• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สทนช. เร่งแผนรับน้ำหลากจากตอนบนของประเทศลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและจัดจราจรทางน้ำ พร้อมตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดผันน้ำออกฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยประชาชนยินยอมให้ดึงน้ำเข้าทุ่ง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 ตุลาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งแผนรับน้ำหลากจากตอนบนของประเทศลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและจัดจราจรทางน้ำ พร้อมตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดผันน้ำออกฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยประชาชนยินยอมให้ดึงน้ำเข้าทุ่ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปลายฤดูฝนทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับมีปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านเริ่มไหลลงมาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจนเกิดน้ำท่วมบางพื้นที่ โดย สทนช. , กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการและจัดการจราจรทางน้ำเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือชลประทานที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้แล้วค่อยๆปล่อยลงมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำผันเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้ทุ่งบางระกำสามารถตัดยอดน้ำเข้าไปกักเก็บไว้เต็มทุ่งได้แล้วประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่อาจจะเพิ่มปริมาณน้ำเข้าทุ่งบางระกำอีกประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร ส่วนบึงบอระเพ็ดกักเก็บน้ำไว้ได้แล้วประมาณ 83 ล้านลูกบาศก์เมตร กำลังหาช่องทางนำน้ำเข้าไปกักเก็บเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุดเต็มศักยภาพรวมกันได้ประมาณกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเป็นผลดีทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนรับมือเอลนีโญได้เพิ่มขึ้น

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า จากการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 10 ทุ่ง คือ ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก , ทุ่งเจ้าเจ็ด , ทุ่งพระยาบันลือ-พระพิมล , ทุ่งบางบาล-บ้านแพน , ทุ่งโพธิ์พระยา , ทุ่งเชียงราก , ทุ่งท่าวุ้ง , ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก , ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเรียบร้อยแล้ว และประชาชนให้สัญญาที่จะไม่ทำนาปีต่อเนื่อง และยินดีจะรับน้ำในระดับความสูงประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร แต่จะต้องไม่ให้ท่วมถนนที่สัญจรเข้า - ออกหมู่บ้าน โดยไม่เรียกร้องค่าชดเชยใดๆทั้งสิ้น คาดว่า จะสามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวแล้ว สำหรับการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งจะช่วยตัดยอดน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญ แล้วยังช่วยเติมสารอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี คุณภาพน้ำในพื้นที่นาดีขึ้น ช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูข้าว ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไปลดลง และยังสร้างอาชีพเสริมจากการทำประมงน้ำจืดด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.