• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 8 – 11 กรกฎาคมนี้ ในพื้นที่ 12 จังหวัด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.อุทัยธานี เลย ฉะเชิงเทรา พัทลุง กาญจนบุรี และสระบุรี ทำให้ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 8–11 กรกฎาคม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด // ภาคใต้ บริเวณ จ.ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล พัทลุง

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในลุ่มน้ำชีมาจัดจราจรน้ำด้วยการระบายน้ำที่เขื่อนยโสธร - พนมไพร และระบายน้ำจากเขื่อนธาตุน้อย โดยเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อให้มีพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสมทบได้อีก ซึ่งช่วยลดผลกระทบหากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำชี ซึ่งบางส่วนจะถูกผันเข้าไปเก็บกักไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่อาจตกลงมา และเตรียมเครื่องสูบน้ำ 25 เครื่อง กระสอบทราย 10,000 กระสอบ กล่องลวดถักบรรจุหินใหญ่ (Gabion) เครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อเฝ้าระวังแนวพนังกั้นน้ำยังตลอด 24 ชั่วโมง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 กรกฎาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่เลขาธิการองค์การอุตุนิยม วิทยาโลก (WMO) ประกาศเตือนถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลให้ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ คาดจะกินระยะเวลายาวนานไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่มีการใช้น้ำในการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร นั้น กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เอลนีโญอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางแผนรับมือ ด้วยการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆไว้ให้ได้มากที่สุด การบริหารจัดการน้ำฝนผ่านระบบคลองชลประทานแทนการระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูก ให้ทยอยปลูกพืชเมื่อมีฝนตกในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย สำหรับพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกแล้ว จะดำเนินการส่งน้ำตามรอบเวรของแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ ยังได้พิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิงหรือบ่อบาดาล มาช่วยเสริมในกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอีกด้วย ที่สำคัญประชาสัมพันธ์ถึงปรากฎการณ์เอลนีโญให้ประชาชนและเกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) กำหนด หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 กรกฎาคม 2566

วันที่ 3 ของการจัดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIK 2023 ที่คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ร่วมกับ กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครื่อข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน จัดขึ้น เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการประจำปี 2566 ซึ่งวันนี้ มีการเสวนา "อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย CHAPTER 4" ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศในนาข้าว (INWEPF - Thailand) จัดขึ้น โดย นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองประธานคณะอนุกรรมการ INWEPF-Thailand กล่าวว่า ประเทศไทย มีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,400 มิลลิเมตร มีการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลาง 435 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่ฝนจะตกต่ำกว่าค่าปกติประมาณ ร้อยละ 5 ส่งผลกระทบกับการทำการเกษตรของเกษตรกร ซึ่งกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้เกษตรกรชะลอการทำนาก่อนจนกว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนที่มีการปลูกแล้วก็จะมีการเข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด

ด้านนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญกับการทำนาเปียกสลับแห้ง ด้วยปรากฏต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปรากฎเอลนีโญ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันขยายการทำนาเปียกสลับแห้ง ให้เกิดการทำอย่างเป็นรูปธรรม สามารถช่วยการประหยัดน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรมีจำกัด และเป็นแปลงที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว

ขณะที่นายบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ด้านข้าว จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลังจากได้เริ่มการทำนาเปียกสลับแห้ง แล้วได้ผลผลิตที่ดีมากถึง 900 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงได้มาก ไม่มีการใช้สารเคมี และยังมีรายได้เพิ่มมากขึ้นพร้อมแนะเกษตรกรลองเริ่มทำก่อนแล้วค่อยๆ ปรับก็จะเห็นผลดีเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ โดยเป็นผลงานจาก 25 หน่วยงานที่นำมาจัดแสดงและสาธิตการใช้เครื่องมือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น โดรนเพื่อการสำรวจภูมิประเทศ Bathymetry Survey อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมจากระยะไกล อุปกรณ์ LOT เป็นต้น พร้อมเชิญชวนองค์การเครือข่าย สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และเอกชน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้ถึงวันที่ 7 ก.ค.นี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 กรกฎาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำ ปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศปีนี้ลดลงอีกร้อยละ 10 หวั่นกระทบน้ำต้นทุนปีหน้า พร้อมประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลปี 2566 – 2567 เน้นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำว่า ภาพรวมประเทศไทยมีปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 2 กรกฎาคม พบฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 25 โดยปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งกักเก็บน้ำทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 29 ถือว่ามีการใช้น้ำลดลงไปถึงร้อยละ 10 โดยเฉพาะภาคกลางมีน้ำต้นทุนน้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 17 ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 40 ด้านภาคตะวันตกและภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 60 ซึ่งน่ากังวลสำหรับใช้เป็นน้ำต้นทุนปีหน้าแต่ได้เตรียมแผนรับมือรองรับแล้ว เพราะมีแนวโน้มฝนทิ้งช่วงและฝนตกน้อยลงจากผลกระทบปรากฎการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ สทนช. ได้ประสานขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลปี 2566 – 2567 ที่ใช้ระยะเวลาขุดเจาะสั้นๆเน้นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติมแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยปีนี้รวมแล้วกว่า 2,000 แห่ง แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 200 แห่ง // น้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ไม่เกิน 50 – 500 ไร่ 200 แห่ง // ซ่อมแซมและปรับปรุงบ่อบาดาลที่ใช้การไม่ได้ประมาณกว่า 1,000 แห่ง

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า จำเป็นต้องบริหารจัดสรรน้ำและส่งน้ำในแต่ละแหล่งน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อให้น้ำเพียงพอใช้และไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำมากที่สุดเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมถึง ต้องใช้น้ำมาผลักดันน้ำเค็มในภาคกลางเพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา ภาพรวม 4 เขื่อนหลักของประเทศมีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ร้อยละ 40 ถือว่าโชคดีที่มีฝนตกลงมาในจังหวัดน่านตามแนวที่คาดการณ์ช่วยให้เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำฝนไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (3 ก.ค.66) ว่า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องส่วนมากด้านรับมรสุม ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ด้านภาคใต้มีฝนลดลง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.กาญจนบุรี ลำปาง ร้อยเอ็ด สงขลา จันทบุรี และปทุมธานี ทำให้ต้องระวังท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 4 กรกฎาคม คือ ภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง บริเวณอำเภอเขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย , จันทบุรี บริเวณอำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว , ตราด บริเวณอำเภอบ่อไร่ และเมืองตราด // ภาคใต้ ในระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์ , ตรัง บริเวณอำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด , สตูล บริเวณอำเภอทุ่งหว้า และควนกาหลง , พัทลุง บริเวณอำเภอป่าบอน

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้กรมชลประทานติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และ ตรวจสอบ-ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัย พร้อมรถยนต์ตรวจการณ์ 1 คัน เข้าติดตามและประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำในลำน้ำขว้าง ลำน้ำปัว และพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดอุทกภัย เพื่อเป็นข้อมูลแจ้งเตือนภัยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที บริเวณสะพานลำน้ำขว้าง ต.วรนคร และสะพานลำน้ำปัว ต.ปัว อ.ปัว จ.น่าน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 กรกฎาคม 2566

กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1 - 2 วันนี้ในพื้นที่ 6 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1 - 2 วันนี้ในพื้นที่จังหวัดพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และสงขลา โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากบริเวณอำเภอเมือง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ สุขสำราญ จังหวัดระนอง // อำเภอกะปง คุระบุรี จังหวัดพังงา อำเภอเขาพนม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ // อำเภอเมือง นาโยง ย่านตาขาว ปะเหลียน ห้วยยอด จังหวัดตรัง // อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ละงู ควนโดน ควนกาหลง จังหวัดสตูล และอำเภอรัตภูมิ สะบ้าย้อย หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงได้มากกว่า 150 มิลลิเมตร และเริ่มมีน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่แล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่มได้

ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในภาคตะวันออกและภาคใต้รวม 7 จังหวัด ถึงวันที่ 4 กรกฎาคมนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 6 หลังพบลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเสี่ยงดินถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทันช่วงวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม คือ ภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง บริเวณอำเภอเขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย , จันทบุรี บริเวณอำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว , ตราด บริเวณอำเภอบ่อไร่ และเมืองตราด // ภาคใต้ ในระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์ , ตรัง บริเวณอำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด , สตูล บริเวณอำเภอทุ่งหว้า และควนกาหลง , พัทลุง บริเวณอำเภอป่าบอน

ทั้งนี้ กอนช. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 มิถุนายน 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) อบรมเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษและพนักงานเจ้าหน้าที่ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายให้มีความโปร่งใส

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดให้มีการฝึกอบรม "การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษและพนักงานเจ้าหน้าที่" ให้ความรู้เกี่ยวกับการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน การตรวจสอบตรวจจับยานพาหนะ และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ และกรณีตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ โดยมีเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษและพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษและควบคุมการระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษ วิธีการขั้นตอน รายละเอียดการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย การปฏิบัติงานมีความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษและพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ปฏิบัติการเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษและปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ โดย คพ. ได้แต่งตั้งให้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษตรวจสอบการระบายมลพิษและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมแต่งตั้งให้ข้าราชการและพนักงานราชการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจสอบ ตรวจจับ และห้ามใช้ยานพาหนะตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ทั่วราชอาณาจักร และเฉพาะในเขตท้องที่


  1. กอนช. เร่งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยปีนี้ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน เพื่อแจ้งเตือนภัยใน 6 ภูมิภาคของประเทศ
  2. สทนช. ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หลังจัดสรรน้ำไปแล้วเกือบ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากผลกระทบเอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
  3. คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนฯ เห็นชอบการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯของส่วนราชการและเอกชน 15 คำขอ และอนุญาตปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นฯ ของ อ.อ.ป. 13 คำขอ
  4. "สุรสีห์" กำชับให้กรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำหลากและผลกระทบเอลนีโญ โดยเฉพาะความคล่องตัวของการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำไว้ใช้แล้งหน้า
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.