• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 มกราคม 2567

ที่มา: https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/846517

รัฐสภาของจีนมีการอภิปรายประเด็นบนโลกออนไลน์ถึงวาระ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าควรใช้ดอกไม้ไฟหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงและบังคับได้ยาก เนื่องจากกลุ่มคนบางส่วนมองว่า พลุสามารถสร้างมลพิษทางอากาศได้

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวมีขึ้น เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและระเบียบความปลอดภัยจากอัคคีภัย แม้ว่าในปี 2560 ทางการได้ระบุว่า มี 444 เมืองออกนโยบายสั่งห้ามจุดพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งบางเมืองก็ได้ปรับตัวด้วยการลดปริมาณของพลุลง และอนุญาตให้มีการเล่นพลุประทัดหรือโชว์ดอกไม้ไฟในพื้นที่และเวลาที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ได้กลับมาถูกถกเถียงอีกครั้ง ซึ่งมีการทำแบบสำรวจบนโลกออนไลน์โดย Beijing Youth Daily โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80% สนับสนุนให้มีการจุดดอกไม้ไฟในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นวันหยุดสำคัญในปฏิทินจีน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3044285/

กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนไปเร็วนี้ทำให้อายุการใช้เสื้อผ้าสั้นลง การผลิตเสื้อผ้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนับแต่การเลือกใช้วัตถุดิบถึงการจัดการเสื้อผ้าที่หมดอายุ ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์ให้ความสำคัญกับ sustainable fashion

เสื้อผ้าจากเส้นใยรีไซเคิล เสื้อผ้ารักษ์โลกในสถานการณ์ภาวะโลกเดือดเช่นนี้ ไม่เพียงเป็นที่สนใจเป็นเทรนด์ของวงการแฟชั่น แต่ยังส่งต่อถึงการจัดการปัญหาขยะ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ชวนมองอุตสาหกรรมสิ่งทอ การขับเคลื่อนความยั่งยืน การลดวิกฤติขยะเสื้อผ้าจากกระบวนการผลิตที่เน้นความรวดเร็วฉับไวฉบับฟาสต์แฟชั่น

ปัจจุบันจึงพูดกันถึง sustainable fashion ซึ่งก็จะลิงก์ไปกับวิธีการผลิตแบบเดิม เส้นใยสีย้อมธรรมชาติ ฯลฯ สอดคล้องกับ Soft Power ส่วนการมีส่วนร่วมเซฟโลกสร้างความยั่งยืนนั้น ดร.ชาญชัย ให้มุมมองว่า คงต้องมองที่พฤติกรรมการใช้ ทั้งนี้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ ให้ความรู้กับผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องมีความโปร่งใส การผลิตเป็นอย่างไร สื่อสารแสดงข้อมูลนี้ให้กับผู้บริโภค โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าได้ ทำให้สินค้าไม่ต้องแข่งขันกับราคา สถาบันฯเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และหากทุกภาคส่วนช่วยกัน อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจะเติบโตขึ้นทั้งในแง่ความยั่งยืน ความน่าเชื่อถือในความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องมุ่งแข่งแต่ด้านราคา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มกราคม 2567

นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับนักศึกษาฝึกงานและสหกิจศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทำการสำรวจเก็บข้อมูลการสะสมตัวของมวลทรายและติดตามการเจริญเติบโตของสังคมพืชป่าชายหาด บริเวณแนวรั้วไม้ดักทรายหาดปากเมง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ประจำเดือนมกราคม 2567

เบื้องต้นพบว่า มีการสะสมตัวของมวลทรายแนวเดิม รั้วไม้ไผ่เฉลี่ย 13.5 และ 0.8 เซนติเมตร พบพันธุ์ไม้ทั้งหมด 16 ชนิด จำนวน 157 ต้น มีพันธุ์ไม้เด่นที่พบคือ ต้นหูกวาง (Terminalia catappa L.) จำนวน 41 ต้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเบื้องต้น ในเดือนที่ผ่านมาทำให้ทราบว่ามีอัตราลดลงของกล้าไม้ในแปลงศึกษาการเจริญเติบโตของสังคมพืชป่าชายหาด เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มกราคม 2567

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนหน้า ภาพรวมจนถึงขณะนี้จัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 6,961 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,053 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 4.65 ล้านไร่ หรือร้อยละ 80 ของแผนฯ ซึ่งเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 3.45 ล้านไร่ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังต้องติดตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและประชาชนรับทราบต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายและรณรงค์ให้เกษตรกรเก็บกักน้ำไว้ในบ่อสำรอง เพื่อสำรองไว้ใช้แล้งหน้า สิ่งสำคัญขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพราะช่วยลดการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 20 - 30 แล้วยังช่วยประหยัดน้ำและช่วยลดการใช้ปุ๋ย ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยสำหรับสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 2 มกราคม 2567 พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 58,736 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 17,233 ล้านลูกบาศก์เมตร


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 มกราคม 2567

ที่มา : Thaipr (https://www.thaipr.net/general/3428372)

พื้นที่พรุ หรือป่าพรุ (Peatlands)..เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าที่สำคัญของโลก ที่แม้จะมีพื้นที่เพียงแค่ 3% ของโลกแต่มีความสามารถในการสะสมคาร์บอนมากกว่าผืนป่าทั้งโลกอย่างน้อย 2-3 เท่า โดยป่าพรุ 4.7% หรือประมาณ 150 ล้านไร่อยู่ในอาเซียน โดยประเทศที่มีป่าพรุมากที่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และปาปัวนิวกีนี สำหรับประเทศไทยป่าพรุจัดเป็นป่าที่มีความสำคัญและหายากโดยมีอยู่เพียง 400,000 ไร่เท่านั้น โดยป่าพรุสิรินธร (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส เป็นป่าพรุขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศครอบคลุมพื้นที่ 193,556 ไร่ ที่ผ่านมาป่าพรุในอาเซียนเผชิญกับความท้าทายจากการถูกทำลายด้วยไฟป่า และการแผ้วพื้นที่ทางเพื่อทำการเกษตร โดยเมื่อปี 2558 ไฟป่าครั้งใหญ่ที่อินโดนีเซีย ได้เผาทำลายป่าพรุไปกว่า 16.25 ล้านไร่ แต่ความเสียหายที่เกิดจากแผ้วถางพื้นที่เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันก็มีไม่น้อยกว่ากัน การจัดการให้เกษตรกรอยู่ร่วมกับป่าพรุอย่างยั่งยืนนั้นเป็นโมเดลที่น่าสนใจ องค์กร Perkumpulan Elang เป็นองค์กรภาคเอกชนของอินโดนีเซีย ที่มีบทบาทในการสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าพรุอย่างยั่งยืน ได้เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้เกษตรกร ตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาระดับนโยบายและวิถีชีวิตแบบทางเลือกผ่านแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เช่น การทำการเกษตรบนพื้นที่พรุ (Paludiculture)..การปลูกพืชทางเลือก เช่น สับปะรด แตงโม มะเขือยาว พริกไทย และถั่วฝักยาว ที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่าการทำสวนปาล์มน้ำมัน

มูฮัมหมัด ยูซุฟ ประธานกลุ่มเกษตรกร Cemerlang Forest Farmers หมู่บ้านเดยัน (dayun) หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับ Perkumpulan Elang จัดแสดงฟักทองขนาดใหญ่น้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัมที่เก็บเกี่ยวจากได้ที่ดินเขาได้เปลี่ยนพื้นที่ป่าพรุขนาด 12.5 ไร่ ให้กลายเป็นโอเอซิสที่ปลูกพืชได้เจริญงอกงามให้ผลผลิตที่สูงขายได้ราคาดี ไม่ว่าจะเป็น ฟักทอง แตงโม มะเขือยาว มะเขือม่วง พริกไทย ควบคู่ไปกับการดูแลไม้ใหญ่ ในป่าพรุ เช่น สยาแดง สาคู ลำใยคริสตัล และยางพารา แสดงให้เห็นว่าการทำฟาร์มควบคู่กับป่าเป็นรูปการเกษตรแบบผสมผสาน ที่เกษตรกรสามารถทำการเกษตรควบคู่กับการดูแลผืนป่าอย่างยั่งยืน แทนที่จะแผ้วถางทำลายเพื่อทำสวนปาล์ม

ปัจจุบันพื้นที่ป่าพรุกว่า 131 ล้านไร่ในอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกทำลาย พื้นที่ประมณ 47 ล้านไร่ ถูกแผ้วถางเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและสวนป่าอุตสาหกรรม (HTI)..ที่นำไปสู่ความเสียหายและความเสื่อมโทรมของดินและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในจำนวนนี้มีพื้นที่มากกว่า 5% ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ความร่วมมือของ Perkumpulan  Elang  และเกษตรกรอย่าง มูฮัมหมัด ยูซุฟ และหน่วยงานภาครัฐ ในการทำฟาร์มในป่าพรุ ช่วยให้เกษตรกรให้หมู่บ้านเดยันลดการปลูกปาล์มน้ำมัน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากไฟป่าได้ในที่สุด เรื่องราวของมูฮัมหมัด ยูซุฟ เป็นความหวังในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่เผยให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องพื้นที่ป่าพรุของอินโดนีเซียและอาเซียน และศักยภาพของพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการนำพืชผลทางเลือกและการประยุกต์แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ควบคู่กับปกป้องระบบนิเวศน์ที่ละเอียดอ่อนของโลก ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าพรุในอาเซียนและอินโดนีเซีย และเพื่อเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศโลกแล้ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 มกราคม 2567

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกตุ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 3 - 8 มกราคมนี้ เนื่องจากอัตราการระบายอากาศค่อนข้างต่ำและลมสงบ จึงเป็นสาเหตุให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสมได้ในระดับใกล้ผิวพื้น ประกอบกับ อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากเกิดการเผาในที่โล่งจากพื้นที่ใกล้เคียงในทิศต้นลม อาจทำให้ฝุ่นละอองทวีความรุนแรงขึ้น เบื้องต้นได้ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอบเขตปริมณฑลกำกับดูแลกวดขันและเฝ้าระวังการเผาในที่โล่งที่อาจส่งผลกระทบในจังหวัดท้ายลมได้ ขณะเดียวกันพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะต้องกวดขันดูแลเช่นกันทั้งเรื่องการจราจร การตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ดีเซล ฝุ่นจากเขตก่อสร้างและการระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ คพ. ขอแนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ พร้อมขอให้ติดตามสถานการณ์จากแอปพลิเคชัน Air4thai และแฟนเพจศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อใช้ประกอบการวางแผนการดำรงชีวิต โดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้ง


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 มกราคม 2567

ที่มา: https://mgronline.com/local/detail/9660000115988

รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว ผลงานวิจัยและนวัตกรรม “เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)” โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมชมสาธิตการทำงาน พร้อมผลักดันขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง หวังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทย โดย รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มทส. และคณะนักวิจัย

รศ.ดร.ชาญชัย เปิดเผยว่า เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)” ได้แนวคิดและพัฒนานวัตกรรมจากสภาพแวดล้อมทางอากาศในปัจจุบันเต็มไปด้วยมลพิษที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากมาย โดยหลักการทำงานของเครื่องคือ การสร้างสนามไฟฟ้าสถิตที่มีขั้วไฟฟ้าที่แตกต่างกันขึ้นมา ระหว่างควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์กับแผ่นเพลตโลหะ ทำให้ควันมลพิษ PM 2.5 ถูกดูดมาติดที่แผ่นเพลตโลหะทั้งนี้ จากการทดสอบค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยจากท่อไอเสียรถตู้ดีเซลขนาดเครื่องยนต์ 2,800 ซีซี อายุใช้งานประมาณ 5 ปี เมื่อติดเครื่องยนต์มีค่าอยู่ที่ประมาณ 2,200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อทำการเปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าลดลงมาเหลือประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากนั้นปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดิม และเมื่อดับเครื่องยนต์ ค่ากลับมาอยู่ที่ 0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงผลได้ว่าเครื่องพลาสมาไอออนช่วยลดค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี นักวิจัย มทส. นำโดย รศ.ดร.ชาญชัย ได้มุ่งไปที่ต้นเหตุสำคัญของฝุ่น PM 2.5 ในเมืองใหญ่ นั่นคือการใช้รถยนต์ การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านพลาสมาไอออน มาประยุกต์ใช้จนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถผลิตเป็นเครื่องต้นแบบพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและผู้สนใจ เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหามลพิษของเมืองต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  31 ธันวาคม 2566

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในยุคนี้มีความเข้าใจและล้วนตระหนักถึงความสำคัญนี้เป็นอย่างดี เราจะเห็นได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลายองค์กรได้มีการกำหนดนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลดการใช้พลังงานและเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน รวมถึงการสร้างกิจกรรมให้ความรู้แก่บุคคลากรและประชาชนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดด้วยความสามารถของ “เทคโนโลยีเอไอและข้อมูล” ที่ถูกพัฒนาขึ้นและสามารถนำมาใช้งานได้ง่ายและแพร่หลายอย่างในทุกวันนี้ ทั้งความสามารถในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้ที่รวดเร็ว การลดการทำงานที่ซ้ำๆ และเปลี่ยนทำงานให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติที่แม่นยำ ทำให้เอไอถูกนำเข้ามาใช้งาน เสมือนเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญของทุกองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลดการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น ตัวอย่างของบทบาทของเอไอและข้อมูลที่มีส่วนช่วยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. การบริหารจัดการพลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน อัลกอริทึ่มของเอไอช่วยให้เราสามารถจัดการและปรับการใช้พลังงานในอาคาร โรงงาน และสภาพแวดล้อมของเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการวิเคราะห์รูปแบบการใช้งานและข้อมูลปริมาณการใช้พลังงานในช่วงอดีตที่ผ่านมา และคาดการณ์ปริมาณพลังงานที่จะใช้งานได้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการผลิตและการใช้พลังงานที่เกินความจำเป็น นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนจากทางเลือกอื่นๆ เช่น ลม น้ำ และแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความผันผวนรุนแรงตามสภาพอากาศ ได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำยิ่งขึ้น รวมไปถึงการต่อยอดในการลดปริมาณ Carbon Footprint 2. ช่วยพัฒนาความยั่งยืนทางการเกษตร ในภาคการเกษตร เอไอจะวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับรูปแบบสภาพอากาศ สภาพดิน คุณภาพของพืชผลที่ผ่านมา และแนะนำวิธีการและปริมาณการให้ดิน น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีได้อย่างเหมาะสมให้แก่เกษตรกร เพื่อปรับปรุงผลผลิตให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นรวมถึงลดการสูญเสียและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. เพิ่มความปลอดภัยการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยธรรมชาติ เอไอสามารถเฝ้าระวังและตรวจจับสัญญาณความผิดปกติที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม ฝุ่น คลื่นสึนามื ผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น กล้องวงจรปิด หรือ เซ็นเซอร์ ที่ทำงานเฝ้าระวังให้เราได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเรารู้สัญญาณของภัยธรรมชาติได้เร็วขึ้น ก็ทำให้เราสามารถจัดการ แก้ไข เตรียมตัวรับมือปัญหาเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น และลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาล 4. การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การผสานเครื่องมือเอไอให้ทำงานร่วมกับโดรน ทำให้การสำรวจระยะไกลในพื้นที่ขนาดใหญ่และการสร้างแบบจำลองทางสถิติตามระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ ทำให้เราสามารถตรวจสอบพื้นที่ป่าและระบบนิเวศ สร้างแผนที่ ระบุตำแหน่งที่อยู่และจำนวนประชากรของสัตว์ป่า นก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ คาดการณ์ภัยคุกคามที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีเอไอและข้อมูลจะช่วยลดการสูญเสียและการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น รวมถึงยังสามารถช่วยในการวางแผนและการบริหารสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ การให้ความสำคัญในการเปิดรับและการทำงานร่วมกันกับข้อมูลและเทคโนโลยีเอไอ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาและสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.