• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 พฤษภาคม 2566

กรมชลประทาน เปิดเผยว่า 3 เดือนหลังจากนี้ อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีฝนตกน้อยกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำได้ในหลายพื้นที่ กรมชลประทาน ได้วางแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นศูนย์กลางของการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค การเกษตร และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 204 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนสำรองด้วยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานให้กับพื้นที่ที่อาจจะเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบอาคารชลประทาน สถานีสูบน้ำ และระบบส่งน้ำต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานและส่งน้ำให้เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นการสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อตอบสนองการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 พฤษภาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ส่งข้อเสนอให้ อปท. ยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศสะสมเพิ่มขึ้น ลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดทำข้อเสนอการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง เพื่อเป็นกรอบและแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่จะส่งผลให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดในแผนปฏิบัติการฯระดับประเทศ โดยเป้าหมายที่ 1 ของแผนปฏิบัติการ ภายในปี 2570 ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ 80 ทั้งนี้ คพ. ได้ส่งข้อเสนอการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องให้กับอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบอ้างอิงการดำเนินงานของ อปท. ยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง ใช้เป็นทิศทางของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ อปท.ในการปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของภาครัฐและเอกชนเปิดดำเนินการ 2,074 แห่ง แบ่งเป็น สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยถูกต้องตามหลักวิชาการเพียง 111 แห่ง หรือร้อยละ 5 และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง หรือร้อยละ 95 ถือเป็นสัดส่วนสูงมาก เนื่องจาก อปท. หลายแห่งมีงบประมาณกำจัดขยะมูลฝอยไม่เพียงพอ , สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยหลายแห่งรองรับขยะมูลฝอยมากเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้ , การจัดหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแห่งใหม่ดำเนินการได้ยาก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต่อต้านหรือคัดค้านการก่อสร้างและดำเนินการ , การกำกับและบังคับใช้กฎหมายกับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเอกชนเป็นไปได้ยากและไม่มีการดำเนินการ รวมถึง การกำกับ อปท. ที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาซ้ำซาก เช่น ไฟไหม้บ่อขยะมูลฝอย มลพิษจากการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง น้ำเสียจากบ่อขยะมูลฝอย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 พฤษภาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำช่วงแล้งในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมการจัดสรรน้ำถือว่าเป็นไปตามแผนที่กรมชลประทานกำหนดไว้ ส่งผลให้กิจกรรมการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และยืนยันว่า กรมชลประทานจะมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วง 3 เดือน คือ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ จากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ กรมชลประทาน จึงได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกแล้ว และจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันก่อนน้ำหลากในช่วงกลางเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ที่กรมชลประทานกำหนด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 พฤษภาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและมีน้ำเพียงพอใช้หน้าแล้ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (1 พ.ค.66) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำปีนี้ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ เร่งขุดลอกแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำแก้ปัญหาไม้ผลต้นยืนต้นตาย เนื่องจากการขาดแคลนน้ำในหมู่ที่ 7 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ // กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งสูบทดสอบปริมาณน้ำบ่อน้ำบาดาล เก็บตัวอย่างน้ำบ่อบาดาลและบ่อใกล้เคียงในบ้านสุนัขหอน หมู่ที่ 8 ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม และบริเวณวัดสหกรณ์โฆสิตาราม (บ้านโคกขาม) หมู่ที่ 10 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร // กรมชลประทาน เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ชนิดหอยโข่ง 1 เครื่อง ขนาดท่อ 24 นิ้ว สามารถสูบน้ำได้ 184,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน บริเวณท่าสูบน้ำบ้านบางบาย หมู่ที่ 7 ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพป่าไม้และสร้างแนวป้องกันไฟป่า


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1064719

ภาพรวมนโยบายและกฎหมาย

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  30 เมษายน 2566

รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน จึงกำหนดนโยบาย กฎหมายและข้อบังคับจำนวนมากที่สอดคล้องกับทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อม

กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับหลัก

สิงคโปร์มีกฎหมาย Environmental Protection and Management Act : EPMA เป็นกฎหมายฉบับหลักที่ใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการจัดการปริมาณมลพิษทั้งทางน้ำทางอากาศและทางเสียง

เช่น กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องติดตั้งและจัดให้มีอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ กำหนดให้โรงงานต้องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และกำหนดควบคุมเรื่องเสียงจากการก่อสร้างไปจนถึงเสียงในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

มาตรการอุดหนุนโดยภาครัฐ

ในแต่ละปี สิงคโปร์จะจัดทำนโยบายอุดหนุนภาคเอกชน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในการประกอบธุรกิจ (Green Technology Program) เช่น มาตรการจูงใจให้บริษัทพาณิชยนาวีในประเทศพัฒนาและนำเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้

ซึ่งหากสามารถลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ก๊าซไนตริกออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามที่กำหนด โครงการจะได้รับเงินร้อยละ 50 สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เป็นต้น

ได้เงินคืนหากใช้รถที่ลดมลพิษ

ภายใต้ระบบ Carbon Emissions-Based Vehicle Scheme : CEVS สิงคโปร์ได้สร้างระบบจูงใจสำหรับการใช้ยานพาหนะทุกประเภทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอัตราที่ต่ำ โดยรัฐจะให้เงินคืนสำหรับการใช้รถที่ประหยัดเชื้อเพลิงและมีอัตราการบริโภคน้ำมันต่ำ

ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องจัดทำฉลากข้อมูลการปล่อยมลพิษของรถ (Fuel Economy Labelling scheme) เพื่อให้ผู้ซื้อได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ การให้เงินคืน จะอยู่ในรูปแบบของการลดหย่อนภาษี ค่าระวาง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถ

Singapore Green Plan 2030

มองไปข้างหน้า สิงคโปร์ได้จัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ 5 ด้าน ได้แก่

(1) การจัดสรรพื้นที่สีเขียวในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้โดยสะดวก

(2) ส่งเสริมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยการใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดการกลับมานำมาใช้ใหม่ของขยะทุกประเภท และบำบัดน้ำเสียอาจจริงทั้งภาคอุตสาหกรรมและเอกชน

(3) ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานจากแสงอาทิตย์ และสนับสนุนการวิจัยในด้านพลังงานทุกประเภท

(4) สร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเป็น Centre for Green Finance พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนด้านเทคโนโลยีที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

(5) สร้างปราการสำหรับอนาคต เช่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง การให้สิ่งก่อสร้างใช้โทนสีอ่อนเพื่อลดการดูดซับของความร้อน เป็นต้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 เมษายน 2566

วันนี้ (29 เม.ย.66) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยนางรักชนก แพน้อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์-หมู่เกาะพีพี และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เดินทางมาอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับทีม “ทราย สก๊อต”และทีมนักอนุรักษ์กว่า 36 ชีวิต ที่บริเวณแหลมหาด และในโอกาสเดียวกันนี้ ทางนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เข้าให้กำลังใจกับ”ทราย สก๊อต” ในการสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หลังจากนั้นได้ร่วมว่ายน้ำกับทีม “ทราย สก๊อต”และนักว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลด้วย ที่จุดแหลมหาด ซึ่งเป็น STAGE 5

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่สองได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 29 เมษายน 2566 ทราย สก๊อต หรือนายสิรณัฐ สก๊อต ฉายามนุษย์เงือก ลูกครึ่งไทย-สกอตแลนด์ พร้อมด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลไทย จำนวน 36 ชีวิต ได้ว่ายน้ำออกจากจุดเริ่มต้น STAGE 4 ที่บริเวณเกาะห้อง-แหลมหาด จังหวัดกระบี่ และ STAGE 5 ผ่านช่องแคบเกาะยาว เข้าสู่ STAGE 6 จากเกาะยาวใหญ่-อ่าวปอเข้าสู่จุด Finish ผ่าน จ.พังงา และไปสิ้นสุดที่เกาะปอ จังหวัดภูเก็ต รวมระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร ภายใน 2 วัน กับภารกิจ ว่ายน้ำข้ามทะเล 3 จังหวัด ( กระบี่,พังงา,ภูเก็ต ) มาร่วมให้กำลังใจ และ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งนี้.


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 เมษายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามสภาพอากาศแนวโน้มปริมาณฝนจากสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กรมชลประทานกำหนด ได้แก่ จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด และวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำและทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,553 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 20,612 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงแล้งนี้ ทั้งประเทศไปแล้ว 24,786 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10 ล้านไร่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 เมษายน 2566

คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวน เห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 12 คำขอ โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนได้พิจารณาคำขออนุญาตโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่เห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 12 คำขอ เช่น การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองท่ามะพร้าวในชุมชนบ้านบางดุก หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต // การขอใช้พื้นที่ภายในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงลาน เพื่อทำโครงการปรับปรุงระบบเก็บกักอ่างเก็บน้ำห้วยอีอ่างในตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น จึงกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งพิจารณาและจัดทำหนังสือถึงหน่วยงานที่ขอใช้พื้นที่ให้ความเห็นเพิ่มเติมบางพื้นที่ พร้อมให้หน่วยงานที่ขอใช้พื้นที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัดและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการทบทวนและติดตามผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผลการดำเนินงานโครงการจัดที่ดินทำกินของรัฐบาล (คทช.) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 รวมทั้ง รับทราบการปรับลดเนื้อที่คำขออนุญาตโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ความเห็นชอบในหลักการ และเรื่องที่ต้องรอการยืนยันจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส่วนกลาง) กรณีพื้นที่ส่งมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ได้กันคืนกลับกรมป่าไม้


  1. ทช. จับมือหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อน ขานรับนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
  2. ค่าฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือและภาคอีสานปรับตัวสูงขึ้นบางพื้นที่ แม้จะมีฝนตกลงมาช่วยลดการสะสมของจุดความร้อนและฝุ่นละออง ส่วน กทม.และปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมาก
  3. "อรรถพล" กำชับให้เร่งสำรวจพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จสิ้น พ.ค.นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผาป่าลุกลามเข้าพื้นที่อนุรักษ์
  4. "วราวุธ" กำชับให้คุมเข้มการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ลักลอบเผาป่า เพื่อลดความเสียหายต่อผืนป่าและผลกระทบกับประชาชน
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.