สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15 เมษายน 2567
ที่มา: https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_274831
กรมประมง ได้จัดตั้งโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดติดทะเลจำนวน 23 จังหวัด และได้นำหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model มาประยุกต์ใช้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประมง องค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการประกอบอาชีพการทำการประมง โดยการนำแนวคิดไม่สร้างขยะในท้องทะเลและการเก็บขยะในท้องทะเลมาแปลงเป็นทุน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดความรู้ถึงปัญหาที่มาของขยะในทะเลและวิธีจัดการกับขยะอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความสำคัญในพัฒนาการประมงด้วยหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model การใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อร่วมกันนำขยะขึ้นมาจากทะเลและนำไปกำจัด สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อันจะทำให้ทะเลไทย เป็น “ทะเลสะอาด”
โดยล่าสุด กรมประมงร่วมกับสมาคมประมงบ้านแหลม ชาวประมงพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี และภาคเอกชนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้มีการขยายผลนำขยะทะเลที่เก็บได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยมีกรรมวิธีผลิตด้วยการหลอมแปรรูปขยะเป็นเส้นใยรีไซเคิลผสมกับเส้นใยอื่น จากนั้นนำไปถักทอขึ้นรูปใหม่เป็นเสื้อ โดยเสื้อ 1 ตัวผลิตจากขยะขวดพลาสติกจำนวน 8.5 ขวด ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกเก็บรวบรวมจากทะเล สอดรับแนวคิดในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนสูงสุด เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ลดขยะพลาสติกและลดโลกร้อน ผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยายออกไปในวงกว้าง ด้วยแนวคิด “Extended Producer Responsibility (EPR)” คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมตลอดห่วงโซ่วงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค