• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

เฝ้าระวังสารกัมมันตรังสีตกค้างในอาหารทะเลที่นำเข้าจากญี่ปุ่น สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 พฤศจิกายน 2566

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มทำการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างจากการรื้อถอนโรงไฟฟ้าที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ซึ่งส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคของไทยอาจยังมีความวิตกกังวลต่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสารกัมมันตรังสีที่อาจตกค้างในอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าทั้งท่าอากาศยานและท่าเรือ รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นภายในประเทศอย่างเข้มงวด ภายใต้ภารกิจความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน

จากการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการสุ่มตัวอย่างสัตว์น้ำเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์สารกัมมันตรังสี (ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs137)) จำนวนทั้งสิ้น 135 ตัวอย่าง โดยสินค้าที่สุ่มตรวจเป็นสัตว์น้ำจำพวก ปลา กุ้ง หมึก หอย ปู และตัวอย่างอาหารแปรรูป โดยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าดังกล่าว ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด

รองอธิบดีกรมประมง เน้นย้ำว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นและเชื่อมั่นในการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดของกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากพบเห็นอาหารทะเลนำเข้าต้องสงสัยต่อการปนเปื้อน หรือต่อความปลอดภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมประมง ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต โทรศัพท์ 0-2579-1878 และ 0-2579-3614-5


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.