• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มกราคม 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 61,397 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 37,443 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา , แม่น้ำท่าจีน , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66

ปัจจุบันจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 7,309 ล้าน ลบ.ม. และขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว 4.72 ล้านไร่ โดย เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของแผนฯ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด

ทั้งนี้ เกษตรกรบางส่วนใช้น้ำค้างทุ่งในการเพาะปลูก จึงทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเพียงพอสนับสนุนให้เกษตรได้ใช้เตรียมแปลงเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งนี้

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลางบริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดโดยไม่กระทบต่อเกษตรกร

สำหรับช่วงระหว่างวันที่ 6 - 11 ม.ค.นี้ กรมอุตุนิยมวิมยา คาดการณ์ว่ายังคงมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ จัดเตรียมเครื่องจักร ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ในส่วนของพื้นที่ที่ปริมาณฝนลดลงแล้ว ให้ควบคุมและรักษาระดับน้ำใต้ดินในพรุให้สมดุล เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 มกราคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกในภาคใต้บางแห่งและบริหารจัดการน้ำหลังอุทกภัยเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (3 ม.ค.66) ว่า ภาพรวมประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นราธิวาส , ปัตตานี และสุราษฎร์ธานี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำหลังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้เข้าสู่สภาวะปกติ เช่น กรมชลประทาน สำรวจตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมรองรับฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ // การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนบางลางในช่วงเดือนมกราคม เพื่อวางแผนเก็บกักน้ำช่วงหน้าแล้ง พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในเดือนมกราคมด้วย // กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำรวจและรายงานสิ่งกีดขวางทางน้ำช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนปรับปรุงต่อไป

ทั้งนี้ ในภาคกลาง กอนช. ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ แล้วส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น 4 ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ คือ ช่วงวันที่ 6 – 12 มกราคม // ช่วงวันที่ 21 – 27 มกราคม // ช่วงวันที่ 4 – 10 กุมภาพันธ์ และช่วงวันที่ 18 – 24 กุมภาพันธ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 มกราคม 2566

วันที่ 2 มกราคม 2566 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมกับนางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม คณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมและรับทราบข้อมูลการทำการเกษตร ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ และความต้องการของเกษตรกรที่มีการทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนมและอำเภอธาตุพนม ประกอบไปด้วย กลุ่มเกษตรกรปลูกแปลงผักเกษตรอินทรีย์ริมฝั่งโขงหน้าวัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม, กลุ่มเกษตรกร ปลูกข้าวโพดหวาน ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมืองนครพนม, กลุ่มเกษตรกร ปลูกกะหล่ำปลี ริมฝั่งโขง บ้านบึงหล่ม ตำบลดงขวาง อำเภอเมืองนครพนม, กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ (หอมแบ่ง/ผักคะน้า) ตำบลกุดฉิม อำเภอธาตุพนม, กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ (มันแกว) ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม, กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผสมผสาน ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ ร่วมกับข้อมูลการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ก่อนที่จะมาส่งเสริมให้มีการผลิต พืช ผัก ผลไม้ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ไว้จำหน่ายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก และสนับสนุนภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมต่อไปในอนาคต

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นอีกพื้นที่ที่มีความเหมาะในการทำการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะมีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชนานาชนิด และจังหวัดนครพนมก็มีแนวนโยบาย ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากริมฝั่งแม่น้ำโขงให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบออกานิคทดแทนการทำนาปี และนาปรัง ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด หอมแบ่ง พริก มะเขือเทศ มันแกวธาตุพนม ลิ้นจี่ขามเฒ่า และพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 มกราคม 2566

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเติบโต ของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ซึ่งเป็นอู่น้ำตาลที่สำคัญของโลก การผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายสร้างรายได้หลายแสนล้านบาทเข้าสู่ประเทศในแต่ละปี โดยมีนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายขององค์กรสหประชาชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจ สีเขียว หรือ Bio-Circular Green Economy (BCG) อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อน BCG

โดยผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ในภาคการผลิตพลังงาน เช่น เอทานอลจากกากน้ำตาล เชื้อเพลิงแข็งจากชีวมวลกากอ้อย หรือก๊าซชีวมวลจากการหมักน้ำกากส่า ผลพลอยได้ส่วนอื่น เช่น กากหม้อกรอง น้ำกากส่าที่ผ่านการหมัก ก็ยังสามารถนำไปใช้เพิ่มผลผลิต ในภาคการเกษตรกรรมเพื่อลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและปรับปรุงดิน มีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากโรงงานน้ำตาลสามารถเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ ประเด็นที่ท้าทายที่ภาครัฐควรจะนำไปพิจารณาเพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเป็นไปอย่างยั่งยืน ดังนี้

1.สร้างความชัดเจนในประเด็น "ของเสียอุตสาหกรรม" และ "ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรม"

รวมทั้ง กำหนดแนวทางการจัดการที่เหมาะสม เปิดช่องเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์สูงสุดจากผลพลอยได้ หรือของเสียอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ควรมีการพิจารณาขับเคลื่อนกฎหมาย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

2.สร้างกลไกในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยอาจส่งเสริมให้เอกชนหรือสถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการดำเนินงานดังกล่าว และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม

3.วางแผนการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กระจายตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างทั่วถึง

4.ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์ผลพลอยได้หรือของเสียอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม

5.ดำเนินนโยบายการป้องกันการเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัดควบคู่กับนโยบายเสริมแรงเชิงบวก

6.ส่งเสริมเกษตรกรแปลงเล็กให้เข้าถึงเทคโนโลยีในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว โดยอาจจัดอยู่ในรูปสหกรณ์หรือสมาคม

ทั้งนี้ เกษตรกรแปลงเล็กมีต้นทุนในการเพาะปลูกต่อพื้นที่สูงกว่าเกษตรกรแปลงใหญ่ และมีความเปราะบางต่อความผันผวนจากปัจจัยภายนอกสูงกว่า ซึ่งการศึกษาข้อมูลดังกล่าวนี้ เป็นความร่วมมือกับ University of York สหราชอาณาจักร ได้รับการสนับสนุนจาก British Council ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) ปีงบประมาณ 2564-2565


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 ธันวาคม 2565

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ พร้อมห่วงใยสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสภาพอากาศหนาว จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสภาพอากาศหนาวเย็น เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ พร้อมรณรงค์สร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชน งดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก งดการเผาในที่โล่ง ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือในการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 จากการเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีพื้นที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ให้ทำการลดฝุ่นละอองในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน

นายกรัฐมนตรี ยังฝากความห่วงใยโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว ให้ระมัดระวังและดูแลตัวเองเป็นพิเศษ และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ PM2.5 อย่างใกล้ชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศ สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจำเป็นต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองเมื่ออยู่ข้างนอกอาคาร ประชาชนสามารถติดตามข้อมูล ข่าวสารได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai หรือ แฟนเพจศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 ธันวาคม 2565

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์คุณภาพอากาศในประเทศไทยช่วงปีใหม่จะอยู่ในเกณฑ์ดีถึงวันที่ 6 มกราคม 2566

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วงเทศกาลปีใหม่ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึง 6 มกราคม 2566 จะอยู่ในช่วงเกณฑ์ที่ดีไปจนถึงดีมากทุกพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวจะมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเปิดและไม่พบเจอสภาพอากาศที่นิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังที่ค่อนข้างแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ได้ดี ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ”


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 ธันวาคม 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบสำนักอุทยานแห่งชาติทั้งหมด พร้อมเตรียมขอดูเอกสารหลักฐานและข้อร้องเรียนของ ปปป. นำมาเปรียบเทียบกับหนังสือแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกหน่วยงานในสังกัด โดยเน้นย้ำความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น หลังเกิดกรณีของ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขณะที่ความคืบหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินการสืบสวนสอบสวนจะทำไปตามระเบียบและกฎหมายผิดว่าไปตามผิด และจะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกับผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 16 สำนัก 5 สาขา ส่วนการแต่งตั้งรักษาการขึ้นมาทำหน้าที่แทนในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งดูโดยตรงเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม เบื้องต้นตั้งแต่เกิดเรื่องยังไม่ได้มีโอกาสพูดคุยโดยตรงกับผู้ถูกกล่าวหา เพราะเกรงจะถูกมองว่าฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายของส่วนราชการ จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานสืบสวนสอบสวน สำหรับเส้นทางการเงินที่เรียกเก็บจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลอื่นหรือไม่อยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ กรณีที่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ร้องเรียนว่าถูกข่มขู่ ขอให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการคุ้มครองพยาน เนื่องจากกระทรวงฯไม่ได้มีอำนาจในหลายอย่างที่จะคุ้มครองหรือดำเนินการได้ เพราะตำรวจมีอำนาจในการคุ้มครองมากกว่า

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงฯยื่นประสานกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ขอดูหลักฐานและเอกสารข้อร้องเรียน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับหนังสือคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่กับข้อร้องเรียนดังกล่าว เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมตรวจสอบสำนักอุทยานแห่งชาติทุกแห่งด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 ธันวาคม 2565

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (28 ธ.ค.65) ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เป็น 8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันถึงวันที่ 29 ธันวาคมนี้ เนื่องจากสถานการณ์น้ำด้านท้ายน้ำลดลงใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่เขื่อนปัตตานีสามารถบริหารจัดการน้ำโดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ และเป็นการรักษาสมดุลน้ำของเขื่อนบางลาง

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้ติดตามน้ำท่วมในภาคใต้ตอนล่างหลังสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้กำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยโดยเร็ว พร้อมเร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่ชำรุดเสียหาย ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาดให้สอดคล้องสถานการณ์ และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในจุดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.