สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 25 ธันวาคม 2566
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา คาด มีผลบังคับใช้กลางปีหน้า เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในการคุมเข้มมลพิษจากแหล่งกำเนิด
รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ว่า วันพรุ่งนี้ (26 ธ.ค.66) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อส่งเรื่องต่อยังรัฐสภาพิจารณา หลังกฤษฎีกาได้ตรวจแก้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว เนื่องจากอยู่ในสมัยการประชุมที่จะปิดวาระช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2567 ทำให้มีเวลาพิจารณากฎหมาย 4 เดือน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณากฎหมายลำดับรอง 30 ฉบับไปพร้อมกัน คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ช่วงกลางปี 2567 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายเฉพาะที่นำมาแก้ปัญหามลพิษในประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและมีเอกภาพในการบริหารจัดการได้ดีทั้งระบบ โดยกระทรวงทรัพย์ฯจะมอบกฎหมายฉบับนี้เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอากาศสะอาดได้ทุกคนและทั่วถึง
ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กฎหมายอากาศสะอาดมีทั้งหมด 9 หมวด 104 มาตรา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือเฉพาะที่นำมาบังคับใช้แก้ปัญหามลพิษของประเทศ โดยเฉพาะลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งด้านคมนาคม ภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และหมอกควันข้ามแดนที่เน้นดำเนินการในแต่ละช่วงเวลา โดยช่วงเกิดมลพิษมีประมาณ 3 เดือน แล้วมีช่วงคุมเข้มก่อนเกิดมลพิษ 8 เดือน และช่วงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอีก 1 เดือน ดังนั้น ในช่วงเวลา 8 เดือนที่ต้องคุมเข้มตามมาตรการอย่างพื้นที่ภาคเกษตร พบมีแหล่งกำเนิดมลพิษประมาณร้อยละ 12 จากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด จึงต้องปรับเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมที่ปลูกพืชเชิงเดียวมาปลูกพืชยืนต้นแทน เช่น กาแฟ ไผ่ อโวคาโด มะม่วง สิ่งสำคัญกฎหมายฉบับนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบูรณาการ เนื่องจากเดิมผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งการได้เพียงประมาณ 30 หน่วยงาน แต่ที่เหลืออีก 130 หน่วยงานระดับสั่งการอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้การทำงานขาดเอกภาพ เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดจะสามารถประสานงานได้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรณีมีแนวโน้มจะเกิดภาวะมลพิษทางอากาศกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมประกาศเป็นเขตเฝ้าระวัง ส่วนเขตประสบมลพิษทางอากาศต้องเป็นพื้นที่มีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและกระทบประชาชนต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มมลพิษทางอากาศลดลง หรือเกิดปัญหาซ้ำซากต่อเนื่องหลายฤดูกาล พร้อมทั้ง จะนำเทคโนโลยี เช่น ดาวเทียม โดรน เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและตรวจสอบการกระทำผิด ควบคู่กับนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ เช่น ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง
ขณะที่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... กล่าวว่า ขณะนี้เป้าการลดมลพิษของประเทศดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 30 - 40 และจำนวนวันการเกิดมลพิษต้องลดลง คาดว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วจะช่วยลดมลพิษได้มากถึงร้อยละ 50 - 60