• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ก.ทรัพย์ฯ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ให้ ครม.รับทราบ เพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 ธันวาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา คาด มีผลบังคับใช้กลางปีหน้า เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในการคุมเข้มมลพิษจากแหล่งกำเนิด

รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ว่า วันพรุ่งนี้ (26 ธ.ค.66) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อส่งเรื่องต่อยังรัฐสภาพิจารณา หลังกฤษฎีกาได้ตรวจแก้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว เนื่องจากอยู่ในสมัยการประชุมที่จะปิดวาระช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2567 ทำให้มีเวลาพิจารณากฎหมาย 4 เดือน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณากฎหมายลำดับรอง 30 ฉบับไปพร้อมกัน คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ช่วงกลางปี 2567 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายเฉพาะที่นำมาแก้ปัญหามลพิษในประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและมีเอกภาพในการบริหารจัดการได้ดีทั้งระบบ โดยกระทรวงทรัพย์ฯจะมอบกฎหมายฉบับนี้เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอากาศสะอาดได้ทุกคนและทั่วถึง

ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กฎหมายอากาศสะอาดมีทั้งหมด 9 หมวด 104 มาตรา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือเฉพาะที่นำมาบังคับใช้แก้ปัญหามลพิษของประเทศ โดยเฉพาะลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งด้านคมนาคม ภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และหมอกควันข้ามแดนที่เน้นดำเนินการในแต่ละช่วงเวลา โดยช่วงเกิดมลพิษมีประมาณ 3 เดือน แล้วมีช่วงคุมเข้มก่อนเกิดมลพิษ 8 เดือน และช่วงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอีก 1 เดือน ดังนั้น ในช่วงเวลา 8 เดือนที่ต้องคุมเข้มตามมาตรการอย่างพื้นที่ภาคเกษตร พบมีแหล่งกำเนิดมลพิษประมาณร้อยละ 12 จากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด จึงต้องปรับเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมที่ปลูกพืชเชิงเดียวมาปลูกพืชยืนต้นแทน เช่น กาแฟ ไผ่ อโวคาโด มะม่วง สิ่งสำคัญกฎหมายฉบับนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบูรณาการ เนื่องจากเดิมผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งการได้เพียงประมาณ 30 หน่วยงาน แต่ที่เหลืออีก 130 หน่วยงานระดับสั่งการอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้การทำงานขาดเอกภาพ เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดจะสามารถประสานงานได้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรณีมีแนวโน้มจะเกิดภาวะมลพิษทางอากาศกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมประกาศเป็นเขตเฝ้าระวัง ส่วนเขตประสบมลพิษทางอากาศต้องเป็นพื้นที่มีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและกระทบประชาชนต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มมลพิษทางอากาศลดลง หรือเกิดปัญหาซ้ำซากต่อเนื่องหลายฤดูกาล พร้อมทั้ง จะนำเทคโนโลยี เช่น ดาวเทียม โดรน เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและตรวจสอบการกระทำผิด ควบคู่กับนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ เช่น ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง

ขณะที่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... กล่าวว่า ขณะนี้เป้าการลดมลพิษของประเทศดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 30 - 40 และจำนวนวันการเกิดมลพิษต้องลดลง คาดว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วจะช่วยลดมลพิษได้มากถึงร้อยละ 50 - 60


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.