• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 เมษายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามสภาพอากาศแนวโน้มปริมาณฝนจากสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กรมชลประทานกำหนด ได้แก่ จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด และวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำและทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,553 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 20,612 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงแล้งนี้ ทั้งประเทศไปแล้ว 24,786 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10 ล้านไร่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 เมษายน 2566

คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวน เห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 12 คำขอ โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนได้พิจารณาคำขออนุญาตโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่เห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 12 คำขอ เช่น การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองท่ามะพร้าวในชุมชนบ้านบางดุก หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต // การขอใช้พื้นที่ภายในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงลาน เพื่อทำโครงการปรับปรุงระบบเก็บกักอ่างเก็บน้ำห้วยอีอ่างในตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น จึงกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งพิจารณาและจัดทำหนังสือถึงหน่วยงานที่ขอใช้พื้นที่ให้ความเห็นเพิ่มเติมบางพื้นที่ พร้อมให้หน่วยงานที่ขอใช้พื้นที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัดและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการทบทวนและติดตามผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผลการดำเนินงานโครงการจัดที่ดินทำกินของรัฐบาล (คทช.) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 รวมทั้ง รับทราบการปรับลดเนื้อที่คำขออนุญาตโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ความเห็นชอบในหลักการ และเรื่องที่ต้องรอการยืนยันจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส่วนกลาง) กรณีพื้นที่ส่งมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ได้กันคืนกลับกรมป่าไม้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 เมษายน 2566

มูลนิธิคนสร้างป่า ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4010 สมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติ และจังหวัดสมุทรสาคร จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อน ในพื้นที่ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวให้กลับมามีสภาพพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถเป็นพื้นที่ฟอกปอดและส่งเสริมอาชีพให้แก่ชุมชน ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ทางรัฐบาลมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าชายเลน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้มีการกำหนดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลน จำนวน 2 ป่า คือ ป่าอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันออก อยู่ในท้องที่ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร และป่าอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันตก อยู่ในท้องที่ตำบลนาโคก ตำบลกาหลง ตำบลบางโทรัด ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางกระเจ้า และตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง สมุทรสาคร

ปัจจุบันป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 2 ป่า พื้นที่ส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นทะเล เนื่องจาก คลื่นลม และกระแสน้ำที่พัดเข้าหาฝั่งอย่างรุนแรงเป็นเวลานานๆ ทำให้พื้นที่ป่าชายเลน ถูกทำลาย มีสภาพป่าเหลืออยู่บ้างเพียงจำนวนน้อย มีลักษณะเป็นหย่อมๆ บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันตก สำหรับศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (สมุทรสาคร) เป็นศูนย์ที่ดูแลผืนป่าชายเลนของสมุทรสาคร เรียกกันว่า ป่าชายเลนอ่าวมหาชัย เป็นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณน้ำกร่อยของปากแม่น้ำท่าจีน มีอิทธิพลของกระแสน้ำทะเลที่นำเอาโคนเลนมาทับถมทำให้เกิดหาดเลนยาวตลอดแนวชายฝั่ง จึงเกิดสภาพเป็นป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นจุดที่นักดูนกนิยมมาดูนกชายเลน โดยมีเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 300 เมตร เพื่อชมป่าโกงกางและสัตว์ชายเลนประเภทต่างๆ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้หรือห้องเรียนทางธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

การจัดกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ที่คอยช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งผลิตป่าชายเลนคาร์บอนเครดิต อีกทั้งสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 เมษายน 2566

ค่าฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับตัวสูงขึ้นบางพื้นที่ แม้จะมีฝนตกลงมาช่วยลดการสะสมของจุดความร้อนและฝุ่นละออง ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมาก

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (25 เม.ย.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ปรับตัวสูงขึ้นบางพื้นที่ เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 6 พื้นที่ และสีแดง 1 พื้นที่ บริเวณต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย อยู่ที่ 94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้หลายพื้นที่จะมีฝนตกลงมาจากพายุฤดูร้อน โดยยังคงพบการเผาในเขตป่า , ผลกระทบจุดความร้อน (Hotspot) จากประเทศเพื่อนบ้าน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงให้เฝ้าระวังอาการผิดปกติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเฝ้าระวังถึงวันที่ 2 พฤษภาคม คาดการณ์จะมีแนวโน้มดีขึ้นหลังวันที่ 26 เมษายน เนื่องจากความเร็วลมที่ระดับชั้นบนมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้การระบายฝุ่นของพื้นที่ดีขึ้น ประกอบกับ ช่วงวันที่ 26 - 27 เมษายนอาจเกิดฝนตกได้บางพื้นที่ทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น PM 2.5 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 1 พื้นที่ ใน จ.อุบลราชธานี อยู่ที่ 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคุณภาพอากาศดีมากเกือบทุกพื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น มีฝนตกลงมา เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับ ลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 เมษายน 2566

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำชับให้เร่งสำรวจพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผาป่าลุกลามเข้าพื้นที่อนุรักษ์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า สาเหตุการเกิดไฟป่า ฝุ่นละออง (PM2.5) และหมอกควัน ปัจจัยหนึ่งมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า การเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ และการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ จึงได้ออกหนังสือคสั่งเรื่องสำรวจข้อมูลการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ และกรอกข้อมูลการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามแบบสำรวจข้อมูลการครอบครองที่ดินเดิมที่ทำการเลี้ยงปศุสัตว์ฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และรายงานให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้บริหารจัดการพื้นที่แก้ปัญหาไฟป่า ฝุ่นละออง (PM2.5) และหมอกควัน ทั้งนี้ ยังได้ให้หน่วยงานขอความร่วมมือผู้นำชุมชนและประชาชนที่ทำการเลี้ยงปศุสัตว์อยู่ภายในหรือติดต่อกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยชอบด้วยกฎหมาย // ที่อยู่ระหว่างการสำรวจการถือครองที่ดินตามกฎหมายเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ // กฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้ควบคุมและเพิ่มความระมัดระวังการเลี้ยงปศุสัตว์ให้อยู่แต่ในเขตพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้เผาป่าเพื่อเป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ หรือเผาเตรียมพื้นที่ปศุสัตว์ลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า หากพบมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนให้เป็นอันตรายต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ แนวทางปฏิบัติ และอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

สำหรับผู้ใดเลี้ยงสัตว์ นำ หรือ ปล่อยสัตว์เข้าไป ในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานและเจ้าหน้าที่ มีโทษปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณีตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 เมษายน 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้คุมเข้มการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ลักลอบเผาป่า เพื่อลดความเสียหายต่อผืนป่าและผลกระทบกับประชาชน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้เน้นให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเข้มงวดการลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดหากพบการลักลอบเผาป่า พร้อมให้ขยายถนนที่ใช้เป็นแนวกันไฟให้กว้างขึ้นจาก 8 เมตร เพิ่มเป็น 12 - 16 เมตร เนื่องจากถนนกว้าง 8 เมตรพบไฟยังสามารถลุกลามข้ามถนนไปได้และให้ใช้แนวถนนเดิมไม่ตัดถนนใหม่หรือถนนส่วนตัว ภาพรวมการแก้ปัญหานอกจากการหาทางป้องกันไฟป่าแล้วต้องแก้กฎหมายเรื่องการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มความสามารถของท้องถิ่นในการดับไฟป่าเนื่องจากทักษะการดับไฟป่าของเจ้าหน้าที่เฉพาะสามารถทำได้ แต่ส่วนท้องถิ่นยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งของทุกปีพบจังหวัดเชียงรายมีการเผาพื้นที่มากขึ้น

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า แม้จุดความร้อน (Hotspot) จะลดลงแล้วแต่ยังต้องเฝ้าระวังไปอีก 2 เดือน เพราะเป็นช่วงทำการเกษตรจึงกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯให้เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับอุทยานและกฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนของการเผาป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท และจำคุก 20 ปี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 เมษายน 2566

วันนี้ (22 เม.ย. 2566) นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ แจ้งว่า หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยใช้เครื่องบินเกษตร CASA จำนวน 4 ลำ และ CN จำนวน 1 ลำ จำนวน 6 ภารกิจ เมื่อเวลา 09.00 น. 10:15 น. 13.30 น. และ 14.00 น. บริเวณพื้นที่เป้าหมาย เป็นพื้นที่ป่าไม้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงใหม่

เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าว มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ ทำให้ต้องเร่งทำให้เกิดฝนตกลงมาเพื่อชะล้างฝุ่นควัน ลดปริมาณฝุ่นควันให้ลดลง พร้อมกับทำความชุ่มชื่นในพื้นที่ป่า เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าเกิดขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 เมษายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 45,564 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ รวมกัน จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงแล้งปีนี้ ทั้งประเทศไปแล้ว 23,780 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่มีการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปรังต่อเนื่อง (นาปรังรอบ 2) เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 ทุ่งที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ปัจจุบันในพื้นที่ทุ่งบางระกำได้เริ่มเพาะปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นมา ส่วนอีก 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อให้เกษตรกรเตรียมเพาะปลูกได้ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 66 ที่กรมชลประทานกำหนด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด


  1. สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 แจงกรณีสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวประเด็น “ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง” แนะประชาชนติดตามสถานการณ์ค่า PM2.5 อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวัง และป้องกันสุขภาพ
  2. คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ มีมติให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เพื่อลดความเดือดร้อนให้ประชาชน พร้อมเห็นชอบไม่ปรับปรุงนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
  3. นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5
  4. กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.