• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เร่งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยปีนี้ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน เพื่อแจ้งเตือนภัยใน 6 ภูมิภาคของประเทศ โดยเริ่มนำร่องพื้นที่แรกภาคเหนือในจังหวัดเชียงราย

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรน้ำ ได้ทำโครงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในภาคเหนือบริเวณ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เพื่อซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) และเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ของรัฐบาล หลังได้ถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมาพบอุทกภัยในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เกิดจากฝนตกหนัก จึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ

สำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯนี้ เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะและจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย มีขั้นตอนการฝึกด้วยการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า แบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ตือ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และส่วนประชาสัมพันธ์ ภาพรวมกำหนดพื้นที่ฝึกซ้อมไว้ 6 ภูมิภาค ใน 6 จังหวัด คือ เชียงราย ขอนแก่น เพชรบุรี ยะลา ลพบุรี และปราจีนบุรี ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคมนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 มิถุนายน 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หลังจัดสรรน้ำไปแล้วเกือบ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ภาพรวมแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เบื้องต้นจัดสรรน้ำไปแล้ว 2,799 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 51 ของแผนทั้งหมด ถือเป็นปริมาณน้ำจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เนื่องจากไม่สามารถปลูกข้าวนาปีโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักได้จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะนี้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาพบเพาะปลูกไปแล้ว 5.84 ล้านไร่ หรือร้อยละ 71 ของแผนการเพาะปลูกช่วงฤดูฝนปีนี้ ซึ่งประเทศไทยจะประสบสภาวะเอลนีโญต่อเนื่องจากเอลนีโญกำลังอ่อนในปัจจุบันจะกลายเป็นเอลนีโญกำลังปานกลางช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม จึงต้องใช้ฝน ONE MAP มาประเมินสถานการณ์น้ำต้นหน้าแล้ง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 คาดว่า จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั้งประเทศ 46,177 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 65 ของความจุรวม พบเป็นน้ำใช้การเพียง 22,635 ล้านลูกบาศก์เมตร หริอร้อยละ 48 โดยปริมาณน้ำใช้การนี้มีจำนวนน้อยกว่าปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา หากมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็จะมีน้ำเพียงพอ

รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้จะยังมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก จึงอาจเกิดอุทกภัยได้บางพื้นที่ จึงให้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ จัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศ คือ เชียงราย ขอนแก่น เพชรบุรี ยะลา ลพบุรี และปราจีนบุรี ขณะเดียวกัน สทนช.ได้เร่งให้แต่ละหน่วยงานพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน ครอบคลุมแหล่งน้ำธรรมชาติและทางน้ำธรรมชาติ ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการใช้น้ำช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 โดยให้เกษตรกรงดเพาะปลูกพืชต่อเนื่องแต่เน้นการเพาะปลูกพืชน้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำใช้จนถึงปีหน้า


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 มิถุนายน 2566

คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เห็นชอบการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและเอกชน 15 คำขอ และอนุญาตปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 13 คำขอ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ได้พิจารณาการอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนเข้าใช้พื้นที่และทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และการขออนุญาตปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและเอกชน 15 คำขอ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากรวดและป่าเขาพลอง เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี // กรมทรัพยากรน้ำ ขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูลำนางรอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้ง ได้เห็นชอบการขออนุญาตปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 13 คำขอ โดยขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน โปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ พร้อมดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการทบทวนและติดตามผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผลการดำเนินงานโครงการจัดที่ดินทำกินของรัฐบาล การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 การปรับลดเนื้อที่คำขออนุญาตโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ความเห็นชอบในหลักการไว้แล้ว


สำนักข่าว กรมปราะชาสัมพันธ์  26 มิถุนายน 2566

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำชับให้กรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำหลากและผลกระทบเอลนีโญ โดยเฉพาะความคล่องตัวของการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำไว้ใช้แล้งหน้า

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า กอนช. ได้ติดตามการดำเนินการแผนรับมือฤดูฝนปีของกรมชลประทานหลังวางแผนล่วงหน้าเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ ควบคู่กับดำเนินการตาม 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทาน คือ กักเก็บน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ระบบชลประทานเร่งระบาย Standby เครื่องมือ เครื่องจักร และแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์แนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะการพิจารณาระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ควบคู่กับเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งถัดไปด้วย ขณะเดียวกันโครงการชลประทานในพื้นที่ยังวางแผนติดตั้งเครื่องจักรกลต่างๆไว้ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีการก่อสร้างกำชับให้วางมาตรการเพิ่มเติมแก้ปัญหาการกีดขวางทางระบายน้ำ โดยให้บริเวณที่มีการก่อสร้างสามารถระบายน้ำได้ตามศักยภาพของคลองอย่างเต็มประสิทธิภาพและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งต้องสอดรับกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์และตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากทางตอนบนและปริมาณฝนในพื้นที่ก่อนจะระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้บริหารจัดการนำอย่างเป็นระบบและพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงรับมือฝนทิ้งช่วงและช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 19 จังหวัด และเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ 13 แห่ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (25 มิ.ย.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.เชียงราย จันทบุรี บึงกาฬ สตูล ลพบุรี และกาญจนบุรี ทำให้ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากช่วง 1 - 3 วัน ในภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และตราด ทั้งนี้ กอนช. ยังได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผน 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงรับมือฝนทิ้งช่วงและช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 19 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ชัยนาท สิงห์บุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เลย ขอนแก่น หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พร้อมช่วยเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 13 แห่ง คือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำคลองตรอน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำกระเสียว เขื่อนอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ อ่างเก็บน้ำหนองนาวัว อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า และเขื่อนปราณบุรี

ขณะที่ กรมชลประทาน เร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการส่งน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 มิถุนายน 2566

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งรวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยกปลาดาวขึ้นมาถ่ายภาพและปีนเกาะปะการังบริเวณเกาะราชา จ.ภูเก็ต

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงกรณีมีคลิปนักท่องเที่ยวยกปลาดาวขึ้นมาถ่ายภาพ และเกาะปีนป่ายปะการังในพื้นที่เกาะราชา ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากไกด์ท่องเที่ยวพบเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงได้ประสานกองกำกับการตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ตและสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เพื่อขอรายละเอียดเจ้าของเรือและข้อมูลกลุ่มนักท่องเที่ยวหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาตรา 22 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเภทหาด ปะการัง กัลปังหา หรือสิ่งที่มีชีวิตในแนวปะการังในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ เกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2566 ข้อ 4 ภายในพื้นที่ตามข้อ 3 ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมกีฬาทางน้ำหรือกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำทุกชนิดที่มีหรืออาจมีผลกระทบกับบริเวณแนวปะการัง และการจับ เก็บ ขังล่อปลา หรือครอบครองสัตว์น้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวดู โดยมีบทลงโทษตาม มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดตาม มาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้กำลังเร่งรวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรฉลอง จังหวัดภูเก็ต เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 มิถุนายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปัจจุบัน (22 มิ.ย .66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,194 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 37,143 ล้านลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,810 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 14,061 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำ อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงเป้า สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมโดยไม่กระทบต่อคุณภาพน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน ตลอดจนความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน และเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงต้นฤดูฝนนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังตกหนักบางพื้นที่ในภาคภาคตะวันออก ขณะที่กรมเจ้าท่า เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและท้ายเขื่อนพระราม 6

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 มิ.ย.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ระยอง ยะลา น่าน สมุทรปราการ กาญจนบุรี และบึงกาฬ ทั้งนี้ กอนช. ยังได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผน 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรมเจ้าท่า เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืช เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำป้องกันการเกิดน้ำท่วมขังช่วงฤดูฝน ซึ่งเน้นดำเนินการในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และท้ายเขื่อนพระราม 6 จังหวัดสระบุรี คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กิโลเมตร // แม่น้ำป่าสัก ระยะทาง 50 กิโลเมตร // แม่น้ำน้อย ระยะทาง 42 กิโลเมตร // แม่น้ำลพบุรี ระยะทาง 67 กิโลเมตร // เหนือเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง ระยะทาง 20 กิโลเมตร // แม่น้ำท่าจีนสายเก่า ระยะทาง 10 กิโลเมตร และคลองสาขารวมระยะประมาณ 400 กิโลเมตร ปัจจุบันกำจัดผักตบชวาไปแล้วบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา // ตำบลแคตก อำเภอบาง // คลองบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา // แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบึงหาดกองสิน อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท และคลองป่าแสก ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ขณะที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบประปาบาดาลในจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณบ้านประดู่เหลี่ยม หมู่ที่ 17 ตำบลหนองปลิง และบ้านหนองโสน // หมู่ 1 ตำบลหนองโสน อำเภอเลาขวัญ // บ้านสี่กั๊กหมู่ที่ 6 และบ้านทุ่งกระบ่ำ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ


  1. ก.ทรัพย์ รณรงค์และสร้างความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคกลางลด - เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและการลดปริมาณขยะอาหาร
  2. กรมทรัพยากรธรณี ย้ำ กทม.มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า
  3. กรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศเมียนมา จนประชาชนรับรู้แรงสั่นไหวในหลายพื้นที่ เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย
  4. กอนช. กำชับให้เร่งปรับปรุงเขื่อนลำปาวเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำแก้ปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำริมฝั่งลำปาวและบริเวณลำปาวบรรจบแม่น้ำชี
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.