• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สทนช. เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่สมุทรปราการและรอยต่อ กทม.ช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะระบบระบายน้ำให้เชื่อมต่อกัน เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเร็วขึ้น

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 กรกฎาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและรอยต่อกรุงเทพมหานครช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะระบบระบายน้ำให้เชื่อมต่อกัน เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเร็วขึ้น

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากช่วงฤดูฝนแต่ละปีมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย จากฝนที่ตกในพื้นที่ แผ่นดินทรุด และน้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจและเส้นทางคมนาคมหลัก พบจุดเชื่อมต่อการระบายน้ำต่างๆยังทำได้ไม่ดีหากมีปริมาณฝนตกมาก ดังนั้น สทนช.จะเร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำของ จ.สมุทรปราการ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้น ซี่งที่ผ่านมาในพื้นที่นี้ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เช่น ชุมชนย่านแบริ่ง ถ.ศรีนครินทร์ เบื้องต้นให้กรมชลประทานและจังหวัดร่วมกันพิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองสำโรงให้การระบายน้ำเร็วขึ้น โดยยังมีสถานีสูบน้ำคลองสำโรงที่รับน้ำจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาพรวมมีเครื่องสูบน้ำอยู่ 25 เครื่อง และมีประสิทธิภาพใช้งานได้ทั้งหมด

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า ขณะนี้ระบบระบายน้ำใน จ.สมุทรปราการ ทั้งจุดสถานีคลองสำโรง คลองมหาวงศ์ และคลองพระองค์ไชยานุชิต พบมีความพร้อมเรื่องเครื่องจักร-เครื่องมือเพื่อเร่งระบายน้ำ หากเกิดมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก แต่ยังมีหลายจุดที่ยังเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดย สทนช. เร่งพิจารณาแผนงานโครงการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนงานที่ดำเนินการได้ทันที พร้อมพิจารณาแนวทางทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การขยายคลองมหาวงศ์ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองสำโรง เพื่อระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้ทันที หากแนวทางการขยายคลองเดิมมีข้อจำกัด อาจจะพิจารณาเป็นการวางท่อเชื่อมต่อเพื่อระบายน้ำแทน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.