• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 ธันวาคม 2566

นางสาวตริตาภรณ์ สนใจ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (14 ธ.ค.66) ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นยังปรับตัวลดลงทุกพื้นที่ แต่พบบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ตำบลนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง

โดยจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงนี้จนถึงวันที่ 19 ธันวาคมนี้ เพราะฝุ่น PM2.5 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้หากอากาศนิ่งและลมสงบ อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับใกล้ผิวพื้นในรูปแบบฝาชีครอบและถูกกดทับได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องควบคุมและลดการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณการปล่อยทั้งจากยานพาหนะ ด้วยการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล จึงขอให้ประชาชนหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะให้มากขึ้นแทนรถยนต์ส่วนบุคคล เช่น รถไฟฟ้า และงดการเผาในที่โล่ง เพราะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ส่งผลกระทบรุนแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 ธันวาคม 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการว่าจะทำอย่างไรต่อไป ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่เราก็ไม่ได้นอนใจ ซึ่งรัฐบาลก็เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ห้ามเผาป่า รับทราบดีว่าช่วงเวลานี้ของทุกปีจะเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงขึ้น แต่เราก็พยายามจะบริหารจัดการต่อไป ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนหนึ่งปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นมาจากการเผา รวมถึงภาคกลางด้วยที่มีการเผาซากของพืชผลทางการเกษตร ซึ่งต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดูแลตรงนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ประสานทางกองทัพให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย โดยภาคเหนือ ได้มีการพูดคุยกันแม่ทัพภาคที่ 3 และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ช่วยดูแลเฝ้าระวังเรื่องการเผาป่า ซึ่งการสัมมนา "SUSTAINABILITY FORUM 2024” เรื่อง Clean Energy for Thailand Economy through Sustainability ในวันนี้ เชื่อว่าเป็นการสร้าง การรับรู้ให้ทุกคนทราบว่าปัญหานี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรับผิดชอบในการที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นลดลง ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมาและ สปป.ลาว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ทุกปี และได้มีการพูดคุยกันจะต้องบริหารจัดการเรื่องการเผาซากผลผลิตทางการเกษตร เพราะมีภาคเอกชนของไทย ไปจ้างการปลูกพืชที่ สปป.ลาว ด้วย ซึ่งได้มีการพูดคุยว่า หากจะนำผลผลิตกลับเข้ามาขายในประเทศไทย จะต้องบริหารจัดการเรื่องการเผาให้ได้ ส่วนที่ประเทศเมียนมา ก็ต้องให้ทหารเข้าไปช่วยพูด เราไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามพูดคุยตลอดเวลา

นายกรัฐมนตรี ยังยกตัวอย่างมาตรการทางภาษีของผู้ประกอบการในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า ภาคเอกชน ที่ไปจ้างปลูกข้าวโพดที่ฝั่ง สปป.ลาว แล้วจะนำกลับมาขายในประเทศไทย หากมีการตรวจสอบพบว่า มีการเผาซากผลผลิต เราก็จะชาร์จภาษีกับผู้ประกอบการ และจะนำเงินส่วนนี้มาช่วยในการแก้ไขปัญหาไฟป่า รวมถึงการบำบัดซากตอซังข้าว หรือข้าวโพด พัฒนาไปทำอย่างอื่นได้ เช่น ค่าขนส่ง เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนจะเห็นด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่พนักงานและลูกหลานของผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ไม่บริสุทธิ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 ธันวาคม 2566

นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เตรียมจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี โดยปีนี้จัดงานวันที่ 23 ธันวาคม ภายใต้แนวคิดหลัก “Save wildlife for your life : รักษาธรรมชาติ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย” บริเวณศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ชุมชน เยาวชน และประชาชนเห็นความสำคัญของสถานการณ์สัตว์ป่า ทั้งการซื้อ การค้า การเลี้ยงสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บ การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคสัตว์ป่าและการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนของประเทศ

ทั้งนี้ ช่วงปี 2565 - 2566 ที่ผ่านมา จากรายงานการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับคดีสัตว์ป่าด้วยการลาดตระเวน การหาแหล่งข่าวจากสื่อออนไลน์และการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 พบมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีสัตว์ป่า 523 คดี เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อน 110 คดี ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานการณ์สัตว์ป่าในปัจจุบันมีการค้าสัตว์ป่าเป็นภัยคุกคามระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อยับยั้งอุปสงค์และอุปทานเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าลงและยับยั้งกระบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ก่อนจะกลายเป็นภัยคุกคามที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในอนาคต โดย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้ป้องกันและแก้ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายภายในประเทศและบริเวณแนวชายแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนช่องทางธรรมชาติ ซึ่งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เบื้องต้นกรมอุทยานฯได้กำหนดแนวทางการป้องกันการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น

สำหรับกิจกรรมภายในงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯและหน่วยงานภาคีเครือข่าย กิจกรรมเสวนา “การบูรณาการความร่วมมือการป้องกันการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ” การเปิดให้บริการขออนุญาตให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่า ค้าสัตว์ป่าและครอบครองสัตว์ป่า กิจกรรมสันทนาการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การแสดงดนตรีเพื่อการอนุรักษ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 ธันวาคม 2566

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เมื่อเวลา 07.00 น. พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มและเกินค่ามาตรฐานหลายจังหวัด ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สุโขทัย และกรุงเทพมหานคร มีปริมาณค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานส่วนใหญ่ทำให้เริ่มมีผลกระทบต่อ มีทั้งระยะสั้น อาทิ แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัด รวมถึงอาจมีอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก ส่วนระยะยาว จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้มีศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข(EOC) ติดตามดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขอให้ประชาชนตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หากค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 ธันวาคม 2566

ประเทศไทย แสดงความก้าวหน้าการปรับตัวและมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้อย่างต่อเนื่องบนเวทีการประชุม COP 28 พร้อมผลักดันการปรับตัวในภาคเกษตรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาความมั่นคงทางอาหาร

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุม High-level Segment ภายในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงว่าประเทศไทยและคนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น โดยยืนยันประเทศไทยได้ทำตามสิ่งที่ให้คำมั่นไว้อย่างแน่นอนและการเข้าร่วมประชุม COP 28 เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานในประเทศที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในปี 2030 ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ คาดว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดภายในปี 2025 โดยจะต้องปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเศรษฐกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีกลไกการเงินเหมาะสมและเข้าถึงได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ ควบคู่กับจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบหลักสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และจะสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวฯอีกด้วย และสุดท้าย ไทยกำลังผลักดันตัวอย่างของการปรับตัวในภาคเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว

สำหรับประเด็นการการเจรจาสำคัญบนเวที Cop 28 ยังได้การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2052 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้ การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส กองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 ธันวาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับเสียงภายในพื้นที่จัดงานกาชาด 9 จุด ควบคุมการใช้เครื่องเสียงระหว่างการจัดงานไม่ให้เกิน 80 เดซิเบลเอ โดยปีนี้พัฒนานำแอพพลิเคชั่น Sound24Thai มาใช้

นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และคณะกรรมการแผนกควบคุมเสียงงานกาชาด ประจำปี 2566 ได้ลงพื้นที่ตรวจการปฏิบัติงานของแผนกควบคุมเสียง งาน "วันกาชาด 100 ปี พุทธศักราช 2566" บริเวณสวนลุมพินี โดยวันนี้เป็นวันแรกของการจัดงานจะเน้นให้คำแนะนำเชิญชวนร้านค้าให้โหลดเข้าแอพพลิเคชั่น Sound24Thai และให้ร้านค้าวัดเสียงด้วยตนเองก่อนผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เพราะเบื้องต้นมีร้านค้าเข้าร่วมแอพพลิเคชั่นเพียง 40 ร้าน จากทั้ง 86 ร้านที่ใช้เครื่องขยายเสียง จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ร้านค้าเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งจะมีการตรวจวัดระดับเสียงร้านค้าและให้คำแนะนำการติดตั้งลำโพงทุกวันตั้งแต่วันนี้ถึง 18 ธันวาคมในรูปแบบการสุ่มตรวจ ตั้งแต่เวลา 19.00 - 21.00 น. พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับเสียงภายในพื้นที่จัดงานกาชาดรวม 9 จุด เป็นของ คพ. และบริษัทเอกชนเข้าร่วมสนับสนุน โดย รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า แผนกควบคุมเสียงงานกาชาด ประจำปี 2566 ได้ร่วมกับผู้ประกอบการร้านค้ากำหนดแนวทางการควบคุมเสียงจากร้านค้าที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงภายในงานกาชาดไทย โดยใช้ลำโพงน้อยที่สุด หรือเท่าที่จำเป็น และตั้งอยู่ภายในพื้นที่ร้านเท่านั้น ทั้งนี้ ยังขอความร่วมมือใช้เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพง 1 ร้าน ต่อ 1 ชุด ควบคุมความดังเสียงไม่ให้เกิน 80 เดซิเบลเอ และขอให้อย่าหันลำโพงไปทางรพ. จุฬาฯ และเขตชุมชน โดยเฉพาะลำโพงฮอร์นที่มีลักษณะคล้ายโทรโข่ง เพราะมีเสียงแหลมสูง สร้างความรำคาญให้กับประชาชนและชุมชน ซึ่งปีนี้ คพ.ได้พัฒนาและยกระดับการควบคุมเสียงร้านค้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ให้ผู้ดูแลร้านค้าตรวจวัดระดับเสียงร้านค้าด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อเฝ้าระวังมิให้ร้านค้าเปิดลำโพงเสียงดังเกินที่กำหนด (ไม่เกิน 80 เดซิเบลเอ) โดยตรวจวัดระดับเสียงของร้านค้าตนเองผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง

สำหรับร้านค้าและประชาชน สามารถติดตามผลการตรวจวัดระดับเสียงภายในพื้นที่จะรายงานแบบ Real time ผ่านจอแสดงผลและwww.noise4thai.net เพื่อเฝ้าระวังระดับเสียงจากกิจกรรมต่างๆในงานกาชาดไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรบกวนไปยังบริเวณชุมชนใกล้เคียงโดยรอบสวนลุมพินี โดยแผนกควบคุมเสียงงานกาชาดฯ ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการเผยแพร่ระดับเสียงดังกล่าวจากบริษัท กะทิ สตูดิโอ จำกัด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 ธันวาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง พร้อมระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 10 จังหวัด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ช่วงวันที่ 9 - 11 ธันวาคม ประเทศไทยตอนบนมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยภาคใต้ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันนี้ (8 ธ.ค.66) ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนเขื่อนบางลางได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม รวมทั้ง ให้ระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ทั้งนี้ สทนช. ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเพิ่มเติม บริเวณชุมชนบ้านรับแพรก ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมพร้อมช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับประชาชน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 ธันวาคม 2566

ประเทศไทย จะนำเสนอความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสดงบทบาทในเชิงบวกการให้ความร่วมมือกับประชาคมโลก บนเวทีการประชุม COP 28 ณ รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) ณ รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการประชุมสำหรับประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลการประชุม High-level Segment ระหว่างวันที่ 9 - 10 ธันวาคมนี้ โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดโลกร้อนของไทย พร้อมเป็นการแสดงบทบาทในเชิงบวกของไทยในการให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขยายโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี วิชาการในการจัดการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

สำหรับประเด็นการการเจรจาสำคัญบนเวที Cop 28 เช่น การประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2052 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้ การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส กองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.