• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

แนะวิธีบริหารจัดการขยะอย่างไร ไม่ให้ล้นช่วงหน้าเทศกาล

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  20 เมษายน 2567

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์  (https://www.dailynews.co.th/news/3353442/)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือทส. ได้แนะนำการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นขยะอาหารรองลงมาเป็นขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นขวดนํ้าพลาสติก ถุงขนม กล่องใส่อาหาร ซองพลาสติกบรรจุของอุปกรณ์เล่นนํ้าสงกรานต์ ซึ่งการจัดการขยะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่ได้มีมาตรการรองรับหรือรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันไม่ให้เกิดขยะตั้งแต่ต้น เช่น การไม่นำขยะเข้ามาภายในงาน นำเฉพาะอุปกรณ์มาเล่นนํ้าเท่านั้น หรือการลดการเกิดขยะโดยใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซํ้าได้ และเตรียมภาชนะในการคัดแยกขยะวางไว้จุดต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการรวบรวม เป็นต้น จะส่งผลให้มีปริมาณขยะจำนวนมากปะปนกันซึ่งจะเป็นภาระกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองในการเก็บรวบรวม ขนส่งและกำจัด ทั้งนี้ เมื่อเกิดเป็นขยะแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่มีการจัดงานควรดำเนินการ ดังนี้

1.ทำความสะอาด และขนย้ายขยะทั้งหมดไปยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทันทีภายหลังการจัดงาน

2.คัดแยกขยะที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ อันได้แก่ ขยะรีไซเคิลหรือขยะบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไปทำความสะอาดและจำหน่ายกับร้านรับซื้อของเก่าเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด

3.กรณีที่สถานที่จัดงานที่มีการแยกโซนอาหารหรือแยะขยะอาหารให้นำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมัก นํ้าหมัก เป็นต้น

4.นำขยะที่เหลือจากการคัดแยกและใช้ประโยชน์แล้วไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไปหากมีมาตรการรองรับในการจัดการกับขยะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เหมาะสมจะช่วยลดปริมาณขยะและสามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเสียเวลาหรืองบประมาณในการดำเนินการภายหลัง ดังนั้น หากพื้นที่ใด ยังคงมีงานฉลองเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่อง หรือจะจัดงานรื่นเริงอื่นใดก็สามารถดำเนินการหรือประยุกต์ใช้ได้ตามมาตรการในการจัดการขยะ ดังนี้

1. ไม่ให้นำขยะเข้าภายในงาน สามารถนำเฉพาะอุปกรณ์เล่นน้ำเท่านั้น และมีจุดบริการน้ำ หรือขายน้ำภายในงาน วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เข้ามาภายในงานตัวเปล่า ไม่เกิดขยะ

2. จัดจุดสำหรับทานอาหารโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมให้สามารถจัดการแยกขยะเศษอาหารต่าง ๆ ไปจัดการได้ ไม่เปื้อนในบริเวณอื่น รวมถึงงดการใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำ เพื่อลดขยะ และไม่ให้นักท่องเที่ยวนำออกนอกบริเวณที่กำหนดไว้

3. จัดเตรียมภาชนะสำหรับทิ้งขยะ บริเวณใกล้ทางเข้าและทางออกของสถานที่จัดงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

4. ทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนจะมาเล่นน้ำในสถานที่จัดงาน จะได้ไม่มีเศษอาหารต้องทิ้งในงาน และไม่นำสิ่งที่เป็นขยะเข้าไปในงาน

5. เล่นน้ำและใช้อุปกรณ์เล่นน้ำแบบปกติที่สามารถใช้ซ้ำได้ ถ้าน้ำหมดสามารถไปเติมตามจุดบริการต่าง ๆ ได้เพียงเท่านี้ ประชาชนทุกคนจะสนุกในทุกงานและเทศกาล ไม่สร้างภาระขยะให้ต้องตามมาเก็บ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.