• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 พฤศจิกายน 2565

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดงานวันดินโลกปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน กำหนดจัดงานภายใต้หัวข้อ อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน ระหว่างวันที่ 4-7 ธันวาคมนี้ ที่สถานีพัฒนาที่ดินตาก จังหวัดตาก เพื่อเทิดพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร รวมทั้งสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญ ของการสร้างสุขภาพดินดี ซึ่งจะส่งผลถึงการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารเลี้ยงประชากรโลก และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานในจังหวัดตาก จัดงานวันดินโลกขึ้น

กิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการดินโลก นิทรรศการ มหัศจรรย์พืชพันธุ์ จากดินทั่วถิ่นไทย จัดแสดงความหลากหลายของทรัพยากรดินและพืชอาหารทั่วประเทศไทย นิทรรศการมีชีวิต แสดงแปลงองุ่นและเสาวรสปลอดภัย แปลงผักบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง แปลงข้าวสรรพสี สตรอเบอร์รี่ และกะหล่ำปลี พืชผัก 4 ภาค นิทรรศการนวัตกรรมและเกษตรอัจฉริยะ นิทรรศการวิชาการผลิตผลเกษตรที่สูง เสวนาระดับนานาชาติ เสวนาหมอดินอาสา ฐานเรียนรู้ด้านการปรุงดิน เรื่องอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น

กิจกรรมประกวดแข่งขันต่างๆ กิจกรรมเดินเทรล เช็คอินกับสัญลักษณ์วันดินโลกขนาดใหญ่ เชื่อมั่นว่า ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมตระหนักรู้และปกป้อง รักษาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าดินมีคุณภาพดี ย่อมผลิตพืชผลที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อันจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 พฤศจิกายน 2565

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นายอรรถพงษ์ แวสือนิ รองปลัดเทศบาล รักษาราชการแทน ปลัดเทศบาล รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีเมืองเบตง พร้อมด้วย นายสุขสันต์ โกไศยกานนท์ ท้องถิ่นอำเภอเบตง นางศุภัศร์มา ยี่สุ่นศรี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองเบตง และเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ออกปฏิบัติการให้ความรู้และส่งเสริมชุมชนในการจัดทำแยกขยะมูลฝอยจากต้นทางตามหลัก 3Rs พร้อมทั้งสาธิตวิธีการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนในครัวเรือน

นางศุภัศร์มา ยี่สุ่นศรี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองเบตง กล่าวว่า จะทำอย่างไรให้ปริมาณขยะเหล่านี้ลดลง คำตอบของคำถามนี้คงต้องเริ่มต้นที่ตัวเราทุกๆ คน นั่นคือ การลดการสร้างขยะ โดยเริ่มต้นลดขยะที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันลง และหนึ่งในแนวคิดในการลดปริมาณขยะ ที่ทุกคนสามารทำได้ง่ายๆ คือ ลดขยะตามแนวคิด 3R ซึ่ง 3R เป็นแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า สามารถช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง ด้วยการลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle: 3Rs) โดยเริ่มต้นที่การใช้ให้น้อยลง ลดการใช้วัสดุ ผลิตภัณฑ์ ที่ก่อให้เกิดขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น (Reduce) การนำวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่ยังสามารถใช้งานได้ กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแล้วมาแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือรีไซเคิล (Recycle) หากเราทุกคนสามารถทำได้ครบทั้ง 3Rs ก็จะสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัน ลดการสร้างมลพิษเเก่โลก และยังนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า แทนที่จะถูกทิ้งแล้วนำไปกำจัด และนอกจากช่วยลดปริมาณขยะลงได้แล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากร ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 พฤศจิกายน 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566

ซึ่ง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 อาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่มีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรและรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ยังคงพบปริมาณฝุ่น PM2.5 เท่าเดิมต่อเนื่องทุกปี และในพื้นที่ภาคเหนือที่มีความกังวลถึงสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่น PM2.5 แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหา จึงเน้นยกระดับความเข้มงวดของการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ คือ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ควบคู่กับ 7 มาตรการ ตามกรอบสื่อสารเชิงรุกยกระดับปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะดำเนินการภายใต้ 16 แนวทาง อาทิ วิจัยหาต้นเหตุ/ ตรวจโรงงาน/ แจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ให้แก่กลุ่มเปราะบาง / ตรวจสถานที่ก่อสร้างและตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/ ใช้ CCTV ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ/ ส่งเสริมรถราชการในสังกัด กทม. เป็นรถพลังงานไฟฟ้า / ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด และ พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น ผ่านโครงการ BKK Clean Air Area

ขณะที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แบบบูรณาการ โดยกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน (Hotspot) ไม่เกิน 9,833 จุด และลดพื้นที่เผาไหม้ลง 20% หรือไม่เกิน 718,056 ไร่ พร้อมดำเนินการภายใต้ 4 แนวทางเพื่อลดค่าฝุ่นละอองในเขตเมืองควบคู่กับการควบคุมการเผาป่า ได้แก่ ควบคุมควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ ประสานงานร่วมกับขนส่งจังหวัด / ควบคุมการเผาเศษใบไม้หรือขยะจากครัวเรือน / ล้างทำความสะอาดถนนทุกสายในจังหวัด / ควบคุมฝุ่นละอองจากไซต์ก่อสร้างหรือควันจากโรงงาน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือทั้ง 4 จังหวัด หารือร่วมกันในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน) และเพิ่มการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านการใช้แอปพลิเคชัน “Fire D” (ไฟดี) ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชน ศูนย์วิชาการของจังหวัด เพื่อดำเนินการตัดสินใจเวลาเหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังคงเฝ้าระวังฝนหนักในภาคใต้จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนักมากบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ภูเก็ต ตรัง และระนอง ทำให้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,718 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75

ทั้งนี้ กอนช.ยังได้ติดตามการรับมือฝนในพื้นที่ภาคใต้ เบื้องต้นกรมชลประทานได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆเป็นข้อมูลใช้บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำที่คำนึงถึงการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ขณะนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเข้าสู่หน้าแล้งแล้ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 พฤศจิกายน 2565

ส่วนใหญ่มลพิษอากาศกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศรายได้ปานกลางที่เผชิญกับมลพิษอากาศที่สูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกอย่างมาก

ในทางเศรษฐศาสตร์สามารถประเมินมูลค่าผลกระทบจากมลพิษอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งผลการประเมินผลกระทบมักแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นมูลค่าความเต็มใจจ่ายสำหรับทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี ที่ลดลงของ PM2.5 มีค่าเท่ากับ 7,111 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

ในสหภาพยุโรปพบว่า ทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในรูปที่แท้จริงลดลง 0.8% โดย 90% ของผลกระทบเกิดจากการที่ผลผลิตต่อแรงงานลดลง

สำหรับประเทศไทยครัวเรือนกรุงเทพฯ มีความเต็มใจจ่ายในทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปีที่ลดลงของ PM10 และ PM2.5 เท่ากับ 4,392-5,794 และ 8,116 บาทต่อปี ตามลำดับ

หากนำมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้ายของแต่ละจังหวัดมาคูณกับความเข้มข้นของ PM2.5 ที่เกินค่าแนะนำเก่าขององค์การอนามัยโลก ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2563 มูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจาก PM2.5 จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.68% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

โดยกรุงเทพฯ มีมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมสูงที่สุดเท่ากับ 343,288 ล้านบาท โดยมูลค่าผลกระทบข้างต้นครอบคลุมเฉพาะส่วนของครัวเรือน ยังไม่ได้รวมมูลค่าผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 พฤศจิกายน 2565

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (20 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตรัง สตูล และพังงา ทำให้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,778 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76

กอนช. ยังได้ติดตามการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานได้เข้าไปสนับสนุนการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่งหลังน้ำลด พร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ด้วยการนำรถขุดตีนตะขาบขุดลอก ปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่วัง บริเวณตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณหน้าประตูทดน้ำกลางคลองส่งน้ำสายใหญ่ C1 ในจังหวัดพิษณุโลก บริเวณคลองนครเนื่องเขต บริเวณตลาดโบราณนครเนื่องเขต และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองนครเนื่องเขต ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เพื่อกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณตำบลบ้านหลุม อำเภอเมืองสุโขทัย , ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และตำบลหน้าโคก อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเร่งระบายน้ำช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19  พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังคงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (19 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ยะลา และสุราษฎร์ธานี ทำให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายนนี้ บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,782 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และนคปฐม // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด คือ หนองบัวลำ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และอุบลราชธานี และภาคใต้ 2 จังหวัด คือ สงขลา และปัตตานี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำท่วมขังและช่วยเหลือต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด ช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ฉบับที่ 54 หลัง กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมญวน อ่าวไทยตอนบน เข้าสู่แนวร่องมรสุมที่เลื่อนขึ้นมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน คือ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังในจังหวัดเพชรบุรี บริเวณอำเภอท่ายาง บ้านลาดชะอำ แก่งกระจาน และเมืองเพชรบุรี // ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณอำเภอบางสะพาน เมืองประจวบคีรีขันธ์ ทับสะแก บางสะพานน้อย และกุยบุรี // ระนอง บริเวณอำเภอละอุ่น // ชุมพร บริเวณอำเภอปะทิว เมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม ท่าแซะ และพะโต๊ะ // สุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอดอนสัก เกาะสมุย กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เกาะพะงัน เมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาเดิม พุนพิน พนม บ้านตาขุน และท่าชนะ // พังงา บริเวณอำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง เมืองพังงา กะปง ทับปุด และตะกั่วทุ่ง // ภูเก็ต บริเวณอำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต // กระบี่ บริเวณอำเภอปลายพระยา อ่าวลึก และเมืองกระบี่ // ตรัง บริเวณอำเภอนาโยง เมืองตรัง ห้วยยอด และรัษฎา // นครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอทุ่งสง ลานสกา ร่อนพิบูลย์ ขนอม ช้างกลาง นาบอน พระพรหม จุฬาภรณ์ สิชล เมืองนครศรีธรรมราช นบพิตำ ฉวาง พรหมคีรี เฉลิมพระเกียรติ พิปูน ทุ่งใหญ่ ชะอวด ถ้ำพรรณรา ท่าศาลา บางขัน และปากพนัง // พัทลุง บริเวณอำเภอศรีนครินทร์ ศรีบรรพต เมืองพัทลุง ควนขนุน และป่าพะยอม // สตูล บริเวณอำเภอละงู และเมืองสตูล พร้อมทั้ง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำลดผลกระทบจากปริมาณน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.