• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 มีนาคม 2566

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้บริเวณพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีลูกเห็บตกบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมถึงในช่วงวันที่ 20 – 22 มีนาคม 2566 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน จึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง มีลูกเห็บตกและอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามช่วยเหลือย่างใกล้ชิด กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่และสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ และ จ.พิษณุโลก ได้ปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บช่วงวันที่ 16-18 มีนาคม 2566 ช่วยเหลือบริเวณพื้นที่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ

ทั้งนี้ การปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ เป็นการทำฝนหลวงในขั้นตอนที่ 5 โดยใช้เครื่องบินติดเครื่องมือยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เข้าไปสลายกลุ่มเมฆที่มีการก่อตัวในระดับสูงและหนาแน่นเป็นผลึกน้ำแข็งหรือลูกเห็บ เพื่อทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ สำหรับภารกิจด้านการช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ รวมถึงความต้องการน้ำของพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอฝนหลวงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กรมฝนหลวงฯ ได้มีการติดตามและปฏิบัติภารกิจทุกวันอย่างไม่มีวันหยุดเช่นกัน ซึ่งผลปฏิบัติการฝนหลวงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ทำให้มีฝนตกช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบใน จ.ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กาญจนบุรี ลำพูน พะเยา เชียงใหม่ แพร่ น่าน และมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.น่าน พะเยา ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และ จ.ตราด กล่าวทิ้งท้าย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 มีนาคม 2566

นายพีรยุทธ์ เหมาะพิชัย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา มอบหมายให้ นายพิทักษ์ ยศแก้วอุด นายช่างชลประทานปฏิบัติงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำตามมาตรการควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงทางน้ำชลประทานประจำเดือนมีนาคม 2566 ณ บริเวณที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม จำนวน 6 จุด ได้แก่

หน้าโรงสูบน้ำ การประปาลำปาง

บริเวณหน้าโรงสูบน้ำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) จังหวัดลำปาง

บริเวณหน้าอ่างเก็บน้ำกิ่วลมฝั่งซ้ายและฝั่งขวา

บริเวณกลางอ่างเก็บน้ำกิ่วลม

บริเวณท้ายเขื่อนกิ่วลม 300 เมตร ในพื้นที่ตำบลบ้านแลง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

จากนั้นได้ตรวจสอบบริเวณจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จำนวน 3 จุด ได้แก่ บริเวณหน้าอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมาฝั่งขวา บริเวณกลาง อ่างกิ่วคอหมา บริเวณหน้าอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมาฝั่งซ้าย ในพื้นที่ตำบลปงดอน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ทั้งหมด 9 จุด พบว่าลักษณะของน้ำทั่วไปใส ไม่มีตะกอน ไม่มีกลิ่น คุณภาพน้ำปกติ และเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมชลประทานกำหนด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 มีนาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เตรียมรับช่วงน้ำหลากปี 66 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี หรือโครงการบางระกำโมเดล ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงน้ำหลาก โดยในปีนี้เป็นการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องสู่ปีที่ 7

ในปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน จัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ ปริมาณน้ำจัดสรร 310 ล้าน ลบ.ม. ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่กำหนดทำให้ไม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำหลากแต่อย่างใด สำหรับในปีนี้ กรมชลประทาน ได้เริ่มทยอยปล่อยน้ำเข้าระบบส่งน้ำแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค.66 ที่ผ่านมา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 มีนาคม 2566

วันที่ 16 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ที่ห้องประชุมอินทนิล สถาบันพัฒนาการป่าไม้ หรือโรงเรียนป่าไม้แพร่เดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมยกระดับการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง แก่เครือข่าย ทสม. 17 จังหวัดภาคเหนือ ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีประธานเครือข่าย ทสม.จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อให้เครือข่าย ทสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวทางและซักซ้อมความเข้าใจในการเสริมบทบาทของเครือข่าย ทสม. เข้าร่วมกับหน่วยงานสังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดต่างๆ และสร้างการรับรู้ให้กับชุมชนในการเฝ้าระวังป้องกัน ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ที่ต้นทาง และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากหนอนแมลงวันลายสู่ชุมชน และพิจารณาการส่งเสริมบทบาทเครือข่าย ทสม. และการบูรณาการขับเคลื่อนเครือข่าย ทสม. รวมถึงภาคี ในการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 17 จังหวัดภาคเหนือ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าปัญหาไฟป่าและหมอกควันนั้นมีมานาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญได้มีการฝึกอบรมการใช้โดรนเพื่อเข้ามาช่วยการแก้ไขปัญหาไฟป่า ซึ่งสามารถนำไปชี้จุดและวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดไฟป่าในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าดีกว่าเกิดแล้วเข้าไปดับไฟ ซึ่งสูญเสียในหลายๆ ด้านในการดูแลพื้นที่ป่าให้คงอยู่นั้นเป็นหน้าที่ของหลายฝ่ายเพื่อให้ป่าไม้คงอยู่คู่กับประเทศให้ลูกให้หลานได้ชื่นชม การจัดประชุมดังกล่าว นอกจากจะทำให้เครือข่าย ทสม. จาก 17 จังหวัดภาคเหนือไม่มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการยกระดับบทบาทของ ทสม. ที่สามารถเข้าไปบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 มีนาคม 2566

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงสถานการณ์วิกฤติในพื้นที่ 17 จังหวัด

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงสถานการณ์วิกฤติในพื้นที่ 17 จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วใน 3 พื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร แบ่งเป็น มาตรการเร่งด่วน พื้นที่ป่า ปิดป่าและห้ามเผาทุกพื้นที่ // พื้นที่เมือง จำกัดเวลา-พื้นที่ จำกัดจำนวนรถบรรทุกเข้าเมือง , เข้มงวดกฎหมายเน้นตรวจจับปรับควันดำ และลงโทษผู้ลักลอบเผา // พื้นที่การเกษตร งดรับซื้ออ้อยไฟไหม้ // ส่วนการปกป้องประชาชน ทำฝนหลวง , จัดห้องปลอดฝุ่น แจกอุปกรณ์ป้องกัน ยารักษาโรค และเร่งสื่อสารต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการระยะยาว ระหว่างปี 2567 - 2570 พื้นที่ป่า ลดความร้อนในพื้นที่ป่า (รายแห่ง) // พื้นที่เมือง นำรถเก่าออกจากระบบ , จำกัดปริมาณรถและโรงงาน , เพิ่มระบบติดตามตรวจสอบบ่งชี้แหล่งกำเนิด // พื้นที่การเกษตร เกษตรปลอดการเผา , เพิ่มการรับซื้อชีวมวล และลดการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ทำให้เกิด PM 2.5 ส่วนการปกป้องประชาชน สร้างความเข้มแข็งประชาชน , เร่งพัฒนานวัตกรรม , จัดห้องปลอดฝุ่นหน่วยตรวจสุขภาพคลินิกมลพิษ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากอิทธิพลลมตะวันออก พร้อมให้กรมเจ้าท่าขุดลอกแม่น้ำท่าจีนเพิ่มอัตราการไหลของน้ำและลดปัญหาอุทุกภัย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (14 มี.ค.66) ว่า ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้น ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรับมือหน้าแล้งและอุทกภัย เช่น กรมเจ้าท่า ขุดลอกแม่น้ำท่าจีน ต.หินมูล อ.บางเลน จ.นครปฐม รวมระยะทางทำการขุดลอกไปแล้ว 136 เมตร หรือร้อยละ 11.48 เป็นการขุดลอกเพื่อบำรุงรักษาร่องน้ำให้มีความลึกและกว้างมากขึ้น เนื่องจากสภาพร่องน้ำเดิมมีผักบุ้ง ผักตบชวา และวัชพืชอื่นๆเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่ง ทำให้ตะกอนสะสมอยู่ด้านใต้เป็นจำนวนมาก ช่วยเพิ่มอัตราการไหลของน้ำและลดปัญหาอุทุกภัย ซึ่งจะเกิดความเสียหายบ้านเรือนทรัพย์สิน ช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ และช่วยการระบายน้ำช่วงหน้าน้ำหลาก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 มีนาคม 2566

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมขยายการใช้ระบบ E-Ticket มาบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติให้ครอบคลุมทั้งประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พอใจการแก้ปัญหาการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติมีความคืบหน้า

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการหารือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้การบริหารงานเกิดความโปร่งใส ใช้งบประมาณอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพในกรมอุทยานฯ โดยเฉพาะเรื่อง E-Ticket ที่ถูกนำมาใช้นำร่องใน 6 อุทยานแห่งชาติก่อนหน้านี้มีแผนจะขยายใช้ให้ครบถ้วนทุกแห่งทั้งประเทศ ควบคู่กับพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ให้มีประสิทธิภาพ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อพิสูจน์ให้เห็นการนำระบบ E-ticket เข้ามาใช้จะสร้างความโปร่งใสให้การจับเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติมีประสิทธิภาพ จัดเก็บได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และแก้ปัญหาการขาดดุลเรื่องรายได้ของอุทยาน รวมทั้ง พยายามใช้แนวทางการสร้างการรับรู้และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังปกป้องผืนป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับการขาดดุลรายได้หลังจากปีนี้ที่ได้นำระบบ E-Ticket เข้ามาใช้จะสามารถจัดเก็บรายได้อย่างโปร่งใสมากขึ้น คาดว่า ปีนี้จะบริหารจัดการรายได้มาช่วยปิดยอดงบขาดดุลได้ พร้อมนำเงินรายได้ที่เหลือไปสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและซ่อมแซมอาคารในอุทยานแห่งชาติด้วย

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า งบประมาณที่ถูกตัดออกไปต้องการให้รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณเข้ามาใช้สนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานปกป้องและเพิ่มพื้นที่ป่าตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวยังจัดเก็บได้ไม่มากก่อนหน้าเกิดวิกฤติโควิด-19 จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าให้เป็นงบประมาณปกติที่ควรถูกให้ความสำคัญ

ด้าน นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่อง E-ticket เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในองค์กร พร้อมมีข้อเสนอแนะการประเมินยกระดับคะแนนการประเมินและการยกระดับคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) เพื่อประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของกรมอุทยานฯที่ควรต้องแบ่งการประเมินในหลายองค์ประกอบทั้งภายในและภายนอกป้องกันปัญหาการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนเรื่องความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณได้เสนอแนะให้กรมอุทยานฯใช้งบกองทุนที่เปิดให้ภาคเอกชนและมูลนิธิเข้ามาช่วยดูแลและป้องกันการทุจริต ส่วนอีกงบประมาณที่สามารถขอใช้ได้ คือ งบประมาณบูรณาการที่ ป.ป.ช. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ดูแลส่วนนี้อยู่ ภาพรวมการติดตามความคืบหน้าดีและน่าพอใจเป็นอย่างมาก โดยจะนำเรื่องที่หารือวันนี้ไปรายงานเลขาธิการและคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 มีนาคม 2566

ภาคเหนือ ต้องเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่อง หลังยังสูงในระดับสีแดงถึง 22 พื้นที่ สูงสุดบริเวณ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลค่าฝุ่นลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังพิเศษช่วงวันที่ 15 - 16 มีนาคม

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (12 มี.ค.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่ เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 10 พื้นที่ และสีแดง 22 พื้นที่ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก อยู่ที่ 92 - 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบฝุ่นสูงสุดบริเวณ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เพราะยังพบการเผาในที่โล่ง การเผาไร่อ้อย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนและการระบายอากาศไม่ดี จึงขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนบนและตอนล่างถึงวันที่ 16 - 19 มีนาคม โดยช่วงวันที่ 12 - 13 มีนาคม มีโอกาสพบเจอฝนตกบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบนและกรุงเทพมหานคร ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น PM 2.5 ยังปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่ เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 13 พื้นที่ และสีแดง 2 พื้นที่ บริเวณ จ.เลย และนครพนม อยู่ที่ 96 - 124 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นหลายพื้นที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพอากาศเปิด แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากจุดความร้อน (Hotspot) จำนวนมากมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้านฝั่งตะวันออกและในประเทศจากภาคตะวันตกที่เกิดไฟป่าอยู่ในหลายพื้นที่พัดพาฝุ่นละอองเข้ามาสะสม พบเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 6 พื้นที่ เช่น ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน // แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร // แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ อยู่ที่ 52 - 64 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมอาจมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ แต่ต้องเฝ้าระวังพิเศษช่วงวันที่ 15 - 16 มีนาคมจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปรด้วย สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.