• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 มิถุนายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปัจจุบัน (22 มิ.ย .66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,194 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 37,143 ล้านลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,810 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 14,061 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำ อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงเป้า สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมโดยไม่กระทบต่อคุณภาพน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน ตลอดจนความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน และเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงต้นฤดูฝนนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังตกหนักบางพื้นที่ในภาคภาคตะวันออก ขณะที่กรมเจ้าท่า เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและท้ายเขื่อนพระราม 6

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 มิ.ย.66) ว่า ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ระยอง ยะลา น่าน สมุทรปราการ กาญจนบุรี และบึงกาฬ ทั้งนี้ กอนช. ยังได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผน 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรมเจ้าท่า เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืช เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำป้องกันการเกิดน้ำท่วมขังช่วงฤดูฝน ซึ่งเน้นดำเนินการในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และท้ายเขื่อนพระราม 6 จังหวัดสระบุรี คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กิโลเมตร // แม่น้ำป่าสัก ระยะทาง 50 กิโลเมตร // แม่น้ำน้อย ระยะทาง 42 กิโลเมตร // แม่น้ำลพบุรี ระยะทาง 67 กิโลเมตร // เหนือเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง ระยะทาง 20 กิโลเมตร // แม่น้ำท่าจีนสายเก่า ระยะทาง 10 กิโลเมตร และคลองสาขารวมระยะประมาณ 400 กิโลเมตร ปัจจุบันกำจัดผักตบชวาไปแล้วบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา // ตำบลแคตก อำเภอบาง // คลองบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา // แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบึงหาดกองสิน อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท และคลองป่าแสก ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ขณะที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบประปาบาดาลในจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณบ้านประดู่เหลี่ยม หมู่ที่ 17 ตำบลหนองปลิง และบ้านหนองโสน // หมู่ 1 ตำบลหนองโสน อำเภอเลาขวัญ // บ้านสี่กั๊กหมู่ที่ 6 และบ้านทุ่งกระบ่ำ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 มิถุนายน 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์และสร้างความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคกลางลด - เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและการลดปริมาณขยะอาหาร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และความตระหนักในการลด - เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics) และการลดปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) พื้นที่ภาคกลาง บริเวณสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน สร้างความร่วมมือบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจช่วยกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ลด - เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดการสร้างขยะอาหาร และกระตุ้นสังคมให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจัดกิจกรรมไปแล้ว 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก เพราะช่วยสร้างการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนในทุกภูมิภาค กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและเห็นถึงปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการลดประมาณขยะอาหาร ด้วยการสนับสนุนให้นำอาหารที่ยังรับประทานได้ เรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” ส่งต่อให้หน่วยงานไม่แสวงกำไร หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากแต่ละปีจะมีขยะอาหารที่ถูกต้องฝังกลบประมาณ 1,300 ล้านตัน ก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็นร้อยละ 8 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งขยะอาหาร (Food Waste) ปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจกหรือทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 25 เท่า


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มิถุนายน 2566

กรมทรัพยากรธรณี ย้ำ กรุงเทพมหานครมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า

นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมาตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ที่มีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี โดยรอยเลื่อนสะกายเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตมาแล้ว เช่น ปี 2473 ขนาด 7.3 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน จากการสรุปสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี ระหว่างปี 2516 – 2566 ซึ่งตามแนวรอยเลื่อนสะกายเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9 - 7.0 สำหรับกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา หากเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งระยะใกล้และระยะไกลชั้นดินเหนียวในพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 เท่า ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน (ดินเหนียวกรุงเทพ) สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า ทำให้อาคารสูงสั่นโยกและอาจจะเสียหายได้ และอาคารสูงที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงแผ่นดินไหว

ด้าน นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่านพื้นที่ 23 จังหวัด ปัจจุบันรอยเลื่อนที่พบมีการเคลื่อนที่ต่อเนื่องทำให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือ คือ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านเชียงใหม่และลำพูน // กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่านเชียงราย โดยพบแผ่นดินไหวขนาด 2- 4.5 (จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง แต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ สำหรับภาคใต้พบมีกลุ่มรอยเลื่อนสำคัญ คือ กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านพังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ที่ผ่านมาพบการเกิดแผ่นดินไหวมีขนาดไม่เกิน 4.5 เกิดขึ้นประมาณ 3 - 4 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีความถี่ในการเกิดน้อยกว่ากลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 มิถุนายน 2566

กรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศเมียนมา จนประชาชนรับรู้แรงสั่นไหวในหลายพื้นที่ เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้รับรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม หรือ Aftershock 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น. จากการตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ส่งผลกระทบจนประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เขต คือ เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง และคันนายาว // จ.นนทบุรี บริเวณอำเภอปากเกร็ด และอำเภอเมือง // จ.ปทุมธานี บริเวณเทศบาลนครรังสิต เนื่องจากกรุงเทพมหานครรองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกลจะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานีรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย

ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ 2561 – 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1 – 5.4 รวม 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับให้เร่งปรับปรุงเขื่อนลำปาวเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำแก้ปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำริมฝั่งลำปาวและบริเวณลำปาวบรรจบแม่น้ำชี

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า กอนช. ได้ติดตามการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงต้นฤดูทำนาปีและหน้าแล้ง ส่วนช่วงฤดูฝนจะเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำ ทั้งริมฝั่งลำปาวและบริเวณที่ลำปาวบรรจบกับแม่น้ำชี ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำที่เปลี่ยนแปลง เช่น เกษตรกรหันไปเลี้ยงกุ้งและการประมงมากขึ้น ทำให้กรมชลประทานได้วางแนวทางปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กำลังวางแนวทางปรับปรุงเพื่อเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ ด้วยการปรับปรุงซ่อมแซมหัวงานเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ชลประทาน บริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำริมฝั่งลำปาว และบริเวณลำปาวบรรจบแม่น้ำชี พร้อมเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประปา และอุตสาหกรรมขนาดเล็กใน จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้ง สามารถส่งน้ำและระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 306,963 ไร่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 มิถุนายน 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อปรับปรุง “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล ที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งสำหรับผู้ก่อกำเนิดของเสียและผู้รับบำบัดกำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปราบปรามการทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ก่อกำเนิดของเสีย 60,638 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำปี (สก.3) ภายในวันที่ 1 เมษายนของปีถัดไป ในส่วนของผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย คือ โรงงานลำดับประเภท 101, 105 และ 106 จำนวน 2,500 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ จะต้องมีการรายงานข้อมูลครั้งแรกภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ส่งรายงาน หรือส่งล่าช้าจะมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ขออนุญาตการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 มิถุนายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วยระบบเรดาร์ Solid – State Polarimetric X-band เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ ในการป้องกันภัยพิบัติ

สำหรับระบบเรดาร์ Solid – State Polarimetric X-band เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยติดตั้งเป็นแห่งแรกของกรมชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณสถานีสำรวจทางอุทกวิทยา S.42 อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากลุ่มน้ำป่าสักมักจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ จากสภาพทางภูมิประเทศที่ลาดชัน ซึ่งสถานีเรดาร์ดังกล่าว จะทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ได้แบบ near real time สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำป่าสักไปจนถึงท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยระบบเรดาร์นี้ จะวัดข้อมูลฝนเชิงพื้นที่ ที่มีความละเอียดสูงพร้อมระบบการจัดเก็บข้อมูลประมวลผลเรดาร์ผ่าน J-BIRDS Software ที่จะแสดงข้อมูลปริมาณฝนสะสม ความเข้มของฝน รวมทั้งการเคลื่อนที่ของลมหรือพายุ ก่อนจะถูกนำไปประมวลผลด้วยแบบจำลองอุทกพลศาสตร์ ที่ติดตั้งอยู่ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ร่วมกับข้อมูลอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลตรวจวัดระดับน้ำ และปริมาณน้ำท่าจากระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม นำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ ทำให้สามารถประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนป่าสักฯ สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที ช่วยบรรเทาและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะนำระบบการบริหารจัดการน้ำด้วยเรดาร์ตรวจอากาศดังกล่าว มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม รวมทั้งจะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทานทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อไปในอนาคต


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.