• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  23 กรกฎาคม 2566

ที่มา : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/841303

ทุกวันนี้มลพิษเกิดขึ้นได้ทุกทาง ส่วนหนึ่งมาฝีมือมนุษย์ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ. มีภารกิจในการติดตามตรวจสอบ ประเมินผลและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการตรวจวัดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด รวมถึงนำข้อมูลไปใช้จัดทำแผนจัดการและควบคุมมลพิษ และการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งภารกิจดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศและของนานาชาติ เครื่องมือมีความเที่ยงตรง มีกระบวนการเก็บข้อมูลหรือเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้องน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้มว.ได้สนับสนุนการดำเนินงานคพ.จากการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งข้อตกลงฉบับล่าสุด (ระยะที่ 4) สิ้นสุดไปเมื่อปี 2565 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ก่อประโยชน์กับคพ.โดยเฉพาะการพัฒนาการสอบเทียบเครื่องมือวัด และพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศ รวมทั้งการนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือไปใช้ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการตรวจวัดมลพิษและสิ่งแวดล้อม คพ. และ มว. จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาด้านมาตรวิทยาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันในช่วง 3 ปี

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 จะครอบคลุมประเภทของมลพิษ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจวัดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด ด้านการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ด้านการตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือน และด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยให้ความสำคัญกับการสอบเทียบเครื่องวัดฝุ่นละออง PM2.5 แบบ low cost sensor เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังค่าฝุ่นละออง และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย

ด้านพลตำรวจโท พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ มีบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ ด้านการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ที่สามารถสอบย้อนกลับไปยังหน่วยวัดมาตรฐานสากลได้ และมีนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านมาตรวิทยาผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ให้กับภาครัฐและเอกชนภายในประเทศ ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนภารกิจของกรมควบคุมมลพิษ ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนามาตรฐาน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นถึงวันที่ 30 กรกฎาคมนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก จ.พังงา ชัยภูมิ ตราด กรุงเทพมหานคร สุโขทัย และกาญจนบุรี โดยกอนช.ได้เฝ้าระวังปริมาณน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คือ สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุดช่วงวันที่ 23 - 25 กรกฎาคม ประมาณ 1.20 - 1.60 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีเชียงคาน จ.เลย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ช่วงวันที่ 25 - 27 กรกฎาคม ประมาณ 0.80 - 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง และสถานีหนองคาย จ.หนองคาย จนถึง สถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ช่วงวันที่ 26 - 30 กรกฎาคม ประมาณ 1.00 -1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง จึงต้องระวังระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยังคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน พบมีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดินถล่มในจังหวัดสุรินทร์ บริเวณอำเภอชุมพลบุรี // จันทบุรี บริเวณอำเภอขลุง เมืองจันทบุรี เขาคิชฌกูฏ มะขาม ท่าใหม่ โป่งน้ำร้อน // ตราด บริเวณอำเภอเมืองตราด เกาะช้าง บ่อไร่ แหลมงอบ เขาสมิง // ระยอง บริเวณอำเภอบ้านค่าย // ชุมพร บริเวณอำเภอเมืองชุมพร // สตูล บริเวณอำเภอควนกาหลง // พังงา บริเวณอำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า, ท้ายเหมือง // ระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ กระบุรี สุขสำราญ ละอุ่น // สุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอพนม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 กรกฎาคม 2566

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ระยะนี้ร่องมรสุมยังคงพัดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ในวันนี้จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ทั่วทุกภาคของไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะจังหวัดด้านรับมรสุมขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย เดินเรือด้วยความระมัดระวังหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 2566 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ฝนจะน้อยลงบ้างแต่ยังคงต้องติดตามการเคลื่อนตัวของพายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ตอนบน ที่คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นได้อีก โดยพายุนี้ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 20 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักบางแห่ง พร้อมน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากต่อเนื่องในพื้นที่ 23 จังหวัด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (20 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา สุรินทร์ พะเยา ระยอง ลพบุรี และกาญจนบุรี ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 21 กรกฎาคมในภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ // ภาคกลาง บริเวณ จ.กาญจนบุรี และสระบุรี // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และตราด พร้อมเร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยจากพายุตาลิมและร่องมรสุม โดยในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของพายุตาลิม ร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยพื้นที่มีฝนมากบริเวณชายขอบของประเทศ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ เช่น จ.ระนอง จ.ชุมพร และเกิดเหตุดินสไลด์บางแห่ง ปัจจุบันพายุตาลิมอยู่บริเวณประเทศเวียดนามตอนบนได้ลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว และจะค่อยๆสลายตัวในระยะถัดไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 กรกฎาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการ “น่านแซนด์บอกซ์” ต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าให้กับประชาชน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการภาครัฐ กล่าวว่า คณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน ครั้งที่ 1 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดทำข้อตกลงการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลเกษตรกรรายแปลงที่ทำกินในเขตป่าตามกฎหมายจังหวัดน่าน ระหว่างกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ธนาคารกสิกรไทย เพื่อเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดน่าน หรือ “น่านแซนด์บอกซ์” ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดน่านตามโครงการน่านแซนด์บอกซ์ต่อเนื่อง ทั้งการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า (คทช.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์ ด้วยการแก้ปัญหาในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 , 4 , 5 ได้อนุญาตพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปจัดที่ทำกินครบถ้วนทั้งจังหวัดแล้ว 41 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 272,000 ไร่ ส่วนพื้นที่หลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ได้จัดทำข้อมูลส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดทำคำขออนุญาตแล้ว 36 ตำบล รวม 184 หมู่บ้าน ขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 ได้จัดทำโครงการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้วรวม 15 โครงการ เนื้อที่ประมาณ 950,000 ไร่ เมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนเรียบร้อยแล้วจะดำเนินการอนุมัติโครงการต่อไป

สำหรับในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ปัจจุบันได้สำรวจราษฎรที่อาศัยทำกิน เพื่อดำเนินการตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว มีพื้นที่ 7 ป่าอนุรักษ์ รวมเนื้อที่ประมาณ 194,000 ไร่ โดย ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมทั้ง ยังจัดทำโครงการสนับสนุน คือ การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินให้ราษฎรในพื้นที่รวม 27 โครงการ เพื่อสนับสนุนน้ำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์พัฒนาคุณภาพชีวิต


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 23 จังหวัด ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พร้อมระวังผลกระทบจากอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (18 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ระนอง ลำปาง มุกดาหาร กาญจนบุรี ตราด และพระนครศรีอยุธยา ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 21 กรกฎาคมในภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ // ภาคกลาง บริเวณ จ.กาญจนบุรี และสระบุรี // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และตราด พร้อมกันนี้ กอนช. ยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) และร่องมรสุมกำลังแรง ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ควบคู่กับติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วง 24 ชั่วโมง และกำหนดจุดเสี่ยงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอาคารชลประทาน ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กองทัพบก ได้จัดกําลังพลจิตอาสาพระราชทานดําเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเก็บขยะมูลฝอยและกําจัดวัชพืชที่ลอยมาติดอยู่ในบริเวณลําคลอง เพื่อให้เกิดความสะอาดภายในลําคลองและป้องกันปัญหาน้ำท่วมจากขยะอุดตันตรงประตูระบายน้ำ บริเวณคลองวัดบึง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 กรกฎาคม 2566

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ได้ออกประกาศฉบับที่ 10 แจ้งเตือนเรื่องพายุโซนร้อนตาลิม บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 18 - 19 กรกฎาคม ขณะที่ช่วงนี้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง จึงทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับวันนี้ (17 ก.ค.66) จะมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 44 จังหวัด ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์พายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรงจ จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและฝนเพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) แล้ว และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่า จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 18 - 19 กรกฎาคม ส่วนช่วงวันที่ 16 - 20 กรกฎาคม ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ระยะนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรงจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศได้กว่า 1,426 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่คาดจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุด คือ เขื่อนสิรินธร 259 ล้านลูกบาศก์เมตร // เขื่อนวชิราลงกรณ 217 ล้านลูกบาศก์เมตร // เขื่อนสิริกิติ์ 195 ล้านลูกบาศก์เมตร // เขื่อนลำปาว 125 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนภูมิพล 117 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนและร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าวจะทำให้ช่วงนี้มีฝนเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในทุกภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตก ที่ใช้สนับสนุนน้ำต้นทุนให้ภาคกลางสำหรับใช้ผลักดันน้ำเค็มและผลิตน้ำประปา ถือเป็นผลดีในพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่คาดจะมีฝนตกน้อยจากสภาวะเอลนีโญปีนี้และเสี่ยงเกิดภัยแล้งมากที่สุด

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจากฝนตกหนักในบางแห่ง ซึ่งมีพื้นที่เพิ่มเติมระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ช่วงวันที่ 18 - 21 กรกฎาคมนี้ จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และลอกท่อระบายน้ำ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.