สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 19 กุมภาพันธ์ 2567
ที่มา https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2764122
วันอนุรักษ์วาฬโลกเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2463 ในหมู่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญ และการดำรงชีวิตของวาฬในมหาสมุทรตามธรรมชาติ
วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วาฬจึงเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่โตและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวาฬเพียงหนึ่งตัว สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับต้นไม้จำนวนถึง 1,000 ต้น ซึ่งในช่วงชีวิตหนึ่งของวาฬสามารถสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 33 ตัน ในขณะที่ต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แค่ 0.022 ตันต่อปีเท่านั้น
วาฬยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนพืช ปกติแล้ววาฬใหญ่จะดำน้ำลึกเพื่อหาอาหาร และจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งเราเรียกพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘Whale pump’ โดยของเสียเหล่านี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชทั้งธาตุเหล็กและไนโตรเจน ทำให้แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตได้ดี
หากประชากรวาฬในท้องทะเลและมหาสมุทรลดลงเรื่อยๆ ระบบนิเวศในท้องทะเลก็จะมีผลกระทบอย่างมหาศาลแพลงก์ตอนพืชจะค่อยๆ หายไป ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากยิ่งขึ้น นับจากนี้เราทุกคนต้องมีส่วนในการอนุรักษ์วาฬ เริ่มจากการมีวินัยในการจัดการขยะ และห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ยักษ์ใหญ่แห่งมหาสมุทรคงอยู่กับท้องทะเลตลอดไป