สำนักงานนโยบายและแผนทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 9 กันยายน 2566
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1086551
แน่นอนว่า “พลาสติก” เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” เพราะย่อยสลายยาก และก่อให้เกิดขยะสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use) ที่ใช้กันตามร้านค้า ร้านอาหาร
ด้วยความที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ หลายคนจึงคิดมองว่าน่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้มากเท่ากับพลาสติก แต่จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า แก้วกระดาษ และ หลอดกระดาษ มีสารประกอบ PFAS สังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “สารเคมีอมตะ” มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า สารเปอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (Perfluoroalkyl Substances) เคลือบอยู่บนพื้นผิว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไม่อ่อนตัวง่ายเมื่อเปียกน้ำ แม้ว่าสารดังกล่าวจะพบในปริมาณต่ำ แต่หากสะสมไปนานๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้
“สารเคมีอมตะ” คืออะไร ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?
“สารเคมีอมตะ” หรือ “PFAS” เป็นหนึ่งในสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น นิยมใช้อย่างแพร่หลายใน “บรรจุภัณฑ์อาหาร” เนื่องจากช่วยป้องกันความชื้นและดูดซึมไขมันได้ดี รวมทั้งพบได้ในของใช้ทั่วไป เช่น กระดาษห่ออาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
พบสารเคมีอมตะใน “หลอดดูดน้ำกระดาษ” มากถึง 90%
งานวิจัยจากวารสาร Food Additives and Contaminants ระบุว่า จากการทดสอบหลอดดูดน้ำกระดาษในยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าหลอดกระดาษ 18 แบรนด์จากทั้งหมด 20 แบรนด์ มี “สารเคมีอมตะ” ที่มีอายุการใช้งานยาวนานและอาจเป็นพิษ ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า ไปจนถึงสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากพวกมันสลายตัวได้ยากมาก
“แก้วกระดาษ” ที่อาจเป็นพิษต่อตัวอ่อนของแมลง
นอกจากนี้งานวิจัยที่เผยแพร่ใน Mirage News ยังพบว่า “แก้วกระดาษ” โดยเฉพาะแบบใช้ครั้งเดียวก็พบปัญหาเดียวกับหลอดดูดน้ำกระดาษ นั่นก็คือ มีสารเคมีอมตะเคลือบอยู่บนผิวผลิตภัณฑ์ ที่อาจส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต