• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 กันยายน 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดตัว แอพพลิเคชั่น “Sound24Thai” และเว็บไซต์ “Noise4Thai.net” ระบบรายงานระดับเสียงแบบเรียลไทม์ เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “Sound24Thai” และเว็บไซต์ “Noise4Thai.net” เพื่อให้การรายงานข้อมูลระดับเสียงมีความทันสมัยและเข้าถึงผู้ใช้งานในช่องทางต่างๆ ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลระดับเสียงของ คพ. จาก 30 สถานี ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ถือเป็นการเพิ่มช่องทางให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมรายงานข้อมูลระดับเสียงด้วยโทรศัพท์มือถือของตนเอง แล้วส่งข้อมูลเข้ามารายงานผ่านทางแอพพลิเคชั่น Sound24Thai ทั้งระบบ iOS , Android และ Harmonie OS ในแพลทฟอร์มของ คพ. ที่พัฒนาขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายการรายงานและพยากรณ์ข้อมูลระดับเสียง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน คพ.ได้ตรวจวัดระดับเสียงในพื้นที่ริมเส้นทางจราจรและพื้นที่ทั่วไปต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนป้องกันแก้ปัญหามลพิษทางเสียง เฝ้าระวังสุขภาพประชาชน และเผยแพร่ข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน

สำหรับปัจจุบันการรวบรวมข้อมูลผลการตรวจวัดจากสถานีตรวจวัดฯ ถูกจัดเก็บรวบรวมไว้ในรูปแบบฐานข้อมูล (Data Base) ที่พร้อมนำไปแปรผลเป็นข้อมูลสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น การรายงานแบบต่อเนื่อง (Real time) ในอินเตอร์เน็ต หรือนำไปใช้ในแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อการพยากรณ์ระดับเสียง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 สิงหาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เตรียมนำข้อเสนอจากการถอดบทเรียนการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ไปทำแผนรับมือหมอกควันข้ามแดน

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการดําเนินงานและถอดบทเรียนการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ปีงบประมาณ 2566 ณ จังหวัดเชียงราย โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะด้านต่างๆ ทั้งกฎหมายหรือกฎระเบียบ เช่น การมีระบบ Single Command อย่างแท้จริง การเปลี่ยนจากกำหนดวัน D-Day การห้ามเผาเป็นการบริหารการเผาตามช่วงเวลาและพื้นที่ // นโยบายหรือแผน เช่น การจัดทำ Action Plan และการกำหนด KPI มาจากระดับพื้นที่โดยสอดคล้องกับทิศทางของนโยบาย ควรมีศูนย์ขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง // เครื่องมือหรือกลไก เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ภาคเอกชนที่ส่งเสริมหรือช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตรที่ไม่เผา ข้อตกลงทางการค้าในมิติด้านสิ่งแวดล้อม การปรับวิถีอาเซียนเรื่องสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติข้ามแดน การใช้กลไกบ้านพี่-เมืองน้อง // การสื่อสาร เช่น ให้มีการจัดทำสื่อหรือองค์ความรู้ที่สามารถสื่อสารกับภาคประชาชนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารตลอดทั้งปี และสุดท้าย สุขภาพอนามัย เช่น ให้จัดทำห้องปลอดฝุ่น หรือแจกอุปกรณ์ หรือเครื่องฟอกอากาศในระดับชุมชนหรือครัวเรือน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง การจัดหาสินค้าที่มีมาตรฐานและราคาไม่แพง

ทั้งนี้ คพ. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะของหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชนจากการถอดบทเรียน สาเหตุของหมอกควันข้ามแดนมาจากการเพาะปลูกพืชเกษตร ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการเผาตามวิถีชีวิตและการเผาตามความเชื่อ ไปจัดทำเป็นแผนเฉพาะกิจประจำปี และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ ฉบับที่ 2 ต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 สิงหาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขอให้เตรียมพร้อมรับฝนตกหนักบางพื้นที่ถึงวันที่ 4 กันยายนนี้ ผลกระทบจากร่องมรสุมพาดผ่าน คาดการณ์จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศ พบปรากฎการณ์เอลนีโญจะเกิดถึงปลายปีหน้า จนทำให้ประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงปัจจุบันมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 21 พร้อมคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 4 กันยายน ได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมที่พาดผ่านทำให้เกิดฝนตกบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้บางส่วน ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ช่วงวันที่ 23 – 29 สิงหาคมที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าสะสม 772 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมคาดการณ์ช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน จะมีน้ำไหลเข้าสะสม 859 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้บางส่วนจะมีน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนสิรินธรจะมีน้ำไหลเข้าสูงสุด ส่งผลให้ภาพรวมทั้งประเทศมีปริมาณรวม 43,863 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีน้ำใช้การได้ 19,760 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ย้ำว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผนมาตรการรับมือฤดูฝนเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการอย่างเข้มงวดช่วง 2 เดือนที่เหลือของฤดูฝนปีนี้ ทั้งการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด // ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แล้วหลังสิ้นสุดฤดูฝนหรือประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะวางแผนรับมือหน้าแล้งต่อเนื่องปี 2566/67


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 สิงหาคม 2566

ว่ามี่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ - 3 กันยายน 2566 ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ด้านคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน จะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มี ฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ขณะที่การตรวจวัดประมาณน้ำฝนช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ วัดได้ 395.6 มิลลิเมตร

ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังเฝ้าระวังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำรับมือเอลนีโญ เพื่อให้น้ำมีเพียงพอใช้อุปโภค-บริโภค

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่วง24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา ตราด แพร่ หนองบัวลำภู และพระนครศรีอยุธยา โดย กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือเอลนีโญต่อเนื่องหลังยังพบมีแนวโน้มรุนแรง ทำให้ต้องเตรียมพร้อมต่อเนื่องในพื้นที่ที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนน้อย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 สิงหาคม มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกัน 41,954 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55% ของความจุอ่างฯ พบเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 18,014 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศ คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 22,825 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนช่วงต้นหน้าแล้งมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น โดยไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชหน้าแล้งหรือข้าวนาปรังปี 2566/67 ได้ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในปีนี้ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยกรมชลประทานได้เร่งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดหน้าแล้งปี 2566/67 ที่กำลังจะมาถึงนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 สิงหาคม 2566

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีเตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยจากดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย ซึ่งก่อนจะเกิดดินถล่มมักมีสัญญาณเตือนก่อน เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลานานบนภูเขาสูง มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง ระดับน้ำในแม่น้ำและลำห้วยเพิ่มสูงขึ้น น้ำมีสีขุ่นมากกว่าปกติ รวมถึงมีกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไหลปนมากับกระแสน้ำ มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย อาทิ เสียงหักของต้นไม้ เสียงแตกของหิน เสียงไหลของโคลน สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่น อาทิ ฝูงนกบินวนไปมาบนท้องฟ้า ดินมีสภาพอิ่มน้ำ หรือชุ่มน้ำมากกว่าปกติ

โดยวิธีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือดินถล่ม ต้องเริ่มที่สำรวจสภาพความเสี่ยงภัย หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ให้เตรียมพร้อมรับมือ และหมั่นสังเกตความผิดปกติทางธรรมชาติ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เสี่ยง ศึกษาเส้นทางอพยพหนีภัย ซึ่งต้องอยู่ห่างจากแนวการไหลของดินและน้ำ ไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ เพราะอาจได้รับอันตรายจากดิน หิน ต้นไม้ที่ไหลมาตามลำน้ำ หากพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนี เพราะอาจกระแทกกับหินหรือซากต้นไม้ได้ ห้ามเข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำ ไม่ขับรถเร็วและชิดไหล่ทาง เพื่อลดความเสี่ยงจากหินหล่นหรือดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง หากพบดินถล่มปิดทับเส้นทาง ห้ามขับรถผ่านเส้นทางดังกล่าว เพราะอาจได้รับอันตรายจากดินที่ทรุดตัว หากระดับน้ำในร่องน้ำเพิ่มสูงขึ้นและมีสีเดียวกับดินภูเขา มีร่องรอยดินสไลด์ ให้หยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัยทันที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 20 พื้นที่ ช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 16 หลังพบร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง เบื้องต้นวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พร้อมการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังอุทกภัย เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน เกิดน้ำป่าไหลหลากและ ดินโคลนถล่ม ช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายน คือ ภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณอำเภอกัลยาณิวัฒนา จอมทอง และอมก๋อย , แม่ฮ่องสอน บริเวณอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ขุนยวม และสบเมย , กำแพงเพชร บริเวณอำเภอเมืองกำแพงเพชร โกสัมพีนคร ขาณุวรลักษบุรี คลองลาน ไทรงาม พรานกระต่าย และลานกระบือ , ตาก บริเวณอำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง พบพระ แม่ระมาด แม่สอด วังเจ้า และอุ้มผาง , พิษณุโลก บริเวณอำเภอชาติตระการ นครไทย เนินมะปราง และบางระกำ , อุตรดิตถ์ บริเวณอำเภอน้ำปาด // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดเลย บริเวณอำเภอนาแห้ว ผาขาว ภูเรือ และวังสะพุง , ชัยภูมิ บริเวณอำเภอคอนสาร และบ้านแท่น , ขอนแก่น บริเวณอำเภอชุมแพ ภูเวียง เวียงเก่า สีชมพู หนองนาคำ และหนองเรือ , สกลนคร บริเวณอำเภอบ้านม่วง วานรนิวาส และอากาศอำนวย , มหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย , หนองบัวลำภู บริเวณอำเภอเมืองหนองบัวลำภู นากลาง นาวัง และศรีบุญเรือง, กาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอยางตลาด

ส่วนภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง บริเวณอำเภอแกลง , จันทบุรี บริเวณอำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และแหลมสิงห์ , ตราด บริเวณอำเภอเมืองตราด เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง คลองใหญ่ บ่อไร่ และแหลมงอบ // ภาคใต้ ในจังหวัดชุมพร บริเวณอำเภอท่าแซะ และพะโต๊ะ , ระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง และกระบุรี , พังงา บริเวณอำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง , ภูเก็ต บริเวณอำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง รวมทั้ง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำจากแม่น้ำยัง บริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และแม่น้ำสงคราม บริเวณอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ถึง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน พร้อมเตรียมแผนรับน้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ควบคู่กับกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และลอกท่อระบายน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่จนเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 21 จังหวัด ขณะที่กรมชลประทานเร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.สกลนคร ตราด น่าน นราธิวาส เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันนี้ (25 ส.ค.66) ในพื้นที่ 21 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี ขณะที่กรมชลประทานเร่งกำจัดผักตบชวา วัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคและการเกษตรอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง บริเวณ จ.นครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี สะพานบางขนาก และหน้าเขื่อนบางปะกง ภาพรวมปริมาณการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมดประมาณ 83,600 ตัน

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วยปฏิบัติการ และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 9 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท และลพบุรี โดยสามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว และอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง


  1. กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักในภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมเร่งเดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
  2. สทนช. ระบุ ประเทศไทยมีน้ำใช้การอยู่ที่ 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพบมีอ่างเก็บน้ำมีน้ำน้อย 8 แห่ง พร้อมคาดการณ์จะมีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม 3 จังหวัด รวม 12 อำเภอ
  3. กอนช. กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยารับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
  4. กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 21 จังหวัด ถึง 25 ส.ค.นี้ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรับมือฝน
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.