• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 กันยายน 2566

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1086551

แน่นอนว่า “พลาสติก” เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” เพราะย่อยสลายยาก และก่อให้เกิดขยะสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use) ที่ใช้กันตามร้านค้า ร้านอาหาร

ด้วยความที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ หลายคนจึงคิดมองว่าน่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้มากเท่ากับพลาสติก แต่จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า แก้วกระดาษ และ หลอดกระดาษ มีสารประกอบ PFAS สังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “สารเคมีอมตะ” มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า สารเปอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (Perfluoroalkyl Substances) เคลือบอยู่บนพื้นผิว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไม่อ่อนตัวง่ายเมื่อเปียกน้ำ แม้ว่าสารดังกล่าวจะพบในปริมาณต่ำ แต่หากสะสมไปนานๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้

“สารเคมีอมตะ” คืออะไร ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?

“สารเคมีอมตะ” หรือ “PFAS” เป็นหนึ่งในสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น นิยมใช้อย่างแพร่หลายใน “บรรจุภัณฑ์อาหาร” เนื่องจากช่วยป้องกันความชื้นและดูดซึมไขมันได้ดี รวมทั้งพบได้ในของใช้ทั่วไป เช่น กระดาษห่ออาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

พบสารเคมีอมตะใน “หลอดดูดน้ำกระดาษ” มากถึง 90%

งานวิจัยจากวารสาร Food Additives and Contaminants ระบุว่า จากการทดสอบหลอดดูดน้ำกระดาษในยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าหลอดกระดาษ 18 แบรนด์จากทั้งหมด 20 แบรนด์ มี “สารเคมีอมตะ” ที่มีอายุการใช้งานยาวนานและอาจเป็นพิษ ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า ไปจนถึงสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากพวกมันสลายตัวได้ยากมาก

“แก้วกระดาษ” ที่อาจเป็นพิษต่อตัวอ่อนของแมลง

นอกจากนี้งานวิจัยที่เผยแพร่ใน Mirage News ยังพบว่า “แก้วกระดาษ” โดยเฉพาะแบบใช้ครั้งเดียวก็พบปัญหาเดียวกับหลอดดูดน้ำกระดาษ นั่นก็คือ มีสารเคมีอมตะเคลือบอยู่บนผิวผลิตภัณฑ์ ที่อาจส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศต่อเนื่อง พร้อมเร่งกักเก็บน้ำไหลเข้าเขื่อนจากฝนตกเพิ่มช่วงนี้ไว้สำรองใช้ปีหน้า

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ช่วง 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.พิษณุโลก ตราด มุกดาหาร ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และลพบุรี โดย กอนช. เร่งกักเก็บน้ำไหลเข้าเขื่อนจากฝนตกเพิ่มช่วงนี้ พร้อมส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรทดแทนการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากช่วงนี้มีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ส่งผลดีต่อการเติมน้ำต้นทุนให้แหล่งน้ำต่างๆ เพราะปัจจุบันภาพรวมฝนของประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติอยู่ร้อยละ 18 แล้วปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศลดลงจากต้นฤดูฝนผลกระทบของเอลนีโญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกของเกษตรกรจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศสะสม 1,201 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น คาดการณ์จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือบริเวณชายขอบและตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคกลางที่ยังคงมีฝนน้อยมาก คาดว่า จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในสัปดาห์หน้าเพิ่มอีก 3,205 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะต้องกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด

สำหรับแนวทางการส่งเสริมอาชีพทดแทนในพื้นที่ควบคุมไม่ให้เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยจะจัดทำเมนูอาชีพทางเลือกต่าง ๆ แผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการเพาะปลูก เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับหน้าแล้งที่จะมาถึงนี้ซึ่งจะยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญต่อเนื่อง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 กันยายน 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับเร่งแก้ปัญหากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความทับซ้อนกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและตำรวจ และปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์เป็นเรื่องแรก

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาถึงกระทรวงทรัพย์ฯ วันแรกอย่างไม่เป็นทางการเวลา 09.40 น. ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม จากนั้นได้ไหว้สักการะพระพุทธสยัมภูสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวันนี้เป็นฤกษ์มหาสิทธิโชค โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่ และพนักงานในสังกัดให้การต้อนรับ รวมถึง ส.ส. และ สมาชิกพรรค มารอแสดงความยินดีด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รู้สึกปกติไม่ตื่นเต้นอะไร ส่วนการเข้ารับตำแหน่งมีเรื่องที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการสอบสวนระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับตำรวจ เกี่ยวกับคดีด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากกฎหมายจะแล้วเสร็จในปี 2567 รวมถึง การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ การแก้ปัญหาภัยแล้ง และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แต่มีความกังวลเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น เนื่องจากที่ผ่านมายังมีความรุนแรงอยู่ ส่วนกรณีที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เคยกำกับดูกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ฝากกำชับเรื่องไหนเป็นพิเศษแต่ให้ดูแลด้วยตนเอง เพราะผ่านประสบการณ์การทำงานมามากแล้ว ต้องรู้และทำให้ได้ แต่โชคดีที่มีปลัดกระทรวงทรัพย์ฯที่เก่งอยู่แล้ว

สำหรับการวางแผนทำงานระยะสั้น ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯได้เตรียมไว้แล้ว ส่วนสิ่งที่ NGO เป็นกังวลจะนำเรื่องการสร้างเขื่อนมาพิจารณาใหม่หรือไม่เป็นไปตามความจำเป็นของงบประมาณและความเหมาะสม ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 11 กันยายนเสร็จแล้วตนเองจะเดินทางมาประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงทรัพย์ฯอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อกำหนดนโยบายแนวทางการทำงานให้ชัดเจน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าน้ำมันรั่วที่ศรีราชา จ.ชลบุรี ว่า ได้กำชับให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ภาพรวมกระทรวงแก้ปัญหาได้ดีและเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวงซึ่งต้องทำงานร่วมกัน

ด้าน นายจุตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้ติดตามปัญหาคราบน้ำมันรั่วในทะเลที่ใกล้เกาะสีชัง โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล เบื้องต้นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้บันทึกประจำวันที่ สภ.เกาะสีชัง ไว้แล้วรองรับหากเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต แล้วช่วงบ่ายผู้บริหารจะประชุมภายในเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้ง ผลกระทบจากเอลนีโญ และมาตรการช่วยเหลือประชาชนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 กันยายน 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำ ฝนที่ตกหนักในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาช่วยเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้เพิ่มขึ้น พร้อมกำชับให้เร่งกักเก็บน้ำฝนช่วงสัปดาห์หน้าให้มากที่สุด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำของประเทศว่า ขณะนี้ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศดีขึ้น หลังพื้นที่ชายขอบของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก โดยช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน พบมีปริมาณฝนตกมากและมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 711 มิลลิเมตร บริเวณ อ.เขาสมิง จ.ตราด ขณะนี้มีพื้นที่ประสบน้ำท่วมฉับพลัน 17 จังหวัด และสถานการณ์คลี่คลายกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว 16 จังหวัด เหลือเพียง จ.ร้อยเอ็ด กำลังเร่งให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ปริมาณฝนตกที่เพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ช่วยเติมน้ำต้นทุนให้แหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันภาพรวมฝนของประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติอยู่ร้อยละ 18 มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ 44,638 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจากต้นฤดูฝน 1,547 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นผลกระทบจากเอลนีโญ จึงจำเป็นต้องใช้น้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกของเกษตรกรจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยว โดยพบเป็นน้ำใช้การเพียง 20,527 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำใหญ่ทั้งประเทศสะสม 1,201 ล้านลูกบาศก์เมตร

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า ปัจจุบันยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้คาดการณ์จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายขอบและตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคกลางที่ปัจจุบันยังคงมีฝนน้อยมากด้วย พร้อมคาดการณ์จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำใหญ่ ในสัปดาห์หน้าเพิ่มอีก 3,205 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงต้องเร่งกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 กันยายน 2566

วันนี้ (5 ก.ย.66) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น ฮอลล์ 1 โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 และจัดทำแผนบูรณาการรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เขตสุขภาพที่ 2 โดย นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดในระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2566 เพื่อสร้างความร่วมมือของเครือข่ายในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบูรณาการจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกันจะเป็นพลังในการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายน 2566-เดือนเมษายน 2567 จะอยู่ในช่วงวิกฤตต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน มลพิษอากาศฝุ่นPM 2.5 เน้นแก้ปัญหาโดยการกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษที่มาจากการเผากำจัดวัชพืช เน้นการหยุดเผายังคงเป็นมาตรการที่สำคัญ เนื่องจากฝุ่นและควันส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนค่อนข้างมาก โดยกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ

ทั้งนี้ ยังเน้นย้ำการดูแลป้องกันตัวเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือPM2.5 ลดการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง งดหรือลดการก่อให้เกิดฝุ่นควัน เช่น การเผาขยะ เผาป่า หรือการเผากำจัดวัชพืช หากจำเป็นต้องออกจากบ้านควรสวมใส่หน้ากากอนามัย PM2.5 เพื่อป้องกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 กันยายน 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้สร้างความยั่งยืน

นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีสีเขียวว่า ปัจจุบันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายในวงกว้างต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือผ่านการกำหนดแนวทางและกลยุทธ์การสร้างความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรน้ำ ได้มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ถือเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำของประเทศที่ครอบคลุมอย่างรอบด้าน ทั้งการจัดการน้ำอุปโภค-บริโภค การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ควบคู่กับการสร้างความรู้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพผ่านแนวคิด 4R คือ Reduce - ลดการใช้น้ำ , Reuse - การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ , Recycle - การบำบัดน้ำเสียเพื่อคืนสู่สิ่งแวดล้อม และ Recharge – เป็นกระบวนการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อให้สามารถมีน้ำนำกลับมาใช้ได้ในยามขาดแคลน ซึ่งแนวทางการทำงานทั้งหมดนี้เป็นหัวใจสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมาสร้างความยั่งยืนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างสมดุล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้สอดรับกับเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 กันยายน 2566

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งปรับปรุงกฎหมายมาตรา 18 มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การบริหารจัดการอุทยานเป็นระบบมากขึ้น

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการประชุมสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและการดำเนินงานตามบทบัญญัติมาตรา 18 มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จัดโดย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่า หลังจากหารือทั่วประเทศทุกพื้นที่มีความตั้งใจนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมาตรา 18 ที่กำหนดให้ทุกอุทยานแห่งชาติต้องจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่มีรายละเอียดและแนวเขตการจัดการพื้นที่ ให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนมาตรา 64 การสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่ทำกินภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และมาตรา 65 กำหนดให้ชาวบ้านสามารถเก็บหาของป่าหรือหากินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ โดยอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการ ซึ่งกฎหมายเปรียบเสมือน เข็มทิศการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ให้มีความเข้าใจร่วมกัน การวางตัวและบทบาทของเจ้าหน้าที่ให้เข้าถึงประชาชนจะได้รับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจตรงกัน เพื่อนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดของประชาชน และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อข้อมูลทั้งหมดนำมาพัฒนาปรับปรุงเสริมการทำงานของอุทยานแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากต่อเนื่องในหลายพื้นที่จากฝนตกหนัก

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ตราด พังงา แพร่ บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 3 กันยายนนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต พร้อมเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำยัง บริเวณ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และแม่น้ำสงคราม บริเวณอ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ถึง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำ ได้เร่งกำจัดวัชพืชเเละสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณฝายน้ำล้นโนนกระโดน บ้านโนนกระโดน หมู่ที่ 4 ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเปิดทางน้ำทำให้ทางเดินของน้ำระบายได้สะดวกขึ้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.