• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 ธันวาคม 2566

ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่ โดยพบสูงในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 11 พื้นที่

นายสรอรรถ สุขหวาน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (30 พ.ย.66) ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่และพบสูงขึ้นในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 11 พื้นที่ คือ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร // ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ // ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม // ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย // ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ // ริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก // ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา // ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน // ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง // สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา และแขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม โดยมีแนวโน้มฝุ่นละอองสูง เนื่องจากเกิดสภาะอากาศที่นิ่งและลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับใกล้ผิวพื้น โดยสถานการณ์จะบรรเทาลงจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น ประกอบกับ ลมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้นช่วยพัดพาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสมอยู่ในพื้นที่ออกไปได้มากตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ จำเป็นต้องควบคุมและลดการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่างๆต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณการปล่อยทั้งจากยานพาหนะ ด้วยการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล จึงขอให้ประชาชนหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะให้มากขึ้นแทนรถยนต์ส่วนบุคคล เช่น รถไฟฟ้า และงดการเผาในที่โล่ง เพราะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ส่งผลกระทบรุนแรง

-------------------- เสียง ------------------

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 ธันวาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มสูงขึ้นถึงวันที่ 7 ธันวาคมนี้

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงนี้ถึงวันที่ 7 ธันวาคมนี้ มีแนวโน้มฝุ่นละอองสูง เนื่องจากเกิดสภาะอากาศที่นิ่งและลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับใกล้ผิวพื้น โดยสถานการณ์จะบรรเทาลงตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมเป็นต้นไป เพราะสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น ประกอบกับ ลมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้นช่วยพัดพาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสมอยู่ในพื้นที่ออกไปได้มาก ทั้งนี้ จำเป็นต้องควบคุมและลดการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่างๆต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณการปล่อยทั้งจากยานพาหนะ ด้วยการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล จึงขอให้ประชาชนหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะให้มากขึ้นแทนรถยนต์ส่วนบุคคล เช่น รถไฟฟ้า และงดการเผาในที่โล่ง เพราะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ส่งผลกระทบรุนแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 ธันวาคม 2566

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานรณรงค์การใช้เมล็ดพันธุ์ดีและลดต้นทุนการผลิต ภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ณ บ้านสามัคคี ตำบลปะโค อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี พร้อมกล่าวว่า ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลก มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 59 ล้านไร่ จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวกว่า 1,900,000 ไร่ ปัจจุบันมีการปลูกข้าวด้วยวิธีหว่านมากขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้จึงมีคุณภาพด้อยลงและกระทบต่อคุณภาพข้าวที่เกษตรกรผลิตลดลงไปด้วย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการผลิตข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี โดยเน้นการลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งการจัดงานรณรงค์การใช้เมล็ดพันธุ์ดีและลดต้นทุนการผลิตในครั้งนี้ เป็นมาตรการที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในปัจจุบันที่ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่และค่าตอบแทนต่ำ ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น พร้อมกันนี้ อยากเห็นพี่น้องเกษตรกรทุกคนมีรายได้ มีโอกาสจับเงินแสนเงินล้าน และลูกหลานเกษตรกรไทยต้องมีอนาคตที่ดี กลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิด เพื่อสานต่ออาชีพ ถึงเวลาแล้วที่ กรมการข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนการทำนาให้ประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ที่มั่นคง ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งจากการทดลองให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวมาเลี้ยงวัว โดยนำร่องในพื้นที่จังหวัดชัยนาท 300 ครัวเรือน พบว่า ระยะเวลา 3 ปี เกษตรกรสามารถคืนทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้น นับว่าประสบความสำเร็จและเป็นนโยบายหลักที่ผมจะเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป

สำหรับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี กรมการข้าว มีเป้าหมายการผลิตในฤดูฝนปี 2566 จำนวน 4,100 ตัน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตประกอบด้วย ข้าวเจ้าพันธุ์ กข15 จำนวน 800 ตัน ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 1,100 ตัน และข้าวเหนียว กข6 จำนวน 2,200 ตัน เกษตรกรที่ทำนาในอำเภอกุดจับบางส่วนทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี จำนวน 2,816 ตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 56,320,000 บาท


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 ธันวาคม 2566

กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 2 –3 วันนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 2 - 3 วันนี้ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มบริเวณอำเภอศรีบรรพต ตะโหมด ศรีนครินทร์ กงหรา ป่าบอน จังหวัดพัทลุง // อำเภอสะข้าย้อย หาดใหญ่ รัตภูมิ จังหวัดสงขลา // อำเภอจะแนะ แว้ง ตากใบ สุไหงโก-ลก ศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องวัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร ประกอบกับ มีฝนตกสะสมมาหลายวันทำให้ชั้นดินอุ้มน้ำไว้มาก

อาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่มได้

ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วย


สำนักข่าว กรมประ่ชาสัมพันธ์  2 ธันวาคม 2566

ที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 หมู่ 10 ต.ดอนหญ้านาง อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการเกษตร พร้อมมอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพบปะสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชื่นชมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 จากผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรในกลุ่ม แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ โดยผลผลิตมีมาตรฐานในระดับจำหน่ายร้านสะดวกซื้อ และส่งออกต่างประเทศ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาประชาชน โดยเฉพาะวันนี้เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฐานรากประชาชนอยู่ดีกินดี ประชาชนต้องไม่มีความยากจน ความยากจนต้องพ้นไปจากประเทศไทยให้ได้ นี่เป็นแนวความคิดกรอบใหญ่ของรัฐบาล ทีนี้จะมีการประชุม ครม. ในวันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายกรัฐมนตรีดำริให้ ครม.ทุกคนลงไปพื้นที่ในกลุ่มคลัสเตอร์ที่จะมีการประชุม ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดอุดรธานี, เลย, หนองบัวลำภู, หนองคาย หรือบึงกาฬ วันนี้ผมอยู่ที่บึงกาฬ ก็เป็นจังหวัดที่เพิ่งตั้งมาประมาณ 13 ปี ได้เห็นการพัฒนาการหลายๆ อย่าง ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน, แหล่งท่องเที่ยว, ความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องลงมาติดตามก็คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนฐานรากที่ยังมีปัญหาอยู่เรื่องของรายได้ เราก็มีการมอบนโยบายให้หน่วยงานของรัฐช่วยกันลงมาดูเป็นพี่เลี้ยงในการแก้ไขปัญหากับประชาชน เราก็จะลงมาในลักษณะพุ่งเป้า ทำอย่างไรให้ปัญหาเรื่องความยากจนพ้นไปโดยเร็ววัน โดยเฉพาะวันนี้เรามาดูส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

โดยประชาชนได้ตั้งเป็นวิสาหกิจปลูกกล้วยหอมนำไปจำหน่ายในตลาด เราก็มาดูเป็นพี่เลี้ยงและให้กำลังใจ แต่เห็นแล้วก็ชื่นใจเพราะว่า คนที่เป็นวิสาหกิจร่วมกันก็มีข้อมูลหลายอย่างที่ทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาดต่าง ๆ ทั้งการ MOU กับวิสาหกิจอื่น ๆ เป็นช่องทางตลาด และขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาพันธุ์ต่างๆ ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีความสมบูรณ์มากขึ้นก็จะนำไปสู่การเป็นผลไม้ที่ออกสู่ตลาดได้ และมีรายได้เข้าสู่ครอบครัว จึงเป็นทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 ธันวาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในภาคใต้ 10 จังหวัด ช่วงวันที่ 3 – 8 ธันวาคมนี้ หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วงวันที่ 2-6 ธันวาคมประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก จากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตลอดช่วงทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในภาคใต้ช่วงวันที่ 3 – 8 ธันวาคมนี้ บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้ง ระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ซึ่งเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม

สำหรับภาพรวมยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา รวม 29 อำเภอ 115 ตำบล 684 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 29,266 ครัวเรือน โดยระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 พฤศจิกายน 2566

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่ โดยพบบริเวณ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ปรับตัวสูงขึ้นในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (30 พ.ย.66) ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ค่าฝุ่นสูงขึ้นในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ยกเว้นบริเวณ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ปรับตัวสูงขึ้นในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ที่ 205 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษถึงวันที่ 1 ธันวาคมนี้จะมีแนวโน้มฝุ่นสูงขึ้นบางพื้นที่ เพราะสภาพอากาศค่อนข้างผันผวน เพดานการลอยตัวของอากาศลดต่ำลง และความเร็วลมค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ฝุ่นละอองจะมีการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น จากนั้นสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเพราะลมเริ่มพัดแรงขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องควบคุมและลดการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่างๆต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณการปล่อยทั้งจากยานพาหนะ ด้วยการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล จึงขอให้ประชาชนหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะให้มากขึ้นแทนรถยนต์ส่วนบุคคล เช่น รถไฟฟ้า และงดการเผาในที่โล่ง เพราะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ส่งผลกระทบรุนแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 พฤศจิกายน 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยส่วนหนึ่งเป็นมลพิษจากควันรถยนต์ จึงต้องการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ EV หรือรถยนต์ไฟฟ้า ให้มากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้นำบริษัทเทสล่า ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่มาที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย เพื่อดูแผนงานจัดตั้งโรงงานในไทย เพราเชื่อว่าการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ภายในไม่เกิน 10 ปี ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากรถยนต์จะลดน้อยลง ขณะที่การลดการเผาป่าภาคการเกษตรก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเชื่อว่าทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่อยากเผาซากจากพืชผลทางการเกษตร แต่ด้วยปัจจัยเรื่องเงิน ทำให้มีความจำเป็นต้องเผา เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหากภาคเอกชนสามารถเข้าไปช่วยเหลือรับซื้อพืชผลเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ และหยุดการเผาดังกล่าว

ส่วนการป้องกันไฟป่าในพื้นที่ 11 ป่าอนุรักษ์และ 10 ป่าสงวน ต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคงเข้าไปเป็นแนวร่วมป้องกันไฟป่าร่วมกับภาคประชาชน ขณะที่การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนได้หารือทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สปป.ลาว เพื่อเข้าไปช่วยเหลือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการเผาพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนผู้ที่ไปรับซื้อสินค้าพืชผลทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านต้องดูแหล่งที่มาของสินค้าด้วยว่ามีการกำจัดซังข้าวโพดและฟางข้าว ด้วยวิธีการใด เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่ หรือนายทุนจากประเทศไทยเข้าไปทำธุรกิจแล้วไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หากไม่ปฏิบัติตามต้องมีมาตรการทางภาษีเข้ามาดำเนินการ พร้อมยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับเรื่องอากาศสะอาด เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยตรง ซึ่งต้องทำให้ดียิ่งขึ้นมิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาในอนาคตได้


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.