• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมฝีมือคนไทย! “มทส.” เปิดตัว “เครื่องลดควันมลพิษ PM 2.5 ไอเสียรถยนต์” ต้นทุนต่ำไม่กระทบเครื่องยนต์

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 มกราคม 2567

ที่มา: https://mgronline.com/local/detail/9660000115988

รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว ผลงานวิจัยและนวัตกรรม “เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)” โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมชมสาธิตการทำงาน พร้อมผลักดันขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง หวังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทย โดย รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มทส. และคณะนักวิจัย

รศ.ดร.ชาญชัย เปิดเผยว่า เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)” ได้แนวคิดและพัฒนานวัตกรรมจากสภาพแวดล้อมทางอากาศในปัจจุบันเต็มไปด้วยมลพิษที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากมาย โดยหลักการทำงานของเครื่องคือ การสร้างสนามไฟฟ้าสถิตที่มีขั้วไฟฟ้าที่แตกต่างกันขึ้นมา ระหว่างควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์กับแผ่นเพลตโลหะ ทำให้ควันมลพิษ PM 2.5 ถูกดูดมาติดที่แผ่นเพลตโลหะทั้งนี้ จากการทดสอบค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยจากท่อไอเสียรถตู้ดีเซลขนาดเครื่องยนต์ 2,800 ซีซี อายุใช้งานประมาณ 5 ปี เมื่อติดเครื่องยนต์มีค่าอยู่ที่ประมาณ 2,200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อทำการเปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าลดลงมาเหลือประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากนั้นปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดิม และเมื่อดับเครื่องยนต์ ค่ากลับมาอยู่ที่ 0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงผลได้ว่าเครื่องพลาสมาไอออนช่วยลดค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี นักวิจัย มทส. นำโดย รศ.ดร.ชาญชัย ได้มุ่งไปที่ต้นเหตุสำคัญของฝุ่น PM 2.5 ในเมืองใหญ่ นั่นคือการใช้รถยนต์ การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านพลาสมาไอออน มาประยุกต์ใช้จนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถผลิตเป็นเครื่องต้นแบบพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและผู้สนใจ เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหามลพิษของเมืองต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.