• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กยท. ร่วม ญี่ปุ่น เก็บเมล็ดยางพารา ทำเชื้อเพลิงชีวภาพ เพิ่มรายได้เกษตรกร

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  25 มีนาคม 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1119020

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ บริษัท Nomura Jimusho Inc. ลงนาม MOU “โครงการศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า” โดยจะมุ่งวิจัยจัดหาเมล็ดยางพารา แปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก หวังสร้างสมดุลนิเวศระยะยาว เพิ่มมูลค่าเมล็ดยางแหล่งรายได้ใหม่เกษตรกร

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากภาคการเกษตร โดยเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะเมล็ดยางพารา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปเป็นวัตถุดิบชีวมวลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สร้างพลังงานทางเลือกและปรับความสมดุลทางระบบนิเวศในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นช่องทางสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยในอนาคต

การร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า ในฐานะที่ กยท. เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราในประเทศทั้งระบบ ดำเนินงานโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง โดยการยกระดับรายได้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำสวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า “การร่วมกันศึกษาเมล็ดยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานในครั้งนี้ จะทำให้ทราบถึงปริมาณและศักยภาพในการใช้เมล็ดยางพาราเป็นสารเติมแต่งทางชีวภาพ ซึ่งนอกจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดยางพารา และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากภาคการเกษตรแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายชีวมวล ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน”

ด้าน Mr. Shoji Nomura ประธานบริษัท Nomura Jimusho Inc. กล่าวย้ำถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนการเติบโตของเกษตรกรชาวสวนยางผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ยางพารา เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.