สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 18 เมษายน 2567
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1122216
เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งแขนงของนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจทั่วโลก เนื่องจากสภาวะวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ส่งผลให้นานาชาติหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิถีทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจคือ พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน อย่างไรก็ตาม ยังมีพลังงานอีกชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือ Green Hydrogen ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ไฮโดรเจน คือ ธาตุที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม แต่การนำไฮโดรเจนออกมาใช้ต้องมีการแยกไฮโดรเจนจากสิ่งอื่น ๆ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในชั้นบรรยากาศ ทำให้ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร Green Hydrogen จึงกลายเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหานี้ เนื่องจากวิธีการผลิต Green Hydrogen นั้น แทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ การผลิตใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่มาจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ อาทิ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ Green Hydrogen เปรียบเสมือนพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยา
โดยปกติก๊าซไฮโดรเจนสามารถถูกพบได้น้อยตามธรรมชาติ เช่น ใต้พื้นผิวโลก ไฮโดรเจนชนิดนี้ถูกเรียกว่า White Hydrogen ส่วนก๊าซไฮโดรเจนชนิดอื่น ๆ นั้นสามารถแบ่งได้ตามวิธีการสังเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย 3 รูปแบบหลัก ได้แก่
1. Grey hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดมลภาวะในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก
2. Blue hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นเดียวกับ Grey hydrogen แต่มีการใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ในพื้นดิน ทำให้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นไฮโดรเจนทางเลือกที่สะอาดกว่า
3. Green hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นจากแหล่งพลังงานสะอาด อาทิ ลม แสงอาทิตย์ และน้ำซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตและสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้