• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

รู้จัก ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’ ทางออก ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ของไทย และทั่วโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 มีนาคม 2567

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1119515)

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” เตรียมประกาศใช้ในปี 2568 ความหวังที่จะแก้ไข “ปัญหาขยะพลาสติก” และอาจเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส “ขยะพลาสติก” กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก หลายประเทศประสบกับปัญหา “ขยะล้นเมือง” แต่นั่นยังไม่เป็นอันตรายเท่ากับ “ไมโครพลาสติก” พลาสติกที่แตกตัวออกกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งสามารถพัดพาไปทั่วโลก แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดอย่างขั้วโลกเหนือก็ยังพบไมโครพลาสติก ไมโครพลาสติก กลายเป็นมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในอากาศ แทรกแซงห่วงโซ่อาหาร มีการศึกษาหลายชนิดที่ ตรวจพบไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกหลายประเภทในเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง รก และแม้แต่ในเลือดของมนุษย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้นำจากประเทศทั่วโลก จึงได้พยายามผลักดันให้เกิด “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก กำเนิด “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” 2 มีนาคม 2565 มีการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ในโอกาสนั้น ผู้นำจากประเทศทั่วโลกได้มีมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่ 5/14 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee – INC) โดยมีภารกิจจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก หลังจากนั้นการประชุมของ INC จึงเริ่มมีการกล่าวถึง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” ซึ่งคาดหวังว่าจะมาตรการทางกฎหมายนี้จะต้องมีความสำคัญ และมีขอบเขตอำนาจสูง โดย อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เคยกล่าวว่า ปัจจุบัน สนธิสัญญาพลาสติกโลก ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย เนื่องจากมีหลาย ประเด็นที่แต่ละประเทศยังตกลงกันไม่ได้ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุม INC-5 ที่จัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายปี 2567 หลังจากนั้นในปี 2568 จะมีการประชุมระหว่างประเทศครั้งใหญ่เพื่อจัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และเปิดให้มีการลงนาม


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.