• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 ตุลาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพิ่มความเข้มงวดเฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมและเสี่ยงน้ำท่วม เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า เนื่องจากหลายพื้นที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วมขัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) สำรวจสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมหรือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อเตรียมรับมือและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากน้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำเน่าเสียและน้ำเสียจากบ่อขยะ เบื้องต้น คพ.ปรับปรุงรายชื่อสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบน้ำท่วม เพื่อติดตาม ให้คำแนะนำทางวิชาการ และส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด และผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พร้อมจัดทำวันเพจแจ้งเตือนภัยสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เสี่ยงได้รับผลกระทบน้ำท่วม ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามและเฝ้าระวังพายุลูกใหม่เพื่อแจ้งเตือนต่อไป

ทั้งนี้ คพ. ได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ที่ 1 - 16 ติดตามและรายงานข้อมูลเชิงพื้นที่ส่งทุกวัน จากการตรวจสอบพบมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง คือ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองสวรรคโลก ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย มีข้อแนะนำให้ก่อสร้างคันดินและปรับปรุงการระบายน้ำฝนภายในพื้นที่ รวมถึง ปรับปรุงถนนเพิ่มเติม 2 สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของ อบต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก มีคำแนะนำให้หาพื้นที่ทิ้งขยะชั่วคราว พร้อมประสานขอทิ้งร่วมกับ อปท. ใกล้เคียง และดักกั้นขยะมูลฝอยที่ลอยไม่ให้ออกสู่ภายนอก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 ตุลาคม 2566

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกันจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) เพื่อเตรียมพร้อมให้เกษตรกรรับกฎหมายสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป

นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวถึงโครงการจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ร่วมหารือแนวทางและแผนการดำเนินโครงการฯ เพื่อจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการและติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมให้เกษตรกรในพื้นที่ คทช. ในการดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ที่กำหนดให้สินค้าควบคุม 7 ชนิด คือ โค , โกโก้ , กาแฟ , น้ำมันปาล์ม , ยางพารา , ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึง ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวข้องที่นำเข้าและวางจำหน่ายในตลาดของสหภาพยุโรปหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มาจากแหล่งผลิตที่ก่อให้เกิดการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมหลังวันดังกล่าวที่กำหนด โดย GISTDA จะสนับสนุนข้อมูลภูมิสารสนเทศ ด้วยการอ่านแปลภาพถ่ายดาวเทียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ คทช. ช่วงปี 2563

สำหรับโครงการนี้ยังจะช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ คทช. เริ่มตั้งแต่การดำเนินนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ผ่านการอ่านแปลภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2558 และปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม รวมทั้ง ใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการและแนวทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาอาชีพในพื้นที่ คทช. อย่างเหมาะสม ผ่านการจัดทำระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของ สคทช. เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 ตุลาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าแผนรับมือการเข้าสู่ยุคโลกเดือด หลังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกระยะยาว และป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้า

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงวิกฤติโลกร้อนกับความท้าทายของประเทศไทยว่า หลังเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศยุคของภาวะโลกร้อน (global warming)ได้สิ้นสุดลงแล้ว จากนี้โลกเข้าได้สู่ยุคโลกเดือด (global boiling) ทำให้สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดทำรายงานความเสี่ยงโลกล่าสุดปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยความเสี่ยงคุกคามโลกในระยะยาว 10 ปี พบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกระยะยาว ทั้งปัญหาความล้มเหลวในการบรรเทาปัญหา Climate Change ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาเกิดจากแรงขับเคลื่อนที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยปัญหาทั้งสองทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาของโลกทวีความเข้มงวดมากขึ้น และนำไปสู่สถานการณ์กีดกันทางการค้า (Non-tariff barriers) ที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทย ตั้งเป้าจะยกระดับและก้าวเข้าสู่สถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2065 และความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วางแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กระจายรายได้ ควบคู่กับการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่สอดรับสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมและมาตรการป้องกัน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.สุโขทัย กรุงเทพมหานคร จันทบุรี นราธิวาส กาญจนบุรี และอุดรธานี ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง โดยหน่วยงานต่างๆเร่งให้ความช่วยเหลือและเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม เช่น กรมชลประทาน ร่วมกับกองทัพบกก่อกระสอบทรายกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำมูลตรงชุมชนท่าก่อไผ่ เนื่องจากประตูกั้นน้ำระหว่างแม่น้ำมูลกับคลองน้ำภายในชุมชนปิดกั้นไม่สนิท ทำให้น้ำจากแม่น้ำมูลไหลทะลักเข้าสู่ภายในชุมชนท่ากอไผ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้ง ยังเร่งระดมเครื่องจักร - เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ พร้อมเดินหน้ากำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสะอาดและลดปัญหาน้ำเน่าเสียในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเก็บกักน้ำไว้ใช้แล้งหน้าตรงบริเวณประตูระบายน้ำบางปลาดุก ต.ห้วยพลู อ.นครชัยศรี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 12 นิ้ว 2 เครื่อง และบริเวณประตูระบายน้ำบางเก็ง ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 1 เครื่อง ด้านกรมทรัพยากรน้ำเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณวัดแก้วพิจิตร พระอารามหลวง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ขนาด 10 นิ้ว เพื่อเฝ้าระวังและสูบน้ำท่วมขังในบริเวณวัด

ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยังได้การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน พบพื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนักน้ำท่วม 19 จังหวัด คือ กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน อุทัยธานี ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มุกดาหาร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และระนอง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 กันยายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (28 ก.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 50,140 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 26,257 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,751 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 12,120 ล้าน ลบ.ม.

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จะมีร่องมรสุมพาดผ่าน ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. 66 ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากในบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จึงสั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำและเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 กันยายน 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักตามแนวร่องมรสุมถึงวันที่ 29 กันยายนนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าจังหวัดอุบลราชธานี เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณสถานีวัดน้ำ M7 ตรงสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอวารินชำราบ เพราะมีบางช่วงเป็นพื้นที่ฟันหลอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือจัดทำทำนบดินชั่วคราว นำกระสอบทรายมากั้นเป็นกำแพงป้องกันน้ำท่วม หลังคาดการณ์จะมีระดับน้ำสูงสุดวันที่ 30 กันยายนนี้ ย้ำว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น หากนำมาเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยังไม่น่าเป็นห่วง

กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง พร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันเฉียงเหนือ ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องวางแผน เร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วและลดผลกระทบต่อกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา มี 3 เขื่อนที่มีการกักเก็บน้ำต่ำกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา ดังนั้นฝนี่ตกลงมาในช่วงนี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้

สำหรับภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อน 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 435 แห่ง ปัจจุบันภาพรวมมีปริมาณน้ำ 49,700 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วยังมีปริมาณน้อยกว่า 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม อีกไม่ถึง 1 เดือนก็จะหมดฤดูฝน ขอให้ประชาชนกักเก็บน้ำไว้ใช้ รวมถึงขอความร่วมมือเกษตรกร งดทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอถึงช่วงหน้าแล้งปีหน้า


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 กันยายน 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพิ่มความเข้มงวดการบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝน คาดการณ์ฝนที่ตกหนักช่วงนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยาและในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ช่วงปลายฤดูฝนปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณฝนตกในประเทศไทยปีนี้น้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 14 โดยเฉพาะภาคกลางปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 31 และภาคตะวันออกร้อยละ 26 แต่ถึงวันที่ 29 กันยายนจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ช่วงสัปดาห์นี้จะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 4,700 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รวมกันประมาณ 1,300 ล้ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง ยังเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อีกประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสนับสนุนความต้องการใช้น้ำทั้งภาคอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรต่อเนื่อง และไม้ผล ได้เพียงพอ

ทั้งนี้ ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะภาคเหนือที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักของลุ่มเจ้าพระยา พร้อมรณรงค์ให้เกษตรกรที่มีแหล่งเก็บกักน้ำเป็นของตนเองให้เก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดจากเอลนีโญในระยะยาว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ระวังฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเฝ้าระวังระดับน้ำในลุ่มน้ำชี - มูล ถึงวันที่ 28 กันยายนนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง กรุงเทพมหานครปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด ปทุมธานี ราชบุรี ระนอง แพร่ และอุบลราชธานี โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ทำให้ต้องระวังระดับน้ำในลุ่มน้ำชี - มูล ถึงวันที่ 28 กันยายนนี้ คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งนี้ หากเกิดสภาวะวิกฤติ กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนเกิดเหตุล่วงหน้าเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเตรียมพร้อมอพยพ ส่วนศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าจะออกปฏิบัติการเข้าประจำการพื้นที่เสี่ยงหากเกิดกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือทันเหตุการณ์และช่วยบรรเทาภัยทางน้ำให้กับประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่เสี่ยงได้ล่วงหน้า ขณะนี้ยังมีหลายพื้นที่ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง เช่น ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ภาคตะวันออก และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.