สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 26 กรกฎาคม 2566
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ระบุ การออกดอกพร้อมกันของต้นลานจำนวนมากในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ พร้อมเตรียมเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะให้กระจายจากต้นแม่ เพื่อลดการผสมพันธุ์แบบพันธุกรรมขึ้น
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีต้นลานในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่กำลังออกดอกพร้อมกันกว่า 10,000 ต้น และกำลังจะตายว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เพราะต้นลานในอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นพืชในวงศ์ปาล์มชนิดหนึ่ง หรือเป็นชนิด “ลานป่า” ตามธรรมชาติต้นลานจะมีอายุประมาณ 20 - 80 ปี ออกดอกและติดผลเพียงครั้งเดียวก่อนยืนต้นตาย โดยเป็นพืชที่มีช่อดอกขนาดใหญ่ที่สุดของพืชในโลก สามารถติดผลได้มากกว่า 1,000 – 10,000 ผลต่อช่อดอกต่อ 1 ต้น โดยเมล็ดลานมีอัตราการงอกสูงมากเมื่อร่วงหล่นตามพื้นดินที่เหมาะสม มีช่องแสงสว่างเพียงพอ หรือมีสัตว์ป่า เช่น นก ค้างคาว กวางกินผลแล้วพาไปงอกไกลต้นแม่ จึงทำให้เมล็ดลานจากต้นแม่ 1 ต้น อาจจะงอกเป็นต้นกล้าในรุ่นถัดไปได้มากกว่า 1,000 ต้น ดังนั้น สาเหตุหลักการตายของต้นลานจำนวนมากในพื้นที่เกิดขึ้นจากการหมดอายุขัยและลักษณะการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของต้นลานเอง ประกอบกับ การเกิดปรากฎการณ์เอลนิโญปีนี้จนเกิดความแห้งแล้งผิดปกติ ส่งผลให้ต้นลานที่มีอายุมากใกล้หมดอายุขัยและไม่สมบูรณ์เร่งการออกดอกมากขึ้น
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ย้ำว่า แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวควรเก็บเมล็ดของต้นลานมาเพาะต้นกล้า หรือนำเมล็ดบางส่วนเข้าไปหว่านในป่าที่ต้นลานเคยขึ้นอยู่ให้กระจายออกไปไกลจากต้นแม่เก่า เพื่อช่วยลดการตายจากต้นกล้าที่ขึ้นเบียดเสียดกันมากเกินไปบริเวณใต้ต้นแม่ ขณะเดียวกันทุกปีที่มีต้นลานติดผลต้องช่วยกระจายเมล็ดให้ไกลออกไปจากต้นแม่เดิมเพื่อไปผสมกับต้นลานกออื่นๆลดโอกาสการผสมพันธุ์แบบพันธุกรรมใกล้ชิด และป้องกันการยืนต้นตายแบบผืนใหญ่ต่อเนื่องกัน