สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4 มีนาคม 2567
ที่มา: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4452268
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนต้องก้าว บริษัทเจเนซิล จำกัด และบริษัทดาวเคมิคอล ได้เปิดศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ (Black Soldier Fly;BSF) โดยมี ดร.ชาติวุฒิ กังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสขภาพ กล่าวเปิดงาน คุณสิริ จันทะประแดง ผู้บริหารสวนต้องก้าว คุณสาริณี เสถียรภัคกุล ผู้บริหารบริษัทเจเนซิส จำกัด บรรยายการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ รศ.ดร.ปัญญา มินยง ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการแนะนำระบบและกระบวนการทำงานของโรงเรือน BSF
คุณสาริณี เสถียรภัคกุล ผู้บริหารบริษัทเจเนซิส จำกัด เผยว่า สำหรับกระบวนการการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพในสภาพควบคุมสิ่งแวดล้อมด้วยหนอนแมลงทหารดำและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โครงการการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ สามารถลดการจำกัดด้วยการนำไปเผา หรือฝังกลบ ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าวิธีนำไปทำปุ๋ยหมักถึง 47 เท่า โดยไข่หนอนทหารดำ 1 กิโลกรัม ซึ่งออกมาเป็นตัวหนอนสามารถกำจัดขยะได้ 13 ตัน ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งวงจรชีวิตในช่วงตัวหนอน โดยแมลงชนิดนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติสามารถพบได้ทั่วไปในเขตอบอุ่น บริเวณพุ่มไม้ แมลงทหารดำจะกินเฉพาะน้ำและน้ำหวานเพื่อการดำรงชีวิตสั้น ๆ เพียง 7 – 12 วันเท่านั้นก่อนจะผสมพันธุ์ หาที่วางไข่และตายลง ดังนั้นจึงไม่เหมือนแมลงวันบ้านที่บินวนตอมอาหารตามบ้านเรือน และไม่มีผิดกัดต่อยเช่นต่อ แตน หรือผึ้ง จึงมีความปลอดภัย ไม่รบกวนการดำรงชีวิตของมนุษย์
รศ.ดร. ปัญญา มินยง ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการ ผู้ออกแบบโรงเรือนชุดกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีชีวภาพในสภาพควบคุมสิ่งแวดล้อมใช้ย่อยสลายกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ และควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยหนอนแมลงทหารดำ เผยว่า โจทย์คือการใกล้แหล่งชุมชน โดยต้องคำนึงในส่วนของกลิ่นที่รบกวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ศูนย์ หลักในการออกแบบจึงให้ความสำคัญในเรื่องของกลิ่น การควบคุมอุณหภูมิเพื่อกักกลิ่น จึงได้ออกแบบผนังโดยใช้แผ่นไอโซวอลล์ ความหนา 3 นิ้ว ในการสร้างโรงเรือน สำหรับโรงเรือนแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 โซน 1. โซนรับขยะอาหาร และไม่บดอาหาร 2. โซนอนุบาลหนอน 3. โซนเพาะพันธุ์ 4. โซนโรงบิน สำหรับตัวแมลงวางไข่ 5. โซนเลี้ยงหนอน 6. โซนโรงปุ๋ย ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว