• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ก.ทรัพย์ฯ เสนอร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ. ... ทันกรอบเวลา 15 วันตามที่นายกรัฐมนตรีกำชับแน่นอน เพื่อใช้รับมือฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 2567

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 พฤศจิกายน 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ. ... ทันกรอบเวลา 15 วันตามที่นายกรัฐมนตรีกำชับแน่นอน เพื่อใช้รับมือฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 2567

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเป็นห่วงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จึงได้มีข้อสั่งการพิเศษให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งนำร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ.... มาเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีภายใน 15 วัน เพื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณา ขณะนี้ร่างฉบับดังกล่าวอยู่ที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ของรัฐบาล โดยกระทรวงทรัพย์ฯหารือกับสำนักนายกรัฐมนตรีและภาคส่วนต่างๆแล้ว ซึ่งกรอบระยะเวลา 15 วันที่นายกรัฐมนตรีกำชับสามารถเสนอได้ทันที เชื่อว่า การมีกฎหมายอากาศสะอาดมาบังคับใช้ในประเทศจะช่วยให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ดีขึ้นจากการมีกฎหมายมารองรับ แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย สำหรับการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม หรือ บอร์ดสิ่งแวดล้อม แล้ว และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสัปดาห์หน้า เนื่องจากปีนี้ประเมินปรากฎการณ์เอลนีโญมีผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 จะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้จะเริ่ม Kick Off แผนปฏิบัติการรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 เร็วขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ จากปกติจะเริ่มช่วงเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการต่างๆมากขึ้น ทั้งเชิงพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า ปีนี้ภาครัฐได้ยกระดับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเน้นพื้นที่เผาซ้ำซากร้อยละ 50 และกำหนดเป้าลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรลงให้ได้ร้อยละ 50 ใน 10 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และ 10 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนแหล่งกำเนิดอื่นๆทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการเผาไหม้จากพื้นที่เกษตรต้องคุมเข้มขึ้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.