• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทันเพิ่มเติมใน 23 พื้นที่ ช่วงวันที่ 18 - 21 กรกฎาคมนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 10 หลังพบพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 18 - 19 กรกฎาคม ส่วนช่วงวันที่ 16 - 20 กรกฎาคม ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พร้อมคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทันช่วงวันที่ 18 - 21 กรกฎาคมเพิ่มเติมจากประกาศ กอนช. ฉบับที่ 9 คือ ภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ บริเวณอำเภอแม่แจ่ม จอมทอง ฮอด และอมก๋อย , น่าน บริเวณอำเภอนาน้อย , อุตรดิตถ์ บริเวณอำเภอฟากท่า , พิษณุโลก บริเวณอำเภอเนินมะปราง และวังทอง , เพชรบูรณ์ บริเวณอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หล่มสัก วิเชียรบุรี และบึงสามพัน // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน จ.หนองคาย บริเวณอำเภอสังคม โพธิ์ตาก และท่าบ่อ , บึงกาฬ บริเวณอำเภอพรเจริญ ศรีวิไล โซ่พิสัย และเมืองบึงกาฬ , สกลนคร บริเวณอำเภอกุสุมาลย์ วานรนิวาส คำตากล้า บ้านม่วง และอากาศอำนวย , เลย บริเวณอำเภอนาด้วง และปากชม , หนองบัวลำภู บริเวณอำเภอสุวรรณคูหา และนากลาง , อุดรธานี บริเวณอำเภอทุ่งฝน หนองหาน พิบูลย์รักษ์ น้ำโสม นายูง บ้านผือ และกุดจับ , นครพนม บริเวณอำเภอปลาปาก เรณูนคร นาแก เมืองนครพนม และธาตุพนม , มุกดาหาร บริเวณอำเภอดงหลวง , ชัยภูมิ บริเวณอำเภอคอนสวรรค์ หนองบัวแดง และแก้งคร้อ , อุบลราชธานี บริเวณอำเภอวารินชำราบ นาจะหลวย เดชอุดม สำโรง น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น สิรินธร พิบูลมังสาหาร และเมืองอุบลราชธานี , นครราชสีมา บริเวณอำเภอปากช่อง , บุรีรัมย์ บริเวณอำเภอกระสัง , สุรินทร์ บริเวณอำเภอสังขะ ศีขรภูมิ ลำดวน เมืองสุรินทร์ เขวาสินรินทริ์ บัวเชด และศรีณรงค์ , ศรีสะเกษ บริเวณอำเภอขุขันธ์ ภูสิงห์ ปรางค์กู่ เมืองศรีสะเกษ กันทรารมย์ อุทุมพรพิสัย ยางชุมน้อยน้ำเกลี้ยง โนนคูณ พยุห์ กันทรลักษ์ วังหิน เบญจลักษ์ ศรีรัตนะ ราศีไศล และไพรบึง

ขณะที่ ภาคกลาง ใน จ.กาญจนบุรี บริเวณอำเภอทองผาภูมิ และสังขละบุรี , สระบุรี บริเวณอำเภอแก่งคอย มวกเหล็ก และวิหารแดง // ภาคตะวันออก ใน จ.จันทบุรี บริเวณอำเภอเมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ นายายอาม และเขาคิชฌกูฏ , ตราด บริเวณอำเภอแหลมงอบ และเขาสมิง ทั้งนี้ กอนช. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและลอกท่อระบายน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักบางแห่งในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการฝนหลวงจนเกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางในพื้นที่ 14 จังหวัด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (14 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นได้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.นครสวรรค์ ศรีสะเกษ จันทบุรี นราธิวาส และลพบุรี ทำให้ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังช่วงวันที่ 15 – 20 กรกฎาคมนี้ ในพื้นที่ 21 จังหวัดทั่วประเทศ คือ จ.เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง และนราธิวาส

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการฝนหลวงจนเกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางใน จ.แพร่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ นครราชสีมา กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี สระแก้ว ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำแม่สาย อ่างเก็บน้ำแม่ถาง อ่างเก็บน้ำแม่คำปอง อ่างเก็บน้ำน้ำแหง อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ เขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง เขื่อนแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม อ่างเก็บน้ำบ้านกระหร่างสาม อ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ อ่างเก็บน้ำห้วยพุน้อย และอ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  13 กรกฏาคม 2566

ที่มา : springnews (https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/840945)

ชุมชนในกรุงเทพมหานครมีมากกว่า 2,000 ชุมชน หนึ่งในนั้นมีชุมชนขนาดเล็กที่มีซอยแคบ ทำให้ยากต่อการเก็บขยะ จึงได้มีนวัตกรรมรักษ์โลก ‘รถขยะไฟฟ้าจิ๋ว’ ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะในชุมชนที่มีพื้นที่เล็กได้ง่ายขึ้น

          ขยะเป็นปัญหาสำคัญของสังคมเมือง โดยเฉพาะชุมชนขนาดเล็กที่รถขยะไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการเก็บขยะจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องมลพิษและปัญหาด้านสาธารณะที่เกิดจากการหมักหมมของขยะซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ปัญหาการจัดเก็บขยะในชุมชนที่มีพื้นที่แคบ คือ รถขยะขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เจ้าหน้าต้องชักลากขยะออกมาจากชุมชนซึ่งบางชุมชนต้องใช้ระยะทาง 1-2 กิโลเมตร ทำให้การเก็บขยะล้าช้า ด้วยความยากลำบากและความล้าช้าในการทำงาน อาจทำให้ขยะเกิดการสะสมของสิ่งสกปรก ส่งผลให้เกิดมลพิษและปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชม เนื่องจากการสะสมของขยะและสิ่งปฏิกูล อาจเป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อโรคและพาหะนำโรคต่างๆ อีกทั้งยังทำให้ทัศนียภาพในชุมชนไม่น่ามอง ล่าสุดมีการคิดค้นนวัตกรรมรักษ์โลก สามารถช่วยให้การเก็บและจัดการขยะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ‘รถขยะไฟฟ้าจิ๋ว’ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด ในการเป็นผู้ผลิตและผู้สนับสนุนงบประมาณในการผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นผู้ร่วมออกแบบรถขยะไฟฟ้าจิ๋ว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการขนถ่ายขยะออกจากชุมชนที่มีซอยแคบที่รถขยะไม่สามารถเข้าถึงได้จากการทดลองใช้งานในชุมชนวัดเลียบราษฎร์บำรุง ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่ในการทดลองใช้รถขยะไฟฟ้าจิ๋ว ปรากฏว่าการจัดเก็บขยะรวดเร็วขึ้นและลดปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บ จากเดิมต้องใช้เจ้าหน้าที่ชักลากขยะออกมาจากชุมชนซึ่งเป็นระยะทางไปกลับ 2 กิโลเมตร รวมถึงช่วยลดปัญหาขยะตกค้างในชุมชน และช่วยให้สุขภาพของเจ้าหน้าที่ดีขึ้นส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 กรกฎาคม 2566

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายเสนอการเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยการนำภารกิจของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) มาผนวกรวมกัน นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความตั้งใจของไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ยังคงดำเนินการตามภารกิจเดิมของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นจุดแข็ง และมุ่งเน้นในการตั้งรับปรับตัว และลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับเครือข่าย เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกเหนือจากนี้ ประชาชนก็จะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 กรกฎาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมพบฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงร้อยละ 3

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำว่า ภาพรวมปีนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มบางพื้นที่จะประสบปัญหาอุทกภัยแม้จะเข้าสู่สถานการณ์เอลนีโญแล้ว ส่วนใหญ่เกิดอุทกภัยรูปแบบน้ำท่วมขังในระยะเวลาไม่ยาวนานมาก จึงต้องระวังเกิดฝนตกหนักจนเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 15 – 19 กรกฎาคม โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายขอบ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน แต่บางพื้นที่ประสบปัญหาฝนตกน้อยลงเช่นกันผลกระทบจากเอลนีโญ ซึ่งปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศจนถึงปัจจุบันพบมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 24 ถือว่าดีกว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ต่ำกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 25 คาดการณ์ปริมาณฝนที่ตกลงมาในรอบสัปดาห์นี้จะช่วยเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนต่างๆได้ ซึ่งช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้มีแนวโน้มฝนมากขึ้นด้วย แบ่งเป็น เดือนสิงหาคมจะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงร้อยละ 3 ส่วนเดือนกันยายนจะมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงร้อยละ 8 จากนั้นฝนจะเริ่มหายไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลาง โดยเฉพาะภาคกลางเสี่ยงเกิดภัยแล้งสูงที่สุด ประกอบกับ ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เช่น เขื่อนสิริกิติ์ บึงบอระเพ็ด อ่างเก็บน้ำปราณบุรี อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำจุฬาลงกรณ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 กรกฎาคม 2566

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยก่อนการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2566 ถึงการวางมาตรการป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า เนื่องจากช่วงเช้าที่ผ่านมามีฝนตกในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ แต่สถานการณ์โดยรวมสามารถควบคุมได้ด้วยดีและคาดว่าจะเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ โดยได้เตรียมมาตรการรับมือทั้งในเบื้องต้นและระยะยาว เช่น การตรวจสอบและแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วมทั่ว กทม. กว่า 700 จุด ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 500 กว่าจุด และจุดที่ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ ก็ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ โดยเชื่อว่าบางจุดก็ยังจะต้องประสบเหตุน้ำท่วมขังอยู่บ้าง เนื่องจากด้านพื้นที่กายภาพที่เป็นที่ลุ่ม หรือจุดต่ำ แต่การระบายน้ำจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง รวมถึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุน้ำท่วมตลอดเวลา เนื่องจากบางครั้งเพียงเศษขยะไม่กี่ชิ้นที่ไปอุดตันการระบายน้ำ ก็อาจทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ขึ้นได้

ทั้งนี้ ยังมีการวางมาตรการรับมือเหตุฝนตกต่อเนื่อง ด้วยการวางระบบระบายน้ำฝนให้มีความราบรื่นที่สุด ส่วนระยะยาวจะมีการย้ายประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนรุกล้ำคลอง ให้ขึ้นมาอาศัยอยู่ในบ้านมั่นคง เพื่อให้การขุดลอกคูคลองรอบกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น รวมถึงได้มีการประสานงานกับกรมชลประทานเพื่อจัดการระบายน้ำในคลองสายต่างๆ ที่ยังคงมีปัญหาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ พร้อมยังระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ในพื้นที่ 12 จังหวัดต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (9 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา พิษณุโลก กาญจนบุรี จันทบุรี สุพรรณบุรี และเลย โดยยังต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด // ภาคใต้ บริเวณ จ.ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล พัทลุง ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรุงเทพมหานคร เร่งตรวจสอบและล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เตรียมพร้อมรับฝน เพื่อให้ท่อระบายน้ำไหลได้สะดวก รวดเร็ว ไม่อุดตัน เช่น ถนนตรีเพชร ช่วงตรงข้ามห้างดิโอลด์สยาม เขตพระนคร , ถนนพรานนก - พุทธมณฑลสาย 4 ช่วงตัดถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตบางแค , รางรับน้ำฝน ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค , หมู่บ้านพูนสินไพรเวซี่ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง และใกล้คลองพระยาเพชรฝั่งขาเข้า เขตลาดกระบัง

ขณะที่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เร่งแก้ปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำประปาที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แหล่งน้ำดิบของเกาะสมุยลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วกระทบต่อประชาชนและธุรกิจท่องเที่ยว จึงเร่งส่งน้ำประปาผ่านระบบท่อลอดใต้ทะเลจาก กปภ.สาขาสุราษฎร์ธานี และสาขากาญจนดิษฐ์ มายังเกาะสมุยเฉลี่ยวันละ 24,000 ลูกบาศก์เมตร จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ รวมถึง จัดเตรียมโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อส่งจ่ายน้ำการแก้ปัญหาในระยะยาว ส่วนหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ขุดเจาะบ่อน้ำตื้นให้กับประชาชนแก้ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชน โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ 150 ครัวเรือน รวม 372 คน ในพื้นที่ ต.สองห้อง อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ พร้อมเร่งเก็บกำจัดวัชพืช เพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำไว้ใช้และนำน้ำไปใช้อุปโภคและทำการเกษตรได้สะดวกขึ้นด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กรกฎาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 และ 10 ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท พร้อมกล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน จะมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าทั้งในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำล้นตลิ่งได้ แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญ ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น จึงกำชับโครงการชลประทาน โครงการก่อสร้าง สำนักเครื่องจักรกลโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน ให้เฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติ สอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเข้าช่วยพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน ( 8 ก.ค.66) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำ 10,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,557 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ไปแล้ว 3,391 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.) ภาพรวมการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 6.43 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ (แผน 8.05 ล้านไร่) โดยกรมชลประทานได้ปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.