• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 พฤษภาคม 2566

(6 พ.ค.66) น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรี น.สพ.มนัสกิจ พลศรี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ร่วมกับศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จันทบุรี จัดบูธให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้แก่สุนัข แมว ฟรี วันละ 100 ตัว ในวันที่ 6-7 พ.ค.66 รวม 2 วัน เวลา 13.00-18.00 น. ในงาน Pet Galley ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 พ.ค.66 ณ ลานโปรโมชั่นชั้นใต้ดิน ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จันทบุรี โดยศูนย์การค้าฯ ให้การสนับสนุนวัคซีน นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง แชมพูอาบน้ำ และกิจกรรมจัดแสดงสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่ เต่าซูลคาต้า นกเค้า เหยี่ยว กระต่าย หนูแกสบี้ อีกัวน่าเผือก งูเหลือมทอง เบียร์ดดราก้อน ปลาคราฟ นกสวยงาม เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมชมสามารถป้อนอาหารสัตว์ และถ่ายภาพคู่กับสัตว์เลี้ยงได้ ภายใต้การแนะนำ ดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานอย่างใกล้ชิด

สำหรับการจัดงาน Pet Gallery มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ด้านสัตว์เลี้ยงในแต่ละสายพันธุ์แก่เด็กและประชาชน นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพราะสัตว์เลี้ยงจะเป็นสื่อกลางสร้างความรัก ความอบอุ่น และความผูกพันในครอบครัว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 พฤษภาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งตรวจสอบบ่อน้ำบาดาลและการใช้ประโยชน์ระบบประปาบาดาล เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้อุปโภค-บริโภค

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (5 พ.ค.66) ว่า ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา , สงขลา และยะลา พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งและฤดูฝนปีนี้ เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งตรวจสอบบ่อน้ำบาดาลและติดตามการใช้ประโยชน์ระบบประปาบาดาล 6 แห่ง คือ บ้านลำอีซู หมู่ที่ 7 ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี // เทศบาลตำบลหนองปลาไหล หมู่ที่ 11 ต.หนองปลาไหล อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี // บ้านทุ่งกระบ่ำ หมู่ที่ 4 ต.ทุ่งกระบ่ำ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี // บ้านหนองโกเอน หมู่ที่ 9 ต.หนองปลิง อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี // บ้านช่องกลิ้งช่องกรด หมู่ที่ 8 ต.หนองนกแก้ว อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี // บ้านเขาดินสอ หมู่ที่ 12 ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี

ขณะที่ สภาพอากาศภาพรวมของประเทศสภาพอากาศพบความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนทะเลอันดามัน บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 พฤษภาคม 2566

กรมชลประทาน เปิดเผยว่า 3 เดือนหลังจากนี้ อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีฝนตกน้อยกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำได้ในหลายพื้นที่ กรมชลประทาน ได้วางแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นศูนย์กลางของการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค การเกษตร และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 204 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนสำรองด้วยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานให้กับพื้นที่ที่อาจจะเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบอาคารชลประทาน สถานีสูบน้ำ และระบบส่งน้ำต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานและส่งน้ำให้เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นการสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อตอบสนองการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 พฤษภาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ส่งข้อเสนอให้ อปท. ยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศสะสมเพิ่มขึ้น ลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดทำข้อเสนอการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง เพื่อเป็นกรอบและแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่จะส่งผลให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดในแผนปฏิบัติการฯระดับประเทศ โดยเป้าหมายที่ 1 ของแผนปฏิบัติการ ภายในปี 2570 ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ 80 ทั้งนี้ คพ. ได้ส่งข้อเสนอการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องให้กับอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบอ้างอิงการดำเนินงานของ อปท. ยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง ใช้เป็นทิศทางของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ อปท.ในการปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของภาครัฐและเอกชนเปิดดำเนินการ 2,074 แห่ง แบ่งเป็น สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยถูกต้องตามหลักวิชาการเพียง 111 แห่ง หรือร้อยละ 5 และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง หรือร้อยละ 95 ถือเป็นสัดส่วนสูงมาก เนื่องจาก อปท. หลายแห่งมีงบประมาณกำจัดขยะมูลฝอยไม่เพียงพอ , สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยหลายแห่งรองรับขยะมูลฝอยมากเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้ , การจัดหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแห่งใหม่ดำเนินการได้ยาก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต่อต้านหรือคัดค้านการก่อสร้างและดำเนินการ , การกำกับและบังคับใช้กฎหมายกับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเอกชนเป็นไปได้ยากและไม่มีการดำเนินการ รวมถึง การกำกับ อปท. ที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาซ้ำซาก เช่น ไฟไหม้บ่อขยะมูลฝอย มลพิษจากการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง น้ำเสียจากบ่อขยะมูลฝอย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 พฤษภาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำช่วงแล้งในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมการจัดสรรน้ำถือว่าเป็นไปตามแผนที่กรมชลประทานกำหนดไว้ ส่งผลให้กิจกรรมการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และยืนยันว่า กรมชลประทานจะมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วง 3 เดือน คือ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ จากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ กรมชลประทาน จึงได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกแล้ว และจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันก่อนน้ำหลากในช่วงกลางเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ที่กรมชลประทานกำหนด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 พฤษภาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและมีน้ำเพียงพอใช้หน้าแล้ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (1 พ.ค.66) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำปีนี้ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ เร่งขุดลอกแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำแก้ปัญหาไม้ผลต้นยืนต้นตาย เนื่องจากการขาดแคลนน้ำในหมู่ที่ 7 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ // กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งสูบทดสอบปริมาณน้ำบ่อน้ำบาดาล เก็บตัวอย่างน้ำบ่อบาดาลและบ่อใกล้เคียงในบ้านสุนัขหอน หมู่ที่ 8 ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม และบริเวณวัดสหกรณ์โฆสิตาราม (บ้านโคกขาม) หมู่ที่ 10 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร // กรมชลประทาน เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ชนิดหอยโข่ง 1 เครื่อง ขนาดท่อ 24 นิ้ว สามารถสูบน้ำได้ 184,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน บริเวณท่าสูบน้ำบ้านบางบาย หมู่ที่ 7 ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพป่าไม้และสร้างแนวป้องกันไฟป่า


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1064719

ภาพรวมนโยบายและกฎหมาย

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  30 เมษายน 2566

รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน จึงกำหนดนโยบาย กฎหมายและข้อบังคับจำนวนมากที่สอดคล้องกับทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อม

กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับหลัก

สิงคโปร์มีกฎหมาย Environmental Protection and Management Act : EPMA เป็นกฎหมายฉบับหลักที่ใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการจัดการปริมาณมลพิษทั้งทางน้ำทางอากาศและทางเสียง

เช่น กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องติดตั้งและจัดให้มีอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ กำหนดให้โรงงานต้องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และกำหนดควบคุมเรื่องเสียงจากการก่อสร้างไปจนถึงเสียงในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

มาตรการอุดหนุนโดยภาครัฐ

ในแต่ละปี สิงคโปร์จะจัดทำนโยบายอุดหนุนภาคเอกชน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในการประกอบธุรกิจ (Green Technology Program) เช่น มาตรการจูงใจให้บริษัทพาณิชยนาวีในประเทศพัฒนาและนำเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้

ซึ่งหากสามารถลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ก๊าซไนตริกออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามที่กำหนด โครงการจะได้รับเงินร้อยละ 50 สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เป็นต้น

ได้เงินคืนหากใช้รถที่ลดมลพิษ

ภายใต้ระบบ Carbon Emissions-Based Vehicle Scheme : CEVS สิงคโปร์ได้สร้างระบบจูงใจสำหรับการใช้ยานพาหนะทุกประเภทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอัตราที่ต่ำ โดยรัฐจะให้เงินคืนสำหรับการใช้รถที่ประหยัดเชื้อเพลิงและมีอัตราการบริโภคน้ำมันต่ำ

ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องจัดทำฉลากข้อมูลการปล่อยมลพิษของรถ (Fuel Economy Labelling scheme) เพื่อให้ผู้ซื้อได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ การให้เงินคืน จะอยู่ในรูปแบบของการลดหย่อนภาษี ค่าระวาง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถ

Singapore Green Plan 2030

มองไปข้างหน้า สิงคโปร์ได้จัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ 5 ด้าน ได้แก่

(1) การจัดสรรพื้นที่สีเขียวในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้โดยสะดวก

(2) ส่งเสริมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยการใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดการกลับมานำมาใช้ใหม่ของขยะทุกประเภท และบำบัดน้ำเสียอาจจริงทั้งภาคอุตสาหกรรมและเอกชน

(3) ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานจากแสงอาทิตย์ และสนับสนุนการวิจัยในด้านพลังงานทุกประเภท

(4) สร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเป็น Centre for Green Finance พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนด้านเทคโนโลยีที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

(5) สร้างปราการสำหรับอนาคต เช่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง การให้สิ่งก่อสร้างใช้โทนสีอ่อนเพื่อลดการดูดซับของความร้อน เป็นต้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 เมษายน 2566

วันนี้ (29 เม.ย.66) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยนางรักชนก แพน้อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์-หมู่เกาะพีพี และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เดินทางมาอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับทีม “ทราย สก๊อต”และทีมนักอนุรักษ์กว่า 36 ชีวิต ที่บริเวณแหลมหาด และในโอกาสเดียวกันนี้ ทางนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เข้าให้กำลังใจกับ”ทราย สก๊อต” ในการสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หลังจากนั้นได้ร่วมว่ายน้ำกับทีม “ทราย สก๊อต”และนักว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลด้วย ที่จุดแหลมหาด ซึ่งเป็น STAGE 5

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่สองได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 29 เมษายน 2566 ทราย สก๊อต หรือนายสิรณัฐ สก๊อต ฉายามนุษย์เงือก ลูกครึ่งไทย-สกอตแลนด์ พร้อมด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลไทย จำนวน 36 ชีวิต ได้ว่ายน้ำออกจากจุดเริ่มต้น STAGE 4 ที่บริเวณเกาะห้อง-แหลมหาด จังหวัดกระบี่ และ STAGE 5 ผ่านช่องแคบเกาะยาว เข้าสู่ STAGE 6 จากเกาะยาวใหญ่-อ่าวปอเข้าสู่จุด Finish ผ่าน จ.พังงา และไปสิ้นสุดที่เกาะปอ จังหวัดภูเก็ต รวมระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร ภายใน 2 วัน กับภารกิจ ว่ายน้ำข้ามทะเล 3 จังหวัด ( กระบี่,พังงา,ภูเก็ต ) มาร่วมให้กำลังใจ และ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งนี้.


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.