• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากตอนบน อาจกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนช่วงวันที่ 15 - 19 ตุลาคมจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1- 3 วันนี้ บริเวณ ภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก // ภาคตะวันออก ใน จ.ตราด ภาคใต้ จ.พังงา ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้แล้วค่อยๆปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำโดยผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท - ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อที่จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งวันนี้ (14 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหลายพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยาอาจได้รับผลกระทบ

ด้าน กรมชลประทาน เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย โดยใช้เครื่องจักรกลประเภท เครื่องสูบน้ำขับด้วยระบบไฮดรอลิก ขนาดท่อ 42 นิ้ว 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำชลหารพิจิตร และตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในพื้นที่รับผิดชอบของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานชลประทานที่ 11 สามารถสูบน้ำได้ 277,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง พร้อมเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.