่อนในพื้นที่จังหวัดยะลาและปัตตานี ส่วนประตูระบายน้ำคลองท่าแนะ พบระดับน้ำหน้าประตูระบายน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องปรับการระบายน้ำจากเดิม 1 เมตร เพิ่มเป็น 1.50 เมตร โดยต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ ตำบลชะมวง ควนขนุน โตนดด้วน พนมวังก์ ดอนทราย ปันแต พนางตุง มะกอกเหนือ แหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

ทั้งนี้ กอนช. ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างหลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเฝ้าระวัง พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมความพร้อม คือ แม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากยังมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปัตตานีบริเวณพื้นที่ชุมชนบ้านบริดอ บ้านจางา ตำบลปะกาฮะรัง ตำบลบาราเอาะ ตำบลตะลุโบะ พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปัตตานีในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี อำเภอเมือง และริมคลองตุยง บ้านโคกยาร่วง ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก ตำบลแม่ลาน ตำบลป่าไร่ ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด // แม่น้ำสายบุรี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณชั่วโมงละ 10 - 15 เซนติเมตร หากยังมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ ตำบลปากู อำเภอทุ่งยางแดง ตำบลตะโละดือรามัน ตำบลปล่องหอย อำเภอกะพ้อ ชุมชนบ้านตะพา ชุมชนบางตาหยาด ชุมชนลาเมาะทะเล ชุมชนลาเมาะบก ตำบลตะลุบัน ตำบลกะดุนง ตำบลมะนังดาลำ ตำบลตะบิ้ง ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี และพื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองกอตอ ตำบลตะโละไกรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกลงมา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 ธันวาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ 10 จังหวัด พร้อมระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งด้วย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (18 ธ.ค.65) ว่า ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาฝนตกหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส , พัทลุง และสงขลา ทำให้ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก รวมทั้ง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุดแล้วมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 ธันวาคม 2565

พาไปดูความสำเร็จของ Young Smart Farmer หนุ่มยะลา ที่เรียนจบวิศกรรมศาสตร์ พลิกผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร จนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างอาชีพ รายได้เลี้ยงครอบครัวจนถึงปัจจุบันร่วม 2 ปี

นายโซฟี เบญญากาศ เกษตรกรรุ่นใหม่ เล่าว่า ตนเองจบวิศวกรรมศาสตร์ และทำงานที่กรุงเทพ หลังจากออกจากงานก็กลับบ้านมาอยู่บ้านทำเกษตรมาได้ 2 ปี จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเกษตร แต่เป็นลูกเกษตร และมีพื้นที่ ก็อยากใช้พื้นที่ ให้เกิดประโยชน์ โดยได้นำความรู้ มาออกแบบโรงเรือนเพาะปลูก เพราะมองว่าสามารถป้องกันศัตรูพืช และควบคุมการบริหารจัดการได้ดี นอกจากนี้ก็ได้นำ ระบบน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคการเกษตร IoT (Let’s Smart Farm with IoT) มาใช้ พัฒนาและเปลี่ยนแปลง แปลงเกษตรของตนเอง มาสู่แปลงเกษตรอัจฉริยะ

ระบบน้ำอัจฉริยะ เป็นระบบสั่งการทางออนไลน์ สั่งรดน้ำ เปิดปั๊มน้ำผ่านมือถือได้ ช่วยลดระยะเวลาการดูแล เพิ่มประสิทธิผลในการเพาะปลูกพืช ไม่ต้องเฝ้าที่ฟาร์ม ดูได้ทั้งอุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ เพื่อจะคำนวณว่าจะรดน้ำช่วงเวลาไหนกี่นาที ดีกว่าระบบเดิมที่เกษตรกรมานั่งเปิดปิดวาล์ว ซึ่งต้องเฝ้าเราสามารถไปทำงานอื่นได้

ในส่วนของสัญญาณอินทราเน็ต นั้น ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ชนบทสัญญาณไม่ได้มีทุกที่ อย่างที่ฟาร์มต้องใช้ซิม เราใช้เป็นแอร์การ์ด เพื่อปล่อยสัญญาณให้ตัวระบบ สำหรับตัวระบบ ก็จะมีต้นทุน สูงกว่าเดิม แต่ถ้าคำนวณถึงความคุ้มค่า ความแม่นยำ ของการรดน้ำจะดีกว่าระบบเดิม

สำหรับในส่วนของตลาดนั้น นายโซฟี ฯ บอกว่าได้ศึกษาความต้องการของตลาดก่อนที่จะลงมือปลูกผัก ทำให้ ผลผลิตสามารถมีที่จำหน่ายได้ อย่างแน่นอน โดยผลผลิตจะส่งให้กับ ร้านอาหารใน จ.ยะลา รวมไปถึง โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครยะลา ที่จะนำผักปลอดสารพิษ ไปปรุงอาหารให้นักเรียน บริโภคอาหารกลางวัน ด้วย

ทางด้าน เกษตรอำเภอเมืองยะลา น.ส.วันวิสาร์ จั่นเพชร บอกว่า ทาง สำนักงานเกษตร อ.เมืองยะลา ได้เข้ามาดูแล หลักๆ เรื่องการผลิตตอนนี้เทรนด์ของการบริโภคเน้นไปที่สุขภาพมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเราก็พยายามที่จะให้ได้ตามมาตรฐานการผลิตพืชแต่ละชนิด เริ่มจาก GAP ไปจนถึงอินทรีย์ ในพื้นที่ ที่สามารถทำได้ สำหรับ อ.เมืองยะลา การทำเกษตรอินทรีย์ยังน้อยอยู่ที่จะได้รับการรับรอง ด้วยตัวขั้นตอนการผลิตค่อนข้างไปทางอินทรีย์แล้ว ลดสารเคมีใช้สารชีวภัณฑ์มาทดแทน และกระบวนการตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เราพยายามที่จะให้ได้ตามมาตรฐานอย่างน้อยก็ให้ได้เป็น GAP เป็นพืชปลอดภัยก่อน

การทำเกษตรอินทรีย์หลายคนมองว่าค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องมีการลด การปรับ ห้ามหลายๆ ตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของตัวเกษตรกร เอง แต่การเทรนด์ที่จะผลิตเป็นแนวโน้มที่ดี ส่วนใหญ่จะสนใจ สำหรับใครที่สนใจสามารถเข้ามาขอคำแนะนำปรึกษาได้ที่สำนักงานเกษตรเมืองยะลาได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 ธันวาคม 2565

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์

ภาครัฐให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายในการการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเกษตรกรเกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ในปี 2566 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือเกษตรกร Young smart farmer หรือเกษตรกร Smart farmer หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการอบรม ให้ความรู้แก่เกษตรกร จำนวน 17,640 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา และสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 337 เครือข่าย ในพื้นที่ 62 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมอยู่เป็นประจำทุกปี และพื้นที่ 52 จังหวัดที่มีการเผาในภาคการเกษตรสูง ดำเนินการโดยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เทคนิคและวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา ตลอดจนมีการสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร นำร่องสาธิตการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่การเกษตร

การดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจจากดาวเทียม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2565 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่เกษตร จำนวน 1,915 จุด เทียบกับปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2565 จำนวน 3,413 จุด ลดลงไปร้อยละ 43


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 ธันวาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักเครื่องจักรกลและโครงการชลประทานทุกแห่ง นำเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เข้าไปกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในแม่น้ำและแหล่งน้ำ พร้อมขุดลอกคลองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ

อาทิ ที่จังหวัดกำแพงเพชร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว นำเครื่องจักร เข้าไปกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลองส่งน้ำสายใหญ่วังบัว /จังหวัดพิจิตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว นำรถขุดเข้าลอกคลอง ระบายน้ำ บริเวณตำบลท่าบัว อำเภอโพทะเล

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล นำรถขุด 3 คัน เข้าไปกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลองส่งน้ำ 1 ซ้าย สาย 5 ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล

จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน นำเรือกำจัดวัชพืช เข้าไปกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณประตูระบายน้ำรางหวาย และประตูระบายน้ำบ้านโคก

จังหวัดนครนายก สำนักเครื่องจักรกล นำรถขุด 2 คัน เข้าไปกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลองส่งน้ำฝั่งซ้าย สาย 1 ตำบลเกาะโพธิ์ อำเภอปากพลี

จังหวัดสิงห์บุรี นำรถขุด 2 คัน เข้าไปกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมขุดลอกแก้มลิงลำโพธิ์ชัย ตำบลโพธิ์ชัย อำเภออินทร์บุรี

กรมชลประทาน จะดำเนินการขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างทั่วถึง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 ธันวาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมให้บริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลางให้พร้อมรองรับฝนที่จะตกหนักช่วงวันที่ 17-20 ธันวาคม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (14 ธ.ค.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช , ชุมพร และสงขลา โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนบางลางลงเหลือ 4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถึงวันที่ 16 ธันวาคม เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำและรองรับสถานการณ์ฝนที่จะเข้ามาระหว่างวันที่ 17-20 ธันวาคม ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,093 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 ธันวาคม 2565

สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 (จ.ลำปาง) เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดโครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 เชิญชวนตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่ศูนย์บริการรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ISUZU, Misubishi, Nissan, TOYOTA, Honda, Masda, Hino, Ford และ Suzuki โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับบริการและสิทธิประโยชน์สูงสุด อาทิ ตรวจสภาพรถยนต์ฟรี ส่วนลดน้ำมันเครื่อง ส่วนลดค่าแรง และส่วนลดค่าอะไหล่

ทั้งนี้ เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ คือ รถยนต์ดีเซลที่หมดอายุรับประกัน โดยกำหนดส่วนลดตามช่วงอายุรถยนต์ โดยมีค่ายรถยนต์ร่วมให้บริการบำรุงรักษารถยนต์ในพื้นที่ทั่วประเทศ รวม 1,774 แห่ง รองรับรถยนต์กว่า 426,000 คัน และรายละเอียดสนับสนุน/จำนวนรถยนต์ที่เข้าร่วมรับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท

อย่างไรก็ตาม กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 14-20 ธันวาคม 2565 โดยวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เป็นช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวังทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เนื่องจากสภาพเพดานการลอยตัวอากาศที่ต่ำ ประกอบสภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ (ฝุ่นละอองมีแนวโน้มจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 15 ธ.ค. 65) และวันที่ 17-20 ธันวาคม 2565 จะมีแนวโน้มสถานการณ์ที่ดีในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในขณะที่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดช่วง 14 - 20 ธันวาคม 2565


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 ธันวาคม 2565

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างของภาค ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร และวิถีชีวิตของเกษตรกร จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนินการลงพื้นที่ไปบูรณาการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เกษตรกรในเบื้องต้นแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และเตรียมการสำรวจความเสียหายทันทีหลังน้ำลด เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป

ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรายงานพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง พัทลุง และสงขลา เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 15,690 ราย มีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวนประมาณ 24,484 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นไร่ข้าว และขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปประสานการให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.