• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ พร้อมยังระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ในพื้นที่ 12 จังหวัดต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (9 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา พิษณุโลก กาญจนบุรี จันทบุรี สุพรรณบุรี และเลย โดยยังต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด // ภาคใต้ บริเวณ จ.ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล พัทลุง ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรุงเทพมหานคร เร่งตรวจสอบและล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เตรียมพร้อมรับฝน เพื่อให้ท่อระบายน้ำไหลได้สะดวก รวดเร็ว ไม่อุดตัน เช่น ถนนตรีเพชร ช่วงตรงข้ามห้างดิโอลด์สยาม เขตพระนคร , ถนนพรานนก - พุทธมณฑลสาย 4 ช่วงตัดถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตบางแค , รางรับน้ำฝน ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค , หมู่บ้านพูนสินไพรเวซี่ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง และใกล้คลองพระยาเพชรฝั่งขาเข้า เขตลาดกระบัง

ขณะที่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เร่งแก้ปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำประปาที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แหล่งน้ำดิบของเกาะสมุยลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วกระทบต่อประชาชนและธุรกิจท่องเที่ยว จึงเร่งส่งน้ำประปาผ่านระบบท่อลอดใต้ทะเลจาก กปภ.สาขาสุราษฎร์ธานี และสาขากาญจนดิษฐ์ มายังเกาะสมุยเฉลี่ยวันละ 24,000 ลูกบาศก์เมตร จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ รวมถึง จัดเตรียมโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อส่งจ่ายน้ำการแก้ปัญหาในระยะยาว ส่วนหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ขุดเจาะบ่อน้ำตื้นให้กับประชาชนแก้ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชน โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ 150 ครัวเรือน รวม 372 คน ในพื้นที่ ต.สองห้อง อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ พร้อมเร่งเก็บกำจัดวัชพืช เพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำไว้ใช้และนำน้ำไปใช้อุปโภคและทำการเกษตรได้สะดวกขึ้นด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กรกฎาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 และ 10 ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท พร้อมกล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน จะมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าทั้งในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำล้นตลิ่งได้ แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญ ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น จึงกำชับโครงการชลประทาน โครงการก่อสร้าง สำนักเครื่องจักรกลโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน ให้เฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติ สอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเข้าช่วยพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน ( 8 ก.ค.66) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำ 10,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,557 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ไปแล้ว 3,391 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.) ภาพรวมการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 6.43 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ (แผน 8.05 ล้านไร่) โดยกรมชลประทานได้ปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 8 – 11 กรกฎาคมนี้ ในพื้นที่ 12 จังหวัด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.อุทัยธานี เลย ฉะเชิงเทรา พัทลุง กาญจนบุรี และสระบุรี ทำให้ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 8–11 กรกฎาคม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด // ภาคใต้ บริเวณ จ.ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล พัทลุง

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในลุ่มน้ำชีมาจัดจราจรน้ำด้วยการระบายน้ำที่เขื่อนยโสธร - พนมไพร และระบายน้ำจากเขื่อนธาตุน้อย โดยเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อให้มีพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสมทบได้อีก ซึ่งช่วยลดผลกระทบหากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำชี ซึ่งบางส่วนจะถูกผันเข้าไปเก็บกักไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่อาจตกลงมา และเตรียมเครื่องสูบน้ำ 25 เครื่อง กระสอบทราย 10,000 กระสอบ กล่องลวดถักบรรจุหินใหญ่ (Gabion) เครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อเฝ้าระวังแนวพนังกั้นน้ำยังตลอด 24 ชั่วโมง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 กรกฎาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่เลขาธิการองค์การอุตุนิยม วิทยาโลก (WMO) ประกาศเตือนถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลให้ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ คาดจะกินระยะเวลายาวนานไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่มีการใช้น้ำในการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร นั้น กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เอลนีโญอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางแผนรับมือ ด้วยการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆไว้ให้ได้มากที่สุด การบริหารจัดการน้ำฝนผ่านระบบคลองชลประทานแทนการระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูก ให้ทยอยปลูกพืชเมื่อมีฝนตกในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย สำหรับพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกแล้ว จะดำเนินการส่งน้ำตามรอบเวรของแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ ยังได้พิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิงหรือบ่อบาดาล มาช่วยเสริมในกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอีกด้วย ที่สำคัญประชาสัมพันธ์ถึงปรากฎการณ์เอลนีโญให้ประชาชนและเกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) กำหนด หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 กรกฎาคม 2566

วันที่ 3 ของการจัดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIK 2023 ที่คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ร่วมกับ กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครื่อข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน จัดขึ้น เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการประจำปี 2566 ซึ่งวันนี้ มีการเสวนา "อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย CHAPTER 4" ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศในนาข้าว (INWEPF - Thailand) จัดขึ้น โดย นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองประธานคณะอนุกรรมการ INWEPF-Thailand กล่าวว่า ประเทศไทย มีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,400 มิลลิเมตร มีการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลาง 435 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่ฝนจะตกต่ำกว่าค่าปกติประมาณ ร้อยละ 5 ส่งผลกระทบกับการทำการเกษตรของเกษตรกร ซึ่งกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้เกษตรกรชะลอการทำนาก่อนจนกว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนที่มีการปลูกแล้วก็จะมีการเข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด

ด้านนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญกับการทำนาเปียกสลับแห้ง ด้วยปรากฏต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปรากฎเอลนีโญ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันขยายการทำนาเปียกสลับแห้ง ให้เกิดการทำอย่างเป็นรูปธรรม สามารถช่วยการประหยัดน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรมีจำกัด และเป็นแปลงที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว

ขณะที่นายบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ด้านข้าว จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลังจากได้เริ่มการทำนาเปียกสลับแห้ง แล้วได้ผลผลิตที่ดีมากถึง 900 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงได้มาก ไม่มีการใช้สารเคมี และยังมีรายได้เพิ่มมากขึ้นพร้อมแนะเกษตรกรลองเริ่มทำก่อนแล้วค่อยๆ ปรับก็จะเห็นผลดีเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ โดยเป็นผลงานจาก 25 หน่วยงานที่นำมาจัดแสดงและสาธิตการใช้เครื่องมือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น โดรนเพื่อการสำรวจภูมิประเทศ Bathymetry Survey อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมจากระยะไกล อุปกรณ์ LOT เป็นต้น พร้อมเชิญชวนองค์การเครือข่าย สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และเอกชน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้ถึงวันที่ 7 ก.ค.นี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 กรกฎาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำ ปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศปีนี้ลดลงอีกร้อยละ 10 หวั่นกระทบน้ำต้นทุนปีหน้า พร้อมประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลปี 2566 – 2567 เน้นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำว่า ภาพรวมประเทศไทยมีปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 2 กรกฎาคม พบฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 25 โดยปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งกักเก็บน้ำทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 29 ถือว่ามีการใช้น้ำลดลงไปถึงร้อยละ 10 โดยเฉพาะภาคกลางมีน้ำต้นทุนน้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 17 ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 40 ด้านภาคตะวันตกและภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 60 ซึ่งน่ากังวลสำหรับใช้เป็นน้ำต้นทุนปีหน้าแต่ได้เตรียมแผนรับมือรองรับแล้ว เพราะมีแนวโน้มฝนทิ้งช่วงและฝนตกน้อยลงจากผลกระทบปรากฎการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ สทนช. ได้ประสานขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลปี 2566 – 2567 ที่ใช้ระยะเวลาขุดเจาะสั้นๆเน้นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติมแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยปีนี้รวมแล้วกว่า 2,000 แห่ง แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 200 แห่ง // น้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ไม่เกิน 50 – 500 ไร่ 200 แห่ง // ซ่อมแซมและปรับปรุงบ่อบาดาลที่ใช้การไม่ได้ประมาณกว่า 1,000 แห่ง

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า จำเป็นต้องบริหารจัดสรรน้ำและส่งน้ำในแต่ละแหล่งน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อให้น้ำเพียงพอใช้และไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำมากที่สุดเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมถึง ต้องใช้น้ำมาผลักดันน้ำเค็มในภาคกลางเพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา ภาพรวม 4 เขื่อนหลักของประเทศมีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ร้อยละ 40 ถือว่าโชคดีที่มีฝนตกลงมาในจังหวัดน่านตามแนวที่คาดการณ์ช่วยให้เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำฝนไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (3 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องส่วนมากด้านรับมรสุม ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ด้านภาคใต้มีฝนลดลง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.กาญจนบุรี ลำปาง ร้อยเอ็ด สงขลา จันทบุรี และปทุมธานี ทำให้ต้องระวังท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 4 กรกฎาคม คือ ภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง บริเวณอำเภอเขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย , จันทบุรี บริเวณอำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว , ตราด บริเวณอำเภอบ่อไร่ และเมืองตราด // ภาคใต้ ในระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์ , ตรัง บริเวณอำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด , สตูล บริเวณอำเภอทุ่งหว้า และควนกาหลง , พัทลุง บริเวณอำเภอป่าบอน

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้กรมชลประทานติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และ ตรวจสอบ-ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัย พร้อมรถยนต์ตรวจการณ์ 1 คัน เข้าติดตามและประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำในลำน้ำขว้าง ลำน้ำปัว และพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดอุทกภัย เพื่อเป็นข้อมูลแจ้งเตือนภัยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที บริเวณสะพานลำน้ำขว้าง ต.วรนคร และสะพานลำน้ำปัว ต.ปัว อ.ปัว จ.น่าน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 กรกฎาคม 2566

กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1 - 2 วันนี้ในพื้นที่ 6 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1 - 2 วันนี้ในพื้นที่จังหวัดพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และสงขลา โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากบริเวณอำเภอเมือง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ สุขสำราญ จังหวัดระนอง // อำเภอกะปง คุระบุรี จังหวัดพังงา อำเภอเขาพนม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ // อำเภอเมือง นาโยง ย่านตาขาว ปะเหลียน ห้วยยอด จังหวัดตรัง // อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ละงู ควนโดน ควนกาหลง จังหวัดสตูล และอำเภอรัตภูมิ สะบ้าย้อย หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงได้มากกว่า 150 มิลลิเมตร และเริ่มมีน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่แล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่มได้

ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.