สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8 เมษายน 2567
ที่มา : Siamsport (https://www.siamsport.co.th/news/pr/48558/)
กระทรวงทรัพยากรฯ ซีพี และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานมอบรางวัล พร้อมเชิญชวนสัมผัสคุณค่าของธรรมชาติและสัตว์ป่าในนิทรรศการภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ประจำปี 2565 – 2566 ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 21 เมษายนนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มุ่งมั่นเดินหน้าปลูกจิตสำนึกเยาวชนและคนไทยทั้งประเทศ สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ ผ่านการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 29 วันนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยการดำเนินงานของ ซีพีเอฟ ซีพีออล์ และทรูคอร์ปอเรชั่น จัดพิธีมอบรางวัลโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย’สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2565 – 2566 รางวัลเกียรติยศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมจัดนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่าประจำปี 2565 และ ปี 2566 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศในปี 2565 – 2566 มีดังนี้
– ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
– ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า นายธีรพงศ์ เพ็ชร์รัตน์ เจ้าของภาพ “ศึกชนช้าง”
– ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นายปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน เจ้าของภาพ “More than Dream”
– ถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
– ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพถ่ายระยะใกล้ นายศราวุฒิ ทองเมือง เจ้าของภาพ “Hoar Frost”
– ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพทิวทัศน์ นายสุชาติ เกื้อทาน เจ้าของภาพ “ไออุ่นแห่งขุนเขา”
สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดภาพถ่าย คณะกรรมการพิจารณาจากภาพถ่ายที่สื่อความหมายภายใต้แนวคิด “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ความสวยงาม การจัดวางองค์ประกอบตามหลักทัศนศิลป์ และเทคนิคการถ่ายภาพ โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสัตว์มีค่า กับประเภทป่ามีคุณ และแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบุคคลทั่วไป และระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2565 และปี 2566 มีเยาวชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 1,126 คน รวม 4,041 ภาพ เป็นการตอกย้ำ และสร้างความตระหนัก ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าอันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบไป