• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

จ.ลำปาง เตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ขานรับนโยบาบรัฐบาล เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 ธันวาคม 2566

นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง ปี พ.ศ. 2566-2567 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และบูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี ภายใต้วิสัยทัศน์ "คนลำปางร่วมใจ สร้างฟ้าใส ไร้หมอกควัน" โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มวางมาตรการและเตรียมการป้องกัน เพื่อให้จังหวัดลำปางเกิดจุดความร้อน Hotspot น้อยที่สุด

จากผลการดำเนินงานในปี 2566 จังหวัดลำปาง มีจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 7,898 จุด อยู่ในลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับ 17 จังหวัดภาคเหนือ อำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อำเภองาว 1,122 จุด อำเภอเถิน 1,116 จุด อำเภอแจ้ห่ม 889 จุด พื้นที่ที่มีความร้อนสูงสุด ได้แก่ป่าสงวนแห่งชาติ 3,575 จุด ป่าอนุรักษ์ 3,448 จุด เขต สปก.391 จุด และอำเภอที่มีจุดความร้อนต่ำสุด คืออำเภอเกาะคา 237 จุด

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายเร่งแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เร่งแก้ปัญหาลดพื้นที่การเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตร ตั้งเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ให้ได้ร้อยละ 50 จากปี 2566 รวมถึงการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ควบคุมฝุ่นในเขตเมือง การตรวจจับควันดำ โดยเน้นย้ำการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการรับมือสถานการณ์ฯ เพื่อมุ่งเป้าให้ประเทศไทยมีอากาศสะอาด ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.