• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 ตุลาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2567 เพื่อรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ พร้อมดึงภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐและประชาชนลดฝุ่นผ่านการให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจตอบแทน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า ภาพรวมฝุ่น PM 2.5 และจุดความร้อน (Hotspot) ปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบกับได้รับผลกระทบ จากปรากฏการณ์เอลนีโญจะมีกำลังแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ อากาศร้อนและแล้งมากขึ้น และปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ด้วยการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเน้นพื้นที่เผาซ้ำซากร้อยละ 50 และกำหนดเป้าลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรลงให้ได้ร้อยละ 50 หรือลดลง 3.25 ล้านไร่จากปีนี้มีพื้นที่เผาไหม้ร้อยละ 66 หรือ 6.5 ล้านไร่ ทั้งใน 10 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวน // ให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจตอบแทน ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 200 พร้อมให้คาร์บอนเครดิต ให้เอกชนร่วมยกระดับราคาสินค้าที่ไม่เผา เช่น สนับสนุนเครื่องจักรกลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวไร่อ้อยแต่ไม่รับอ้อยไฟไหม้ ส่วนพื้นที่นาข้าวให้บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและสนับสนุนเครื่องอัดฟางข้าวและไถกลบ แล้วบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรรอบโรงไฟฟ้าชีวมวลในรัศมี 50 กิโลเมตร ด้วยการนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และปลดล็อคระเบียบให้เอื้อต่อการทำงาน // ยกระดับการเจรจาให้เข้มข้นจากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่ระดับทวิภาคีและใช้เงื่อนไขทางการค้า // ใช้การสื่อสารเชิงรุก ส่งจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง และแจ้งเตือนทุกที่ // ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อสั่งการระดับชาติสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดแบบถาวร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 ตุลาคม 2566

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ บอร์ดสิ่งแวดล้อม มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน และมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 เพื่อบริหารจัดการภาพรวมสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทั้งประเทศโดยเฉพาะ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ บอร์ดสิ่งแวดล้อม ที่มี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคณะกรรมการ ถือเป็นกรรมการชุดใหญ่บริหารจัดการภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ของประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งเน้นพื้นที่ป่าเฝ้าระวังป้องกันเข้มข้นที่มีการเผาไหม้มากที่สุดใน 10 พื้นที่ป่าสงวนฯ และ 10 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยขอให้มีความชัดเจนการแก้ปัญหา ส่วนของกระทรวงมหาดไทยขอให้เน้นย้ำในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือที่เกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 เพราะมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงอีก 8 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนลง พร้อมทั้ง จะเชิญภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาในเขตป่ากับภาครัฐและประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ บอร์ดสิ่งแวดล้อม ยังได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ประกอบด้วย การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567” พร้อมเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อให้เป็นกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาทั้งการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่การเกษตร รวมถึง การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบสุขภาพต่อประชาชนของแต่ละประเทศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 ตุลาคม 2566

นายประทีป คล้ายสุบรรณ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ระยะนี้บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวล อากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำ ความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล และภาคใต้ ประกอบกับแนวร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงขอให้เกษตรกร ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน

สำหรับการเกษตรภาคกลาง ในช่วงวันที่ 24 - 28 ต.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลทางระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก รวมทั้งควรเฝ้าระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคดอกเน่า ในไม้ดอก โรคเน่า และ โรคใบจุดในพริก เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์อยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนลดลง หลังสถานการณ์ฝนตอนบนของประเทศเริ่มตกน้อยลง โดยเน้นเก็บกักน้ำส่วนเกินไว้ใช้แล้งหน้าก่อนหมดฤดูฝน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำทางตอนบนของประเทศมีแนวโน้มเริ่มลดลงต่อเนื่อง กรมชลประทาน จึงพิจารณาปรับลดการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนลดลงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงแล้งหน้า พร้อมผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในบึงบอระเพ็ดและพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างและเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้หน้าแล้ง ทำให้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม บริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,931 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที // เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้พิจารณารับน้ำเข้าระบบชลประทานและคลองสาขาต่างๆตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพื่อให้การระบายน้ำจากทางตอนบนลงสู่ตอนล่างทำได้เร็วขึ้น ภาพรวมลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,147 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลปริมาณฝนลดลงช่วยให้สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย โดยบริเวณสถานีวัดน้ำแม่น้ำมูล M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,488 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้น้ำที่ท่วมขังบริเวณชุมนุมท่าก่อไผ่ อ.วารินชำราบ ลดลงเช่นกัน ปัจจุบันสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้แล้ว แต่ยังคงพบน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่จะเร่งให้ความช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวย้ำว่า ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงเวลา ปริมาณน้ำในพื้นที่ ปริมาณน้ำจากทางเหนือ ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำหนุน พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรับส่งน้ำมีประสิทธิภาพสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำและให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 ตุลาคม 2566

เขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำอยู่ที่ 1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันที่ 2 เพื่อระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยา พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อควบคุมระดับน้ำจนถึงวันที่ 29 ตุลาคมนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง แต่ช่วงวันที่ 24 - 28 ตุลาคมประเทศไทยตอนบนจะกลับมามีฝนเพิ่มขึ้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับหน้าแล้งนี้ด้วย พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1 - 3 วัน บริเวณ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส ขณะที่วันนี้ (23 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มาอยู่ที่ 1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันที่ 2 เพื่แระบายน้ำตอนบนที่ไหลลงมาเพิ่มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องและพร้อมรอรับปริมาณน้ำฝนใหม่ที่จะตกมาเพิ่มช่วงปลายฤดูฝน ส่วนการตัดยอดน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 586 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบ่งเป็น รับน้ำฝั่งตะวันตก 395 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำฝั่งตะวันออก 191 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เร่งเก็บขยะและวัชพืชเพื่อพร้อมรับฝน ให้น้ำไหลได้สะดวก ไม่มีขยะและวัชพืชกีดขวางทางน้ำไหลในพื้นที่คลองบางกะปิ ช่วงหลังวัดอุทัยธาราม เขตห้วยขวาง // คลองสี่ประเวศ ช่วงถนนร่มเกล้าซอย 17 เขตมีนบุรี // คลองเปรมประชากร ช่วงชุมชนปู่เจ้า เขตดอนเมือง // คลองเปรมประชากร ช่วงชุมชนสตรีเหล็ก เขตหลักสี่ // คลองลาดพร้าว ช่วงชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ เขตจตุจักร

ขณะที่สถานการณ์น้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบมีปริมาณน้ำ 950 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 99 และมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทำให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำจากอัตรา 8.64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นอัตรา 12.96 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งแต่วันนี้ (23 ต.ค.66) ไปจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม โดยทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบชั้นบันไดอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปาสักเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร ซึ่งระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ยังอยู่ในลำน้ำไม่ส่งผลให้แม่น้ำป่าสักเกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่ง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 ตุลาคม 2566

นายชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ ประชุมแนวทางการจัดทำและพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ RID SWAMP สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำเกี่ยวเนื่อง ระยะที่ 1 (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำสะแกกรัง) ซึ่งแพลตฟอร์ม RID SWAMP เป็นการปรับปรุงและจัดทำฐานข้อมูลกลาง GIS ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยรวบรวมข้อมูลให้อยู่ในระบบเดียวกัน สะดวกต่อการสืบค้น และสามารถการวิเคราะห์ผลการคาดการณ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้า พร้อมจัดทำแบบจำลองในการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วม การจัดสรรน้ำและค่าความเค็ม พร้อมระบบการติดตาม เฝ้าระวัง พยากรณ์ และเตือนภัยสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ตามนโยบายมุ่งเน้นการทำงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ที่มีเป้าหมายให้กรมชลประทานเป็น "องค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 ตุลาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มความเข้มงวดมาตรการรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วงปลายปีนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมคุมเข้มแหล่งกำเนิดของฝุ่นที่มาจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเมือง

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมพร้อมมาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้าอย่างเข้มข้น ทั้งการควบคุมไฟในป่า การเผาในพื้นที่เกษตร และควบคุมการเกิดฝุ่นในพื้นที่เมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้วและยังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อเนื่องถึงปีหน้า ส่งผลให้สภาพอากาศจะแล้งมากขึ้นมีผลให้เกิดฝุ่นละอองได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นที่มาจากยานพาหนะ ด้วยการเข้มงวดการตรวจสอบและตรวจจับรถควันดำ ซึ่งเน้นรถยนต์ที่เข้ามาในเขตเมืองชั้นใน ควบคู่กับการตรวจสภาพรถยนต์ กวดขันวินัยจราจร ควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและรถสาธารณะ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือให้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงปล่อยมลพิษหรือก่อฝุ่นละออง สำหรับพื้นที่รอบนอก ขอให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนเกษตรกรช่วยกันไม่เผาตอซังฟางข้าว ทั้งนี้ ปีนี้ยังได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศที่มีความเข้มขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้รวดเร็ว พร้อมยกระดับมาตรการขึ้นให้มีความเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจัดทำเป็นมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ที่พร้อมรับมือฝุ่นละออง ทั้งการส่งเสริมน้ำมันกำมะถันต่ำช่วยให้ฝุ่นลดลง // การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อยกลับการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่า // เร่งนำระบบ GAP PM 2.5 Free มาใช้ และส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดการเผา

ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน ตั้งแต่การติดตามเฝ้าระวัง ทำ Riskmap เพื่อลงในแผนที่ที่จะเข้าถึงพื้นที่ได้ทันที ปรับปรุง AirBKK เพื่อให้ประชาชนวางแผนการเดินทางและการป้องกันตนเอง ลดการเผาในที่โล่ง และใช้ประชาชนเป็นแนวร่วม โดยแบ่งเงินรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเหตุ กำจัดต้นตอ พร้อมตรวจควันดำ ณ แหล่งกำเนิด อู่รถเมล์ พื้นที่ก่อสร้าง ป้องกันประชาชน ด้วยการทำห้องปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอก และการออกมาตรการ WFH ที่ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในการพยากรณ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 ตุลาคม 2566

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยทวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมนี้ ส่งผลกระทบให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพิ่มมากขึ้น จากลักษณะอากาศเย็นที่ปกคลุมและอยู่ในช่วงลมสงบทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง จึงก่อให้เกิดฝุ่นเพิ่มมากขึ้น จากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานแนวโน้มการระบายอากาศ บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันที่ 21-28 ตุลาคม 2566 พบว่า การระบายอากาศไม่ดีถึงอ่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสเกิดฝนตก จึงคาดว่าฝุ่นละอองยังคงปกคลุมพื้นที่แต่มีความเข้มข้นต่ำ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบ แนวโน้มการระบายอากาศและอัตราฝุ่น P.M. 2.5 ได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์โอโซนและรังสี กองบริการดิจิทัลอุตุนิยมวิทยาและเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา


  1. เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเล็กน้อย เพื่อเร่งระบายน้ำตอนบนที่ไหลลงมาเพิ่มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ปรับเพิ่มการระบายน้ำเช่นกันแบบขั้นบันไดเร่งระบายน้ำจากลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล
  2. คพ. ระบุ การใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงและปรับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศให้เข้มขึ้น ช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพขึ้นและแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น
  3. กรมชลประทาน เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ให้มากที่สุด จากแนวโน้มสถานการณ์น้ำในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศ เริ่มมีฝนตกน้อยลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
  4. กรมชลประทานห่วงใยประชาชน เร่งระบายน้ำและพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.