• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโบยายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  15 มกราคม 2567

ที่มา : สยามรัฐออนไลน์  (https://siamrath.co.th/n/506491)

นางวราภรณ์ เอื้ออารีย์ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เปิดเผยเป้าหมายของร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4) ว่า สาระสำคัญหนึ่งในร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ คือการผลักดันการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีจำกัดอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ภายใต้มาตรการสนับสนุน FAR Bonnus (Floor Area Ratio หรือ อัตราส่วนอาคารต่อพื้นที่ดิน) ส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินแบ่งปันพื้นที่บางส่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยรูปแบบที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทอาคารและที่ดิน เช่น เจ้าของที่ดินจัดให้มีที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อย สถานดูแลเด็กและผู้สูงอายุ สวนสาธารณะริมถนนริมแม่น้ำ ลำคลอง จัดให้มีที่จอดรถยนต์รอบสถานีรถไฟฟ้า จัดระเบียบทางเท้า  เป็นต้น ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียมที่จัดให้มีถนน ทางเท้าสาธารณะ หรือพื้นที่หาบเร่แผงลอย หรือให้สาธารณะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จะได้รับ FAR Bonus ตามการคิดคำนวณส่วนอาคารต่อพื้นที่ดิน เช่น สิทธิในการสร้างความสูงของอาคารเพิ่มขึ้นจาก 10 ชั้น เป็น 12 ชั้น จาก 20 ชั้น เป็น 24 ชั้น หรือ อาคารที่จัดให้มีพื้นที่รับน้ำส่วนรวม 1 ลบ.ม./50 ตร.ม. จะได้รับสิทธิต่อเติมเพิ่ม 5% หากให้พื้นที่รับน้ำมากกว่า 1 ลบ.ม./50 ตร.ม. จะได้รับสิทธิต่อเติมเพิ่มมากกว่า 5% แต่สูงสุดไม่เกิน 20%

สำหรับประเด็น FAR Bonus ที่หลายฝ่ายอาจมีข้อกังวลนั้น นางวราภรณ์ กล่าวว่า FAR Bonus มีการผลักดันมานานแล้ว ตัวอย่างอาคารที่เข้าร่วมคือ อาคารเมืองไทยภัทร ย่านรัชดาภิเษก จัดให้มีพื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อถึงด้านหน้าอาคาร โดยไม่มีรั้ว รวมถึงอาคารด้านพลังงาน ย่านถนนพระราม 6 ซึ่งไม่สร้างรั้วกั้น ทำให้ สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะได้โดยตรง สิ่งที่ กทม.อยากให้มีการแบ่งปันพื้นที่ เช่น จุดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อจะได้ไม่ต้องตั้งบนทางเท้า ทำให้ทางเท้าโล่งและกว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำ FAR Bonus สามารถทำได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับเจ้าของพื้นที่ โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่พิเศษ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป มักจะมีมาตรการประหยัดพลังงาน พื้นที่สีเขียว และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว สามารถใช้โอกาสนี้รับ FAR Bonus เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงอาคารต่อไปได้..สำหรับการปรับสีของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยพื้นที่หลัก ๆ ที่จะเปลี่ยนไป เช่น พื้นที่ศรีนครินทร์ จะปรับจากที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง และ สายสีเหลือง ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งพื้นที่รับน้ำ (เขียวลาย) ด้านตะวันออกที่เขตมีนบุรี หนอกจอก คลองสามวา และลาดกระบัง เดิมเป็นพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรม ซึ่งใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำขนาด 250 ตารางกิโลเมตร จะถูกปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียง 50 ตารางกิโลเมตร เพื่อลดภาระประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว แต่จะมีการพัฒนาระบบคลองแนวเหนือ-ใต้อย่างเป็นระบบทดแทน มีการขยายคลองเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ รวมถึง พื้นที่เขตทวีวัฒนา มีการปรับจากพื้นที่เขียวลาย (อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) เป็นพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) มากขึ้น “สาระสำคัญหลักของร่างผังเมืองฉบับนี้ คือ 1.การปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.ปรับให้มีการใช้ที่ดินเพื่อส่วนรวมมากขึ้น FAR Bonus เพื่อส่วนรวมอย่างเดียว โดยการปรับผังเมืองดังกล่าว กทม.มีโครงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของเมืองรองรับ ซึ่งจะก่อสร้างไปพร้อมการพัฒนาของภาคเอกชนที่ไปใช้ประโยชน์ที่ดินตรงนั้น ซึ่งดำเนินการควบคู่กันไป” นางวราภรณ์ กล่าว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  14 มกราคม 2567

ที่มา : https://mgronline.com/infographic/detail/9670000002791

“หมอกจางๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้” ที่เห็นว่าเป็นหมอก ที่จริงแล้วอาจจะเป็นควันอย่างที่ในเพลงว่า และไม่ได้มาเพื่อบดบังทัศนวิสัยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังพาความเสี่ยงต่อสุขภาพมาให้กับเราด้วย

จริงๆ แล้วค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทยก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้วโดยเฉพาะภาคเหนือซึ่งมีทั้งฝุ่นและควันแต่สำหรับสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑลนี้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การเผาป่า การเผาขยะ การเผาในที่โล่ง การเพิ่มพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ แม้แต่การประกอบอาหารที่ใช้เตาถ่านก็ทำให้ฝุ่นละอองเหล่านี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศในปีนี้ค่อนข้างนิ่ง ทำให้ฝุ่นอยู่ในที่แคบๆ ไม่มีการไหลเวียนระบายไปที่อื่น จึงทำให้ค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในปีนี้เกิดขึ้นเร็วและอยู่กับเรานานกว่าปีก่อนๆ

ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่พบเห็นฝุ่นละอองที่มีลักษณะคล้ายหมอกควัน หรือมีการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

1. ลด/หลีกเลี่ยงเวลาที่อยู่กลางแจ้งในบริเวณที่มลพิษค่าอากาศอยู่ระดับไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะริมถนนใหญ่ ที่มีการก่อสร้างมาก

2. หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใส่หน้ากากประเภทที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กกว่า“0.3 ไมครอน” ได้ เช่น N95, P100

3. หลีกเลี่ยงหรือลดจำนวนชั่วโมงการออกกำลังกายกลางแจ้งในบริเวณมลพิษอากาศไม่ปลอดภัย

4. เมื่ออยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย และหมั่นทำความสะอาดบ้านทุกวัน

5. เมื่ออยู่ในอาคาร หลีกเลี่ยงการจุดเทียน ตะเกียงในอาคาร เพื่อลดการเผาไหม้ในอาคาร

6. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมง ในที่โล่งแจ้ง

หากต้องการออกกำลังกายจริงๆ แนะนำเปลี่ยนประเภทการออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประเภทที่ใช้พลังงานน้อยลง เช่น จากวิ่งจอกกิ้งเป็นเดินช้าๆ แทน โดยกลุ่มคนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็ก


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  13 มกราคม 2566

ที่มา: https://thaipublica.org/2024/01/muangthai-life-plastic-bottle-waste-pr-10012024/

เมืองไทยประกันชีวิต และมูลนิธิเมืองไทยยิ้ม ยืนความเป็นหนึ่งการตอบแทนสังคม ได้ประกาศนโยบายสนับสนุนการลดปริมาณขยะขวดพลาสติกนำมาผลิตเป็นผ้าห่ม สานต่อในโครงการ  “ห่มรัก” ปีที่ 13 มอบผ้าห่มอัพไซคลิง (Upcycling) เมืองไทยประกันชีวิตและมูลนิธิเมืองไทยยิ้มแก่ผู้ประสบภัยหนาว ผ้าห่มกันหนาว 1 ผืน ผลิตจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้วขนาด 1.5 ลิตร จำนวน 11 ขวด

นายสาระ ล่ำซำ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการสร้างความสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิเมืองไทยยิ้ม ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมสานต่อโครงการ “ห่มรัก” ปีที่ 13 มอบผ้าห่มอัพไซคลิงให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยหนาวในหลายจังหวัด เพื่อขานรับนโยบายภาครัฐในการลดปริมาณขยะจากขวดน้ำพลาสติกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน บริษัทฯ จึงได้ผลิตผ้าห่มขึ้นใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการตระหนักถึงปัญหาด้านขยะและการใช้พลาสติกมากมาย  สำหรับผ้าห่มอัพไซคลิงกันหนาวเมืองไทยประกันชีวิตและมูลนิธิเมืองไทยยิ้มนั้น  นำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการนำวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วกลับมามีคุณค่าในการใช้งานอีกครั้งอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ผ้าห่มดังกล่าวผลิตขึ้น โดยวิสาหกิจชุมชนบ้านวัดจากแดงเศรษฐกิจพอเพียง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งผ้าห่มกันหนาว 1 ผืน จะผลิตจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้วขนาด 1.5 ลิตร จำนวน 11 ขวด นอกจากนี้ยังมีผลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงถึง 0.99 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้ผ้าห่มไม่เพียงแค่อบอุ่นและมีคุณภาพดีต่อผู้ใช้งาน แต่ยังมีผลในการส่งเสริมความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการผลิตผ้าห่มอัพไซคลิง (Upcycling) 1 ผืนเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ถึง 0.11 ต้น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  12 มกราคม 2567

ที่มา : Sarakadee (https://www.sarakadee.com/2024/01/11/on-the-edge-of-extinction/)

“คนมักคิดว่าสัตว์ป่าอันตรายทั้งที่มันก็หนีเราจนหัวซุกหัวซุนเหมือนกัน พอมนุษย์ไม่ยอมให้อยู่ ก็หาวิธีกำจัดมันออกจากธรรมชาติไปเอง”..วัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ เล่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ในธรรมชาติสูญพันธุ์..ในห้องโถงกว้างมีสัตว์นานาชนิดจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ NSMคลองห้า ปทุมธานี ในลักษณะขบวนพาเหรด ให้ความรู้สึกคล้ายผู้มาเยือนกำลังชมโชว์จากคณะละครสัตว์ ทว่าพวกมันปราศจากลมหายใจแล้ว จุดมุ่งหมายของนิทรรศการ “สู่สูญพันธุ์” นี้แสดงให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ เล่าผ่านสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วและกำลังจะสูญพันธุ์ โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการจำแนกชนิดพันธุ์ จาก IUCN Red List Categories and Criteria ภายในห้องจัดแสดงแบ่งกลุ่มสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการเล่าเรื่องและเป็นการแสดงสถานภาพของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ไปในตัวว่าในขณะนี้อยู่ในสถานการณ์แบบใด โดยแบ่งเป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และปลา

ด้านหนึ่งของห้องปรากฏหุ่น “สมัน” ตัวสีขาวสง่าอยู่บนแท่นวางซึ่งมีระดับความสูงเหนือหัวมนุษย์ให้ต้องแหงนมอง ลำตัวของสมันประทับอักษรสีแดง ด้านหนึ่งเป็นคำว่า “สูญพันธุ์” อีกด้านคือ “Extinct” ตอกย้ำความหมายเดียวกัน แท่นสมันขนาดใหญ่กว่าหนึ่งคนโอบ ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับสมัน ตั้งแต่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์จนไทมไลน์ของสมันตัวสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่บนโลก กระทั่ง 50 ปีต่อมาได้รับการยืนยันว่าสมันนั้นได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว สิ่งที่พิเศษของสมันจำลองนี้คือ “เขาจริงสีน้ำตาล” หลักฐานของสิ่งมีชีวิตก่อนสูญพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์..อีกสิ่งจัดแสดงน่าสนใจคือ “ปลาฉนาก” เด่นด้วยลักษณะตรงส่วนปากคล้ายเลื่อย ขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบเจออยู่ 3 ชนิด ก่อนถูกบันทึกว่าสูญพันธุ์แล้วทั้งในไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นปลาน้ำตื้น อยู่ตามปากแม่น้ำ พอถึงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์ ก็จะว่ายเข้ามาทางปากแม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง ความที่ปากเป็นซี่แหลมทำให้ติดอวนของชาวบ้านโดยง่าย เป็นเหตุให้ถูกจับและนำไปตัดปากเพื่อใช้บูชาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์..กลุ่มข้างกันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “เต่า” สัตว์ผู้ถูกคุกคามอย่างหนัก จนหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์เต็มทีแล้ว อย่างเช่น เต่าดาวรัศมี ที่คนนิยมนำไปขาย หรือ “ตะพาบม่านลาย” ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ก็ถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยโดยสร้างเขื่อนที่กั้นขวางแม่น้ำแม่กลอง ทำให้หาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่บนบกหายไป จำนวนประชากรที่ลดน้อยในธรรมชาตินับวันยิ่งเสี่ยงสูญพันธุ์ในที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 มกราคม 2567

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการดําเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ที่ห้องประชุมกองบิน 41 อ.เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกล่าวเปิดการประชุมว่า มีความห่วงใยในสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนภาคเหนือหลายจังหวัดในขณะนี้ จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือกัน ยึดหลักการดำเนินงานสถานการณ์ต้องดีขึ้นทุกวัน พร้อมแบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ X-Ray แก้ไขโดยเร่งด่วน หากมีปัญหาอุปสรรคให้แจ้งและรายงานให้ทราบทุกวันขณะที่ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อความยั่งยืน การดูแลประชาชนด้านสุขภาพ ขอให้จังหวัดและทุกส่วนราชการ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลให้ครอบคลุมทุกมิติ

สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนให้มีหน้ากากกรองฝุ่น เข้าถึงเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพ และราคาที่เข้าถึงได้ สร้างจิตสำนึกร่วมกัน ให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารและยกระดับความตื่นตัวให้ประชาชนรู้ถึงพิษภัยของ PM2.5 ร่วมมือกันช่วยกันดูแลพื้นที่ป่า ลดการเผา ส่วนในระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ภาคเหนือ ขอให้ช่วยกันคิดและรีบปฏิบัติให้ได้ ทั้งเรื่องการคมนาคมและการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยทั้งนี้ จากการลงพื้นที่และพูดคุยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด วานนี้ (10 ม.ค.67 ) หากเปรียบเทียบตัวเลขปีนี้กับปีที่แล้วปัญหาฝุ่นลดลงหลายเท่าตัว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้ตัวเลขฝุ่น PM2.5 ลดลงได้อย่างมีนัยยะ ส่งผลให้เศรษฐกิจของภาคเหนือดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการคมนาคม การสร้างถนนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอเรื่องนี้และจะมีการจัดสรรงบประมาณในการจัดการเรื่องเหล่านี้ต่อไป ชื่นชมทุกหน่วยงานที่ประสานงานกันได้อย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจในการบริหารงาน เหมาะแก่การเป็นแม่แบบที่จะไปใช้ในจังหวัดต่างๆ ให้มีการปฏิบัติร่วมกันอย่างดีเยี่ยมในทุกจังหวัด


Thai PBS  10  มกราคม 2567

อ่านให้ฟัง00:03"พัชรวาท"บินสำรวจพบรอบ กทม.เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี เผานาต้นตอฝุ่นPM2.5 เตรียมประสาน มท. สั่งการผู้ว่าฯ คุมเข้ม สอดคล้องกับ "จิสด้า" Hotspot ทั้งประเทศ 310 จุด

วันนี้ (10 ม.ค.2567) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่มีจุด hotspot ซึ่งพบว่าหลายจังหวัดมีการเผาบริเวณนาข้าว เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และปทุมธานี

เตรียมประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อให้ช่วยกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการระดับจังหวัดให้เข้าตรวจสอบ และระงับยับยั้งต้นตอจุดความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส.ได้ประกาศการเข้าสู่ช่วงฤดูฝุ่นอย่างเป็นทางการ ต้องเตรียมการรับมือตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้อย่างเข้มข้นจริงจัง เพื่อให้ปัญหาและผลกระทบต่อประชาชนเบาบางลง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 มกราคม 2567

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง การหารือร่วมกับ นายฉู ตง หยู (Mr. Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรและอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ให้แก่ประเทศอื่น ๆ โดยจำเป็นต้องร่วมมือด้านวิชาการและเทคโนโลยีกับ FAO ในหลายๆเรื่อง และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนแก่เกษตรกรรายย่อยเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตร จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานในระดับนานาชาติ ทั้งด้านการศึกษา การวิจัย และการพัฒนา รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลต่างๆกับองค์กรระหว่างประเทศและประเทศอื่นๆ ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนในอนาคต เช่นเดียวกับด้านองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แสดงความชื่นชมถึงการดำเนินงาน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สนับสนุนโครงการต่างๆของ FAO เป็นเวลากว่า 70 ปี และพร้อมจะสนับสนุนประเทศไทยในการถ่ายถอดความรู้และประสบการณ์ที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะในด้านดินและน้ำ ซึ่งสืบเนื่องจากพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยจะมีข้อริเริ่มจัดการประชุมนานาชาติด้านดินและน้ำในประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 มกราคม 2567

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสภาพอากาศที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานครดูแลปัญหาฝุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการ 3 ด้านคือ การเฝ้าระวัง คือพยากรณ์ฝุ่นให้แม่นยำ ขยายเครือข่ายตรวจวัดฝุ่น 1,000 จุด ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต พร้อมแจ้งเตือนประชาชนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ด้านจัดการกับต้นเหตุของฝุ่น ทั้งตรวจควันดำ จัดโครงการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นปัจจัยหลักเกิดฝุ่น ห้องเรียนปลอดฝุ่นและโครงการต้นไม้ล้านต้น และสุดท้ายด้านการป้องกันประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพมหานคร ต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงรณรงค์ให้รถเครื่องยนต์ดีเซลเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองเพื่อร่วมกันลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ หากสถานการณ์ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน(สีแดง) จะมีมาตรการเฝ้าระวังแจ้งเตือน การประกาศพื้นที่ควบคุมเขตรำคาญ ประกาศหยุดการก่อสร้าง ประกาศงดค่าเดินทางบีทีเอสเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและมาตรการทำงานจากที่บ้านพัก พร้อมกันนี้ ในส่วนของพื้นที่ ปริมณฑล กรุงเทพมหานครจะประสานพื้นที่ปริมณฑลให้หน่วยงานเครือข่ายร่วมกันลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อไป

สำหรับประชาชนหากต้องการรับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทรสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ HOTLINE 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็วและปรึกษา "คลินิกมลพิษทางอากาศ" จำนวน 8 แห่ง เช่น ที่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสินและโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร หรือต้องการติดตามค่าฝุ่นที่แม่นยำได้ทางแอปพลิเคชัน AirBKK


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.