• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 พฤศจิกายน 2565

ประเทศไทย เตรียมเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People เพื่อร่วมกับประชาคมโลกปกป้องพื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ในปี 2030 ตามเป้าหมาย 30x30

นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยร่วมกับประชาคมโลกในการปกป้องพื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่สนับสนุนเป้าหมาย 30x30 กลายเป็นกลุ่ม HAC ที่ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 ประเทศ นั้น ทำให้เป้าหมาย 30x30 กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับโลกภายใต้กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี 2020 จะได้รับการรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 หรือ CBD COP 15.2 ระหว่างวันที่ 7 - 19 ธันวาคมนี้ ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา สำหรับการเข้าร่วมกลุ่ม HAC ของไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 และเป็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านสิ่งแวดล้อมของไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในวาระที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสมีกำหนดการเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยช่วงเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ด้วย ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ยังได้มีมติเห็นชอบให้สนับสนุนการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) จะเป็นโอกาสสำคัญในการบูรณาการระหว่างอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานกลางของทั้งสองอนุสัญญาดังกล่าว

สำหรับเป้าหมาย 30x30 เป็นแนวทางสำคัญในการจัดการกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนทั้งทางบกและทางทะเล การป้องกันโรคระบาดในอนาคต การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพ เพิ่มผลผลิตด้านประมง ตลอดจนเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศมากขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 พฤศจิกายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้คณะผู้แทนไทยสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมมอบนโยบายคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6 - 18 พฤศจิกายนนี้ ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อพิจารณาการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) การปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (NDC) เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศให้ประชาชนทุกระดับมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งครั้งนี้ประเทศไทยได้วางกรอบท่าทีเจรจาในเวที COP 27 ระหว่างปี 2565-2566 โดยจะสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก และคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง คำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นแนวทางดำเนินงานในทุกมิติแก้ปัญหาและขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทผู้นำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ ในส่วนของไทยตั้งใจจะร่วมกับภาคีอื่นๆดำเนินงานตามความตกลงปารีส โดยขอให้คณะผู้แทนไทยใช้กรอบท่าทีเจรจาฯดังกล่าวเป็นหลักในการเจรจา และติดตามประเด็นการเจรจาในระหว่างการประชุมอย่างเคร่งครัด พร้อมรายงานความก้าวหน้าผลการประชุมผ่านระบบการรายงานที่จัดเตรียมไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการสรุปผลการประชุม COP 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง หลังคาดการณ์ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 27

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 พ.ย.65) ว่า ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้หลังเกิดฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และชุมพร โดยกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ในจังหวัดสงขลา หลังปริมาณฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างภาพรวมปีนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 27 ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา คลองนาท่อม คลองปะเหลียน แม่น้ำตรัง คลองดุสน และคลองละงู ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง จึงเตรียมแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน จ.สงขลา คือ พื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่และชุมชนริมคลองธรรมชาติ อ.หาดใหญ่ และบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ // จ.พัทลุง บริเวณ อ.ศรีบรรพต อ.เขาชัยสน และบริเวณขอบทะเลสาบ อ.เมือง // จ.ตรัง บริเวณ อ.เมือง ตลาดนาโยง อ.นาโยง และตลาดเทศบาลตำบลย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว // จ.สตูล บริเวณ อ.เมือง และ อ.ละงู ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 44,139 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76

ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,359 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,219 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี ที่ สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,257 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง คาดว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 พฤศจิกายน 2565

พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พร้อมรับฟังบรรยายแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 ซึ่ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการวางแผนเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งของประชาชนตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งเป็นต้นไป

สำหรับสนามบินท่าใหม่จะเป็นที่ตั้งของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของจังหวัดในความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ใน8 จังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน โดยจากเดิมมีพื้นที่รันเวย์เป็นดินลูกรังบดอัดแน่น ประกอบกับประสบปัญหาเป็นฝุ่นในฤดูแล้งและลื่นในช่วงหน้าฝน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงมีแผนการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเป็นรันเวย์ราดแอสฟัลท์ติกคอนกรีต เพิ่มระยะทางทั้งหมด จากรันเวย์ดินลูกรัง 1,500 เมตร เป็นรันเวย์คอนกรีต 1,300 เมตร และเพิ่มระยะวิ่งจาก 980 เมตร ที่รองรับได้เพียงเครื่องบินขนาดเล็กเป็นระยะ 1,200 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดกลางคาซ่า และเกิดความปลอดภัยในการบินขึ้น-ลง ของเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

อีกทั้งเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานของสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจ เกิดผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติการฝนหลวงที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรและแหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่หว่างการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ในระยะที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงรองรับพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกมีจำนวนกว่า 12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 56 ของพื้นที่ซึ่งได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานจำนวน 884,354 ไร่ และพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานจำนวน 12 ล้านไร่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 พฤศจิกายน 2565

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรระดมกำลังเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่สำรวจความเสียหายภายหลังน้ำลดทันที และประสานงานให้การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ที่ประสบภัยเพื่อมอบเมล็ดพันธุ์พืช ต้นพันธุ์พืช และชีวภัณฑ์ แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตเบื้องต้นในการฟื้นฟูอาชีพและยังเป็นการส่งมอบกำลังใจแก่เกษตรกร รวมไปถึงได้มอบถุงยังชีพแก่เจ้าหน้าที่ผู้ประสบภัยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ในจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้นๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ในจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนดังกล่าวจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์พริก มะเขือ กระเจี๊ยบเขียว รวม 60,000 ซอง ต้นกล้าพืชผักพริก มะเขือ กะเพรา รวม 150 ถาด รวม 100 ต้น นำไปมอบให้เกษตรกรผู้ประสบภัยในจังหวัดชัยภูมิ จากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ ต้นพ้นธุ์กล้วย และไม้ผล จัดเป็นชุด ชุดละ 2 ถุง รวม 430 ชุด นำไปมอบให้เกษตรกรผู้ประสบภัยในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด จากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ผักจัดชุด 5 ชนิด และต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้า 1 ต้น รวม 150 ชุด นำไปมอบให้เกษตรกรผู้ประสบภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนในเรื่องการเยียวยาเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนสูงขึ้นจากน้ำทะเลหนุน พร้อมระวังท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (4 พ.ย.65) ว่า ลุ่มน้ำท่าจีนไม่พบมีฝนตกหนักแล้ว แต่แม่น้ำท่าจีนยังมีปริมาณน้ำมากและล้นตลิ่งบางแห่ง ประกอบกับ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน บริเวณปากน้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ในวันที่ 11 และ 26 พฤศจิกายน และช่วงวันที่ 9 - 10 และ 15 - 26 ธันวาคม อาจจะส่งผลทำให้แม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ อ.สามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.บางเลน นครชัยศรี และสามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 15 - 30 เซนติเมตร โดย กอนช. ได้ขอให้หน่วยงานตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้ง ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 44,125 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76

ทั้งนี้ กอนช. ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในภาคใต้ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 พฤศจิกายน 2565

รศ. ดร. วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิเคราะห์สถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 ว่า ฝนในปลายปีนี้และต้นปีหน้ามีแนวโน้มน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งนั่นจะเริ่มส่งผลกระทบหลังจากเข้าสู่ฤดูหนาวที่จะทำให้ฝุ่น PM2.5 กลับมาเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนฝุ่น PM2.5 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากมาตรการที่ใช้ในการแก้ปัญหายังเหมือนปีที่แล้ว ประชาชนไทยจะต้องเจอกับปัญหาฝุ่นที่หนักขึ้น

-ภาคกลาง และ กรุงเทพมหานคร - ปริมณฑล ฝุ่นจะหนักที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม เนื่องด้วยอากาศหนาวเย็น ลมอ่อน และปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ ทำให้ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จากภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์และรถบรรทุก และการเผาในภาคเกษตรที่จะเป็นช่วงที่นาข้าวเก็บเกี่ยวเสร็จและจะมีการจัดการแปลงด้วยการเผาเพื่อปลูกข้าวรอบใหม่ นอกจากนี้ยังมีฝุ่นข้ามพรหมแดนจากประเทศกัมพูชามาสมทบเพิ่มด้วย

-ภาคอีสาน จะเจอกับฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไปจนถึง – มีนาคม จากภาคเกษตรที่มีการเผานาข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงยังได้รับฝุ่นข้ามพรมแดนบางส่วนจากประเทศลาวและเวียดนาม

-ภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ยาวนาน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน ด้วยสาเหตุจากการเผาไหม้ทางภาคการเกษตร และการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าที่ต่อเนื่องกัน รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศเมียนมา

-แหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจะมี 3 แหล่ง คือ ภาคเกษตร ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม

โดยภาคเกษตร ในช่วงพฤศจิกายนจะเป็นช่วงนาข้าวจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากนั้นก็จะมีการเผาเพื่อปรับพื้นที่รอปลูกข้าวรอบใหม่ รวมถึงยังมีการเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ยังเป็นปัญหาหลัก โดยที่รัฐยังไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมการลดการเผาอย่างจริงจัง

-ขณะที่ภาคยานยนต์ จะเป็นปัญหาเดิมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เรื่องของควันดำ และการที่ยังไม่มีการปรับมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 ที่มีการเลื่อนมาตั้งแต่ปี 63 และเลื่อนออกไปเป็นปี 67

-ภาคโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปกติจะมีการเดินเครื่องทำงานตลอด 24 ชม. แต่กลับไม่พบข้อมูลของกรมโรงงานที่มีการเปิดเผยให้ทราบว่าโรงงานเหล่านี้มีการปล่อยมลพิษออกมามากเท่าไหร่ เหมือนกับข้อมูลการเผาไหม้ในแต่ละพื้นที่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับรู้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 พฤศจิกายน 2565

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยถึง 10 มาตรการรองรับหน้าแล้งปี 2565/2566 ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทั้ง 10 มาตรการแล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 เร่งรัดเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภททั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งประเทศอยู่ที่ 68,366 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 6,700 ล้านลูกบาศม์เมตร ดังนั้นในพื้นที่เขตชลประทานจึงไม่น่าเป็นห่วง ส่วนมาตรการที่ 2 การเฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน มาตรการที่ 3 ภารกิจเติมน้ำด้วยปฏิบัติการฝนหลวง มาตรการที่ 4 การกำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชหน้าแล้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเพาะปลูกเกินปริมาณน้ำที่มี มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตรส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มาตรการที่ 6 เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนองเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนถึงช่วงฤดูน้ำหลากและเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก มาตรการที่ 7 การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ มาตรการที่ 8 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านบริหารจัดการน้ำของชุมชน มาตรการที่ 9 สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และมาตรการที่ 10 การติดตามประเมินผลในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการดำเนินงานตาม 10 มาตรการดังกล่าว ยังมีการเสนอเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงปี 2566 ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่มรองรับการดำเนินงานทั้ง 10 มาตรการข้างต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในปี 2565/2566 จะมีมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงขอความร่วมมือประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากยังมีบางพื้นที่ มีโอกาสขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.