• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 ตุลาคม 2566

เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเล็กน้อยอยู่ที่ 1,664 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำตอนบนที่ไหลลงมาเพิ่มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ปรับเพิ่มการระบายน้ำเช่นกันแบบขั้นบันไดเร่งระบายน้ำจากลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า อิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออกก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วงวันที่ 20- 24 ตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบริเวณ จ.ตาก กำแพงเพชร ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และพังงา ขณะที่วันนี้ (19 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เล็กน้อยอยู่ที่ 1,664 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำตอนบนที่ไหลลงมาเพิ่มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ภาพรวมปริมาณน้ำจากตอนบนของประเทศเริ่มลดลงต่อเนื่อง ส่วนการตัดยอดน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 555 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบ่งเป็น รับน้ำฝั่งตะวันตก 392 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำฝั่งตะวันออก 163 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำเตรียมรับสถานการณ์น้ำฝน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในคลองแสนแสบ บริเวณคลองวัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี // คลองสอง บริเวณชุมชนสะพานไม้ 1 เขตหลักสี่ // คลองบางซื่อ บริเวณใต้ทางด่วนถึงหลังกรมสรรพาวุธทหารบก เขตพญาไทและเขตบางซื่อ // บึงกระเทียม บริเวณซอยรามอินทรา 82 เขตมีนบุรี และคลองซอยที่สิบเอ็ด บริเวณชุมชนฮ่าซ่านัย เขตหนองจอก

ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ปัจจุบันระบายน้ำอยู่ที่วันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทยอยปรับเพิ่มเป็นขั้นบันไดวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปสูงสุดที่วันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หากจะเพิ่มการระบายน้ำอีกต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในฐานะประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำชีอย่างเป็นทางการก่อน แต่ต้องระบายน้ำไม่เกินวันละ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนลำปาวให้ปรับลดการระบายน้ำลงวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรจนกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนจะเข้าสู่สภาวะปกติ ควบคู่กับจัดการและควบคุมการระบายน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำของลุ่มน้ำมูล


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 ตุลาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุ การใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงและปรับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศให้เข้มขึ้น ช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพขึ้นและแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น ภาพรวมค่าฝุ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้อยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า หลังจาก กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มาอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และปรับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มขึ้น มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5. มีประสิทธิภาพขึ้นและแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและปฏิบัติตนตามคำแนะนำเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4Thai โดยขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนและจะเข้าสู่ฤดูหนาว จึงมีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้นและอากาศไม่ถ่ายเท ทำให้จะมีฝุ่นละอองสะสมมากขึ้นได้ จากการคาดการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 พบค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับสีส้มคงประมาณ 1-2 วัน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับภาพรวมค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (18 ต.ค.66) คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เฉลี่ยอยู่ที่ 25.5 – 50.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ให้มากที่สุด จากแนวโน้มสถานการณ์น้ำในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศ เริ่มมีฝนตกน้อยลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำบางแห่ง กรมชลประทาน ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเร่งติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำในหลายพื้นที่ และพร้อมเดินเครื่องเต็มกำลัง เพื่อการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อเตรียมเร่งระบายน้ำ ในบริเวณจังหวัดขอนแก่น,สุโขทัย และ กาญจนบุรี

นอกจากนี้กรมชลประทานมีความพร้อมในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ สามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วน กรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 ตุลาคม 2566

จากสถานการณ์น้ำทางตอนบนของประเทศ หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว หลังจากมีปริมาณฝนลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ซึ่งกรมชลประทานได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง พร้อมช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยมีการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือในการระบายน้ำหลายพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้ว ในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด, ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ชนิดหอยโข่งระบบเครื่องยนต์ดีเซล ในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิก ขนาดท่อ 42 นิ้ว ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 จังหวัด ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันที่ 2 อาจกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในช่วง 1 - 3 วันนี้ บริเวณภาคเหนือ ใน จ.อุตรดิตถ์ // ภาคใต้ ใน จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสตูล ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ (15 ต.ค.66) คงการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันที่ 2 จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหลายพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้ แล้วค่อยๆปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำโดยผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท -ปาสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นให้กับประชาชนได้ขนของไว้ที่สูงให้ทันท่วงที และเตรียมพร้อมรถสูบน้ำเคลื่อนที่ตามจุดต่างๆ สำหรับช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำกระสอบทรายมาป้องกันตามแนวคันคลอง เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากตอนบน อาจกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนช่วงวันที่ 15 - 19 ตุลาคมจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1- 3 วันนี้ บริเวณ ภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก // ภาคตะวันออก ใน จ.ตราด ภาคใต้ จ.พังงา ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้แล้วค่อยๆปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำโดยผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท - ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อที่จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งวันนี้ (14 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหลายพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยาอาจได้รับผลกระทบ

ด้าน กรมชลประทาน เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย โดยใช้เครื่องจักรกลประเภท เครื่องสูบน้ำขับด้วยระบบไฮดรอลิก ขนาดท่อ 42 นิ้ว 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำชลหารพิจิตร และตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในพื้นที่รับผิดชอบของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานชลประทานที่ 11 สามารถสูบน้ำได้ 277,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง พร้อมเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 ตุลาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งแผนรับน้ำหลากจากตอนบนของประเทศลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและจัดจราจรทางน้ำ พร้อมตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดผันน้ำออกฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยประชาชนยินยอมให้ดึงน้ำเข้าทุ่ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปลายฤดูฝนทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับมีปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านเริ่มไหลลงมาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจนเกิดน้ำท่วมบางพื้นที่ โดย สทนช. , กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการและจัดการจราจรทางน้ำเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือชลประทานที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้แล้วค่อยๆปล่อยลงมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำผันเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้ทุ่งบางระกำสามารถตัดยอดน้ำเข้าไปกักเก็บไว้เต็มทุ่งได้แล้วประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่อาจจะเพิ่มปริมาณน้ำเข้าทุ่งบางระกำอีกประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร ส่วนบึงบอระเพ็ดกักเก็บน้ำไว้ได้แล้วประมาณ 83 ล้านลูกบาศก์เมตร กำลังหาช่องทางนำน้ำเข้าไปกักเก็บเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุดเต็มศักยภาพรวมกันได้ประมาณกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเป็นผลดีทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนรับมือเอลนีโญได้เพิ่มขึ้น

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า จากการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 10 ทุ่ง คือ ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก , ทุ่งเจ้าเจ็ด , ทุ่งพระยาบันลือ-พระพิมล , ทุ่งบางบาล-บ้านแพน , ทุ่งโพธิ์พระยา , ทุ่งเชียงราก , ทุ่งท่าวุ้ง , ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก , ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเรียบร้อยแล้ว และประชาชนให้สัญญาที่จะไม่ทำนาปีต่อเนื่อง และยินดีจะรับน้ำในระดับความสูงประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร แต่จะต้องไม่ให้ท่วมถนนที่สัญจรเข้า - ออกหมู่บ้าน โดยไม่เรียกร้องค่าชดเชยใดๆทั้งสิ้น คาดว่า จะสามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวแล้ว สำหรับการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งจะช่วยตัดยอดน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญ แล้วยังช่วยเติมสารอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี คุณภาพน้ำในพื้นที่นาดีขึ้น ช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูข้าว ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไปลดลง และยังสร้างอาชีพเสริมจากการทำประมงน้ำจืดด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น56,338 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 74% ของความจุรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น15,220 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% ของความจุ

โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ร่องมรสุมเลื่อนพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดควบคู่ไปกับการจัดจราจรน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคาร อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆพร้อมทั้งผสานกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด


  1. คพ. เฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเสี่ยงน้ำท่วม หลังพบใน 3 จังหวัดเกิดน้ำท่วมหลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง
  2. กอนช. เฝ้าระวังปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
  3. กอนช. เฝ้าระวังการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาหลังใกล้แตะที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ
  4. กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบริมน้ำเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำตอนบนของประเทศยังสูง
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.