• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือฝนต่อเนื่อง หลังคาดการณ์ประเทศไทยมีโอกาสเกิดพายุอีก 1-2 ลูก

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือฝนต่อเนื่อง หลังคาดการณ์ประเทศไทยมีโอกาสเกิดพายุอีก 1-2 ลูก

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และพระนครศรีอยุธยา ส่วนปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศอยู่ที่ 640 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ทำให้สถานการณ์น้ำน้อยยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 19 แล้วปริมาณฝนช่วงฤดูฝนของปีนี้ต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน ส่งผลให้ กอนช. กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือฤดูฝนปีนี้ หลังคาดการณ์มีโอกาสที่พายุจะเข้าประเทศไทยได้ 1 - 2 ลูก ทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ซักซ้อมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ต่างๆ เตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ กำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ ควบคู่กับเตรียมกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยให้ได้มากที่สุด และวางแผนการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเกษตรช่วงฤดูฝนให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมรับมืออุทกภัยและภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดยกรมชลประทานเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณฝายป้อหลวงฮ้อนและบ้านห้วยต้นผึ้ง ตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณชุมชนดอนงิ้ว ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสูบน้ำระบายน้ำท่วมขังช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.