สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 25 กรกฎาคม 2566
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในงานเสวนา "การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างยั่งยืน" ว่า แผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของประเทศไทยได้น้อมนำแนวพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั้งเอลนีโญและลานีญา ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทยทั้งภัยแล้งและอุทกภัย แม้ว่าจะมีสิ่งก่อสร้างรองรับไว้จำนวนมากแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือรับมือได้ แต่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการเรียนรู้เรื่องภูมิสังคมและชุมชนต่างๆต้องมีความเข้มแข็ง เช่น การสร้างผังน้ำชุมชน 23 ลุ่มน้ำ คาดจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2567 พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าไปบริหารจัดการน้ำมากขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญพบไทยมีความเสี่ยงในอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีโอกาสเกิดน้ำทะเลหนุนสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต แล้งยังส่งผลให้อุณหภูมิไทยปีนี้สูงขึ้นจนสัมผัสได้และพฤติกรรมของฝนเปลี่ยนแปลงไป โดยฝนตกปริมาณมากๆในช่วงเวลาสั้นๆมากขึ้นในเขตเมือง ส่งผลให้ระบบระบายน้ำที่เคยออกแบบไว้ไม่รองรับจนเกิดปัญหาน้ำรอการระบายหรือน้ำท่วมขังช่วงระยะสั้นๆ สำหรับปีนี้ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงและอากาศร้อนจัด ซึ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงปัจจุบันพบฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติอยู่ที่ร้อยละ 24 ถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 40 จึงต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำปีนี้ให้สมดุล ควบคู่กับติดตามอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เริ่มร้อนขึ้น ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอนโซ่เข้าสู่เอลนีโญมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่มีโอกาสเกิดสูงขึ้นถึงร้อยละ 80 - 90 โดยเบื้องต้นประเมินสถานการณ์ไปถึงเดือนเมษายน 2567 มีโอกาสเกิดสูงถึงร้อยละ 80 - 90 เช่นกัน ดังนั้น คาดการณ์ปริมาณฝนหน้าแล้งปีหน้าช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 - 1 เมษายน 2567 จะน้อยกว่าปีนี้แน่นอน จึงจำเป็นต้องมีปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศให้มากที่สุดเพื่อบริหารความเสี่ยงหากเอลนีโญเกิดยาวนานถึงปี 2568
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า เอลนีโญยังกระทบต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อนหรือพายุจรน้อยลง แต่พายุกลับมีความรุนแรงมากขึ้น อย่างพายุตาลิม สทนช.คาดการณ์จะได้รับปริมาณน้ำฝนมาช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนในแหล่งต่างๆที่มีปริมาณน้ำน้อยประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ได้เพียง 600 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ส่วนช่วงนี้จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วยช่วยให้มีปริมาณน้ำมากขึ้น ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่หรือเขื่อนหลักช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน ควรต้องมีน้ำกักเก็บอย่างน้อยให้ได้ร้อยละ 80 หรือต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60